ฉีดวัคซีนโควิดดีไหม คนมีโรคประจำตัวแบบไหน ใครฉีดได้-ไม่ได้

           วัคซีนโควิดเป็นความหวังในการยับยั้งวิกฤตโควิด 19 แต่หลายคนยังกังวลว่าควรฉีดดีไหม ลองมาไขข้อสงสัยกันว่าใครควรฉีดหรือไม่ควรฉีดบ้าง

          วัคซีนโควิด 19 คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งถ้าเราฉีดวัคซีนได้อย่างน้อย 70% ขึ้นไปของประชากร ก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และหยุดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศได้ หรือหากติดเชื้อขึ้นมาก็จะช่วยลดความเสี่ยงอาการหนักและลดอัตราการเสียชีวิตไปได้เยอะ

          โดยในตอนนี้ก็เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโควิด 19 ที่รุนแรง ก็ได้ฉีดวัคซีนกันบ้างแล้ว ทว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนโควิดดีไหม ดังนั้นเรามาดูข้อมูลกันค่ะว่า ใครฉีดวัคซีนโควิดได้ หรือใครยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 บ้าง

ฉีดวัคซีนโควิดดีไหม

วัคซีนโควิด โรคไหนฉีดได้-ไม่ได้

ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่มีอาการคงที่ และไม่มีประวัติแพ้ยา สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ และควรฉีดเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา แต่หากวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีนแล้วได้ค่าเกิน 180 มิลลิเมตรปรอท ควรให้แพทย์พิจารณาความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนโควิดอีกที

เบาหวาน ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการโควิด 19 รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ควรฉีดวัคซีนโควิดโดยเร็วเช่นกัน แต่หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ขาดยา หรือเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องฉีดอินซูลิน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนด้วยนะคะ

โรคหัวใจ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แต่หากมีอาการต่อไปนี้ให้รอจนกว่าอาการจะคงที่ หรือให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาอีกที

          - มีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันและอาการยังไม่คงที่ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลัน ให้รอจนกว่าอาการดีขึ้นและคงที่ จึงจะฉีดวัคซีน โดยให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป

          - ความดันโลหิตสูง 160 มิลลิเมตรปรอท ควรควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนฉีดวัคซีน

          - รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) อยู่ ควรจะต้องมีระดับ INR น้อยกว่า 3 สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล, ทิคาเกรลอล, พราซูเกรล สามารถฉีดวัคซีนได้ ควรใช้เข็ม 23G หรือเล็กกว่า และไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน

ไขมันในเลือดสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ได้จัดเป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ดังนั้นหากไม่มีข้อพึงระวังอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้

เป็นภูมิแพ้ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ เว้นแต่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ที่อาจได้รับความเสี่ยงจากสารประกอบบางอย่างในวัคซีนโควิด เช่น Polyethylene glycol (PEG) หรือ Polysorbate นอกจากนี้ผู้ป่วยที่แพ้อาหารหรือแพ้ยารุนแรง ก็ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนเข้ารับวัคซีนโควิดด้วย

ผู้ป่วยมะเร็ง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

         ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ยกเว้นบางกรณีที่ควรรอก่อน หรือปรึกษาแพทย์ เช่น
  • หากมีการผ่าตัดให้เว้นระยะอย่างน้อย 3 วัน ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 
  • หากกำลังรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด ให้เว้นระยะการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 3 เดือน
  • หากได้รับยาเคมีบำบัด ควรพิจารณารับวัคซีน แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม
  • คนไข้มะเร็งระบบเลือดที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ควรฉีดหลังจากรักษาครบ 3 เดือนไปแล้ว และควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ทั้งโรคปอดอุดกั้น หรือแม้แต่โรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แต่แนะนำให้ฉีดหลังอาการกำเริบ 2-4 สัปดาห์

โรคอ้วน ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          โรคอ้วนก็จัดเป็น 1 ใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง และควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เป็นกลุ่มแรก ๆ โดยคนอ้วนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนจะต้องมีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ดังนั้นหากไม่มีข้อพึงระวังหรือข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิดอื่น ๆ ก็สามารถรับวัคซีนโควิดได้เลยค่ะ
 

ดัชนีมวลกาย หาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ?

