x close

ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด แพ้ยา แพ้อาหาร

          คนเป็นภูมิแพ้ หอบหืด แพ้อาหาร แพ้ยา หรือมีประวัติเคยแพ้วัคซีนชนิดอื่น ๆ มาก่อน จะไปฉีดวัคซีนโควิดได้ไหมนะ ทำความเข้าใจให้ชัดก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
          ทุกคนทราบดีว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นหนทางที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดในสังคม หรือหากพลาดพลั้งติดเชื้อขึ้นมาก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจจะฉีดวัคซีน แต่สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ หอบหืด รวมทั้งอาการแพ้ต่าง ๆ คงมีความกังวลอยู่บ้างว่า จะสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม แล้วจะมีโอกาสแพ้วัคซีนมากกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า ใครยังไม่แน่ใจ ตามมาหาคำตอบของเรื่องนี้กัน
วัคซีนโควิด

เป็นภูมิแพ้ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะแพ้อากาศ หรือแพ้รุนแรงต่อสารอื่นที่ไม่ใช่องค์ประกอบของวัคซีนโควิด สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้วัคซีน

          ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากวัคซีน เนื่องจากในวัคซีนอาจมีสารประกอบที่ใกล้เคียงกันกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น Polyethylene glycol (PEG) หรือ Polysorbate อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคภูมิแพ้ก่อนรับวัคซีน

หอบหืด ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          โรคหอบหืดก็ไม่ใช่ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนโควิดเช่นกันค่ะ สามารถฉีดวัคซีนได้ และไม่จำเป็นต้องหยุดยาสูดสเตียรอยด์และยาประจำตัวโรคหืดก่อนไปฉีดวัคซีน แต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ควรระวังคือ

          - ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาชีวโมเลกุล เช่น Omalizumab, Benralizumab, Dupilumab ควรฉีดวัคซีนโควิด ห่างจากการได้รับยาชีวโมเลกุล เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน

          - ผู้ป่วยโรคหืดที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ คือ มีอาการกำเริบจนต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีด ควรควบคุมอาการให้สงบก่อนฉีดวัคซีน

          ส่วนในผู้ป่วยเด็กจะไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้ทำการทดสอบในเด็ก และเด็กก็ไม่ได้เสี่ยงต่ออาการติดเชื้อรุนแรงเหมือนผู้สูงอายุ จึงควรป้องกันโรค COVID-19 ด้วยการใช้ยาป้องกันหืดสม่ำเสมอ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ

แพ้อาหาร ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม
วัคซีนโควิด

          แม้จะมีประวัติแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล นม ไข่ ถั่วลิสง แป้งสาลี หรืออาหารอื่น ๆ ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ผลิตจากอาหารทะเล หรือไข่ จึงปลอดภัยต่อคนที่มีประวัติแพ้อาหาร

          แต่ถ้าเป็นคนที่มีอาการแพ้อาหารในขั้นรุนแรงถึงขั้นหายใจติดขัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ถ้าแพทย์พิจารณาว่าสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ให้สังเกตอาการเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิดใน 30 นาที

แพ้ยา ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

           ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเพนิซิลลิน ยาซัลฟา หรือยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น รวมทั้งยาชนิดอื่น ๆ หรือมีประวัติแพ้สารทึบรังสี ถ้าเป็นการแพ้ที่มีผื่นอย่างเดียวที่ไม่รุนแรง โดยไม่มีอาการของระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย และไม่เข้าเกณฑ์แพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ตามปกติ โดยอาจกินยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่มีอาการง่วงนอน เช่น เซทิริซีน (Cetirizine), ลอราทาดีน (Loratadine), เดสลอราทาดีน (Desloratadine), เลโวซิทีริซีน (Levocetirizine) หรือไบแลกซ์เทน (Bilaxten) ก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที

          กรณีแพ้ยาอย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน ถ้าแพทย์พิจารณาว่าสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ให้สังเกตอาการเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิดใน 30 นาที

เคยแพ้วัคซีนชนิดอื่น ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          คนที่เคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคชนิดใดชนิดหนึ่งแบบรุนแรงมาก่อน หากไม่ใช่ส่วนประกอบของวัคซีนโควิดสามารถฉีดได้ แต่เพื่อความแน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด เพื่อรับการประเมินและดูแลอย่างเหมาะสมในการฉีดวัคซีน โดยแนะนำให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่เคยแพ้และฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ไม่มีส่วนประกอบนั้น

          ทั้งนี้ การแพ้วัคซีนแบบรุนแรง (Anaphylaxis) หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือภายใน 2 ชั่วโมง หลังฉีดวัคซีน (ส่วนใหญ่เกิดภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน) ได้แก่ ผื่นลมพิษทั่วตัว หรือมีการบวมของปาก/เปลือกตา ร่วมกับหายใจเสียงหวีด ความดันโลหิตต่ำ ถ่ายเหลว อาเจียน เป็นต้น

ถ้าแพ้วัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว จะฉีดเข็ม 2 ได้หรือไม่
วัคซีนโควิด

          สำหรับคนฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีผื่นเล็กน้อย สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิมได้

          แต่ถ้าคนที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น มีผื่นลมพิษทั่วตัว คัน ปากบวม ลิ้นบวม เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด ความดันลดลง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อหาสาเหตุว่าอาการแพ้ชนิดรุนแรงเป็นจากอะไร และเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นอีกยี่ห้อที่มีส่วนผสมที่ต่างจากวัคซีนเข็มแรก
 

          ทั้งนี้ สาเหตุที่แพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในวัคซีน ที่พบบ่อย เช่น

          - Polyehtylene glycol (PEG) ซึ่งวัคซีน/ยาที่มีส่วนประกอบนี้ ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA vaccine (เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา), ยาฉีด Methylprednisolone, ยาคุมชนิดฉีด (Depo-Provera) และยาระบาย MiraLAX หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อกลุ่มนี้ อาจให้วัคซีนกลุ่มอื่น เช่น ซิโนแวค ที่ไม่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่

          - Polysorbate มีรูปร่างคล้าย PEG ทำให้อาจพบการแพ้ร่วมกันได้ (Cross-reactivity) ซึ่งวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ Polysorbate ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดบวม รวมทั้งวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า, สปุตนิก วี, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน


          สรุปก็คือ ไม่ว่าจะเคยแพ้อะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนโควิด 19 ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ตามปกติ รวมทั้งผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด ก็ควรรับวัคซีนโควิด 19 เพราะไม่ได้มีความเสี่ยงต่ออาการแพ้มากกว่าคนทั่วไปแต่ประการใด

         อย่างไรก็ตาม หากเรามีประวัติแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้วัคซีนชนิดอื่น ถึงขั้นมีอาการรุนแรงมาก ๆ กรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุดค่ะ เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมก่อนฉีดวัคซีนโควิด

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด แพ้ยา แพ้อาหาร อัปเดตล่าสุด 3 มิถุนายน 2564 เวลา 12:35:39 22,818 อ่าน
TOP