โรคไต ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด ล้างไตในช่องท้อง หรือปลูกถ่ายไต สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แต่หากกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด

โรคไทรอยด์ ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

          สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไทรอยด์แบบใดก็ตาม ได้แก่ มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ คอพอก ไทรอยด์เป็นพิษ หรือมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ 

โรคระบบประสาท โรคลมชัก หลอดเลือดสมอง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          กลุ่มโรคระบบประสาท อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคภูมิคุ้มกันระบบประสาท สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ป่วยต้องมีอาการคงที่ ไม่อยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ในกรณีกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน จะต้องมีค่าความแข็งตัวของเลือด (INR) ที่น้อยกว่า 3 จึงสามารถฉีดได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          โรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อมตัว โรคเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่เกิดจากพันธุกรรมหรือการเสื่อม สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้

โรค SLE โรคแพ้ภูมิต่าง ๆ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          หน่วยโรคภูมิแพ้และโรคข้อรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด 19 และอาจเกิดอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการสงบแล้วสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ ยกเว้นผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน

          ในกรณีผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงหรือยังควบคุมอาการของโรคไม่ได้ และต้องกินยากดภูมิ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อประเมินสถานะของโรคกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการกินยากดภูมิอาจสร้างภูมิจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้น้อยลง แต่หากหยุดยากดภูมิชั่วคราวในช่วงการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่โรคยังไม่สงบ อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ 

          ด้านสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) แนะนำว่า ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หากจำเป็นต้องรับวัคซีนโควิดควรเลือกวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา แต่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ เช่น แอสตร้าเซนเนก้า, สปุตนิก วี, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จนกว่าจะมีข้อมูลทางวิชาการด้านความปลอดภัยมากกว่านี้

โรคตับ ตับอักเสบ มะเร็งตับ ฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

  • ผู้ป่วยโรคตับ ทั้งโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ตับอักเสบจากการแพ้ภูมิ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้วัคซีนควรปรึกษาแพทย์ก่อน
     

  • ผู้ป่วยที่เพิ่งปลูกถ่ายตับ ควรรออย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป หรืออย่างเร็วที่สุดคือ 1 เดือน หลังปลูกถ่ายตับ ค่อยฉีดวัคซีนโควิด (ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์) และไม่จำเป็นต้องหยุดยากดภูมิคุ้มกัน

โรคหืด ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          สามารถฉีดได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนไปฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหืดที่ยังควบคุมไม่ได้ คือ มีอาการกำเริบจนต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีดควรควบคุมอาการให้สงบก่อนฉีดวัคซีน

ติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ป่วย HIV ฉีดวัคซีนโควิดได้ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงอาการหนักหากติดเชื้อขึ้นมา ทั้งนี้ การตอบสนองต่อวัคซีนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับ CD4 และปัจจัยทางสุขภาพของผู้รับวัคซีน แต่หากเป็นผู้ป่วย HIV ที่มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุนแรงอยู่ควรรักษาจนอาการคงที่ก่อน

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับวัคซีน

ผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

  • ผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรฉีดวัคซีนโควิดก่อนเข้ารับการปลูกถ่าย อย่างน้อย 1 เดือน
  • ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเช่นกัน โดยสามารถรับประทานยาได้ตามปกติ ไม่ต้องหยุดยากดภูมิคุ้มกัน ทั้งก่อนหรือหลังฉีดวัคซีน ยกเว้นหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง ให้เว้นการฉีดวัคซีนไว้อย่างน้อย 1 เดือน และปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน

ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

          สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค แต่หากผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถตัดสินใจยินยอมรับการฉีดวัคซีนเองได้ ญาติหรือคู่สมรสที่รับผิดชอบทางกฎหมายอาจช่วยในการตัดสินใจแทนเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ผู้ป่วยโรคเลือดต่าง ๆ เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกง่าย ไขกระดูกฝ่อ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

  • โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้
  • โรคเลือดออกง่าย หรือรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก (25 หรือ 27) ที่กล้ามเนื้อต้นแขน หลังฉีดวัคซีนให้กดนานประมาณ 5 นาที ด้วยตนเอง จากนั้นอาจใช้น้ำแข็งหรือเจลประคบเย็นช่วยประคบหลังฉีดวัคซีนได้
  • ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำ หรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้โดยไม่คำนึงถึงระดับของเกล็ดเลือด หากไม่มีอาการเลือดออกผิดปกติ
  • มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง : ให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แล้วจึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด
  • ผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น ฮีโมฟีเลีย สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือดก่อนฉีดวัคซีน
  • โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) หรือไขกระดูกทำงานผิดปกติ (MDS หรือ MPN) สามารถฉีดวัคซีนได้
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมา (MM) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวลูคีเมีย สามารถฉีดวัคซีนได้
  • ผู้มีประวัติภาวะหลอดเลือดอุดตัน ทั้งหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง สามารถฉีดวัคซีนได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือ CAR T-cell therapy ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 หลังได้รับการรักษาอย่างน้อย 3 เดือนเป็นต้นไป

ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ในช่วงแรกที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาเรื่องความปลอดภัยที่เพียงพอ แต่ปัจจุบันมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์เป็นต้นไป หรือไตรมาสที่ 2 และ 3 สามารถฉีดได้หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานด่านหน้า หรืออยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง มีโรคประจำตัวเสี่ยง มีภาวะอ้วน เว้นแต่หากมีข้อพึงระวังอื่น ๆ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

          ส่วนหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ เพราะส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีนจะมีโอกาสผ่านมาในน้ำนมน้อยมากหรือแทบจะวัดไม่ได้ ดังนั้นการให้นมบุตรจึงไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด  

เตรียมจะมีบุตรฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ให้ข้อมูลว่า ฉีดได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจว่ากำลังตั้งครรภ์หรือเริ่มจะตั้งครรภ์ แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็ม 2 ออกไป ไปฉีดหลังการตั้งครรภ์ หรือฉีดวัคซีนนั้นต่อในไตรมาส 2 หรือ 3 ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด 19 โดยดูประโยชน์ที่ได้และความเสี่ยงของวัคซีนเป็นหลัก

เด็ก ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ขณะนี้ทั่วโลกยังทำการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอยู่ จึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม ทว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักมีอาการไม่รุนแรง ดังนั้นกลุ่มเด็กจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มหลัง ๆ ยกเว้นวัคซีนของไฟเซอร์ที่ อย. ของประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้แล้ว

ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จัดอยู่ในกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนโควิดเป็นกลุ่มแรก ๆ เพราะอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้สูงอายุสูงมาก ดังนั้นจึงมีการจัดให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนก่อน

เป็นหวัด มีไข้ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          คนที่เป็นหวัดหรือมีไข้ต่ำ ๆ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่หากมีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ยังไม่ควรฉีดวัคซีนนะคะ ควรรอให้ไข้ลดลงก่อน

แพ้ยา แพ้อาหาร ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          หากแพ้ยาบางชนิด หรือแพ้อาหารแบบไม่รุนแรง ที่ไม่ใช่การแพ้สารประกอบตัวเดียวกันกับที่มีในวัคซีนโควิด 19 ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยสามารถกินยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน 30 นาที - 1 ชั่วโมง ก่อนการรับวัคซีน COVID-19 ก็จะสามารถบรรเทาอาการแพ้เล็กน้อยไปได้

         แต่ในกรณีเคยมีประวัติแพ้ยา แพ้อาหารอย่างรุนแรง อาจจะต้องให้แพทย์พิจารณาอย่างละเอียดก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด

เคยแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          หากมีประวัติแพ้วัคซีนโรคอื่น ๆ อย่างรุนแรงมาก่อน อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน โดยแนะนำให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่เคยแพ้และฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ไม่มีส่วนประกอบนั้น

ฉีดวัคซีนอื่นพร้อมวัคซีนโควิดได้ไหม

          ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดพร้อมวัคซีนชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนชนิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าใช้ควบคู่ไปกับวัคซีนชนิดอื่นได้ไหม หรือหากมีอาการแพ้วัคซีนก็อาจจะเกิดความสับสนได้ว่าแพ้วัคซีนตัวไหนกันแน่ ดังนั้นจึงแนะนำให้เว้นระยะอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ หากจะฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่หากเกิดภาวะฉุกเฉินร้ายแรง เช่น หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วถูกสุนัขกัด กรณีนี้ให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามได้เลย เพราะโอกาสเสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าอาจสูงกว่าผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19

ควรกินยาแอสไพรินก่อนไปฉีดโควิดไหม

          มีประเด็นในโลกออนไลน์ที่แนะนำให้กินยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งแพทย์ได้ให้ความเห็นว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ายาแอสไพรินช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอันเนื่องมาจากวัคซีนโควิด 19 ได้จริง ดังนั้นจึงไม่ควรกินยาแอสไพรินก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด เพราะภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน Vaccine-Associated Thrombosis and Thrombocytopenia (VATT) ไม่ได้เกิดขึ้นโดด ๆ เพียงปัจจัยเดียว แต่พบว่าเกิดกับผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ดังนั้นการกินแอสไพรินในคนที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ อยู่แล้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนที่รุนแรงกว่าเดิมก็เป็นได้

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ และต้องกินยาแอสไพริน เพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถกินได้ตามแพทย์แนะนำ

เคยติดโควิดแต่หายแล้ว จะฉีดวัคซีนได้ไหม

          คนที่เป็นโควิด 19 มาแล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อครั้งต่อไป และยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ จึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ หลังหายจากอาการป่วย โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน และอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม
สรุป 7 โรคเสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด 19
ฉีดวัคซีนโควิดดีไหม

          เช็กลิสต์ 7 โรคที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเร็ว มีดังนี้

     1. โรคมะเร็ง

     2. โรคหัวใจและหลอดเลือด

     3. กลุ่มโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้น โรคหอบหืด

     4. โรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ขึ้นไป

     5. กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคภูมิคุ้มกันระบบประสาท

     6. โรคเบาหวาน

     7. โรคอ้วน

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยเหล่านี้ก่อนได้รับวัคซีนควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาตัวไหนอยู่หรือไม่ และไม่ควรหยุดยาเพื่อฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ

สรุปใครยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 บ้าง

          แม้วัคซีนจะเป็นตัวช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงของอาการ รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ทว่าวัคซีนโควิดอาจส่งผลข้างเคียงกับคนบางกลุ่มได้ และจนกว่าจะมีการศึกษาว่าวัคซีนโควิด 19 ปลอดภัยต่อทุกคนจริง ๆ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 นะคะ 

     1. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (ยกเว้นวัคซีนของไฟเซอร์)

     2. กลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว แต่อายุน้อยกว่า 18 ปี

     3. มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส (รอให้หายดีแล้วจึงค่อยฉีด)

     4. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์

     5. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 180 มิลลิเมตรปรอท (เมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อยฉีด)

     6. ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องฉีดอินซูลินเข้าเส้นเลือด (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)

     7. ผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน และมีระดับ INR มากกว่า 4 ขึ้นไป

     8. ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ที่อาจได้รับความเสี่ยงจากสารประกอบบางอย่างในวัคซีนโควิด เช่น Polyethylene glycol (PEG) หรือ Polysorbate

     9. ผู้ที่แพ้อาหารหรือแพ้ยารุนแรง (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)

     10. ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมาไม่เกิน 3 วัน หรือกำลังรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือดยังไม่ถึง 3 เดือน ก่อนฉีดวัคซีน

     11. ผู้ป่วยโรคประจำตัวรุนแรงที่อาการกำเริบและควบคุมอาการได้ไม่คงที่ เช่น โรคหัวใจ

     12. ผู้ป่วย HIV ที่มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุนแรงอยู่ควรรักษาจนอาการคงที่ก่อน

     13. ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจตอบสนองไม่ดีต่อวัคซีน จึงต้องชั่งประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์น่าจะมากกว่าก็สามารถให้วัคซีนได้ โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดเชื้อมีชีวิต

          อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการศึกษาข้อมูลวัคซีนโควิดมากขึ้น ก็อาจจะฉีดได้กับทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ ณ ขณะนี้ที่ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มข้างต้นก็จำเป็นต้องให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโควิดเป็นรายบุคคลไปก่อน

          แม้การฉีดวัคซีนไม่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก อย่างเมื่อป่วยโควิด 100 คน จะมีอัตราเสียชีวิตถึง 2.2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคนฉีดวัคซีนแล้วจะเกิดอาการรุนแรงค่อนข้างมาก เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนแล้วมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมีน้อยกว่า 10 คน ต่อการรับวัคซีน 1 ล้านเข็มเท่านั้น ดังนั้นอยากให้ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 กัน และสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในภาวะป่วยอื่น ๆ ลองปรึกษาแพทย์ที่ติดตามดูแลอาการอยู่ด้วยว่าเราสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหมนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค
เพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
เฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรมอนามัย
ชัวร์ก่อนแชร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
เพจ Drama-addict
เพจ ศูนย์ข้อมูลโควิด COVID-19
เพจ ไทยรู้สู้โควิด, (2) 
คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน โดย สสส.
สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
เฟซบุ๊ก หน่วยโรคภูมิแพ้และโรคข้อรามาธิบดี
กรมการแพทย์
เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan
เฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย  
สถาบันโรคทรวงอก  
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
สถาบันประสาทวิทยา
สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย
สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย 
สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนโควิดดีไหม คนมีโรคประจำตัวแบบไหน ใครฉีดได้-ไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2564 เวลา 14:19:32 61,558 อ่าน
TOP
x close