หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เรียบร้อยแล้ว เราควรนั่งรอดูอาการผิดปกติอย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากการแพ้รุนแรงเกือบทุกกรณี มักเกิดขึ้นภายใน 15-30 นาที ซึ่งถ้าเกิดอาการขึ้นมา แพทย์จะฉีดยาแก้แพ้และให้รักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการฉีดยา ดังนั้น เมื่อกลับถึงบ้านก็ควรสังเกตอาการของตัวเอง ทว่า...อาการหลังฉีดวัคซีนแบบไหนกันนะที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สามารถหายเองได้ แล้วอาการไหนเป็นสัญญาณของการแพ้วัคซีน COVID-19 ที่ควรรีบพบแพทย์ มาเช็กให้ชัวร์แพ้วัคซีน VS อาการไม่พึงประสงค์
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19, วัคซีนโรคอื่น ๆ, ยา หรือสารเคมีใด ๆ ที่ใช้กับร่างกาย ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก ดังนั้นสามารถเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ 2 แบบ คือ อาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้ ซึ่งทั้ง 2 อาการมีความแตกต่างกัน ที่พบได้บ่อยคืออาการไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน
นอกจากนี้ การแพ้วัคซีนอาจไม่ได้แพ้ตัวไวรัส แต่อาจแพ้องค์ประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ในตัววัคซีนก็เป็นได้ เพราะในวัคซีนมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ใส่เข้ามา
1. อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่
- ปวด บวม แดง คัน เจ็บ รู้สึกร้อนบริเวณที่ฉีด สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้
2. อาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เช่น
- มีไข้ต่ำ ๆ ถือเป็นอาการปกติที่แสดงว่าร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีน
- อ่อนเพลีย เหนื่อย
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- อาการหลังฉีดวัคซีน Astrazeneca : ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นหนุ่มสาวอยู่ในวัยทำงาน หรือมีอายุน้อยกว่า 30 ปี จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัวเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้สูงวัย เนื่องจากมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนมาก และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- อาการหลังฉีดวัคซีน Sinovac : ผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคจะมีอาการข้างเคียง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และอาการข้างเคียงเฉพาะที่น้อยกว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
หากมีอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ เนื่องจากเป็นอาการข้างเคียงทั่วไปที่ไม่มีอันตราย
คำแนะนำ
1. หากมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีผื่นเล็กน้อย ปวด มีไข้ หลังฉีดวัคซีน ครึ่งชั่วโมง - 2 ชั่วโมง อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลง
2. กรณีเป็นไข้ หรือปวดเมื่อยร่างกายจนทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด และกินซ้ำได้ถ้าจำเป็น โดยเว้นระยะเวลาห่าง 6 ชั่วโมง และควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป บรรเทาอาการไข้ คลื่นไส้
3. ห้ามใช้ยาลดไข้ แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ แก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เช่น บรูเฟน (Brufen), บูเฟล็กซ์ (Buflex), นูโรเฟน (Nurofen), ไอบูแมน (Ibuman)
- อาร์คอกเซีย (Arcoxia) เช่น อิโทริคอกซิบ (Etoricoxib)
- ซีลีเบรกซ์ (Celebrex) เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib)
ทั้งนี้ การกินยาในกลุ่ม Brufen, Arcoxia, Celebrex ไม่ได้มีผลหรือเกี่ยวข้องต่อการรับวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ซื้อยาในกลุ่มดังกล่าวกินเอง เนื่องจากการมีไข้หลังรับวัคซีนบางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากวัคซีน แต่อาจเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น
4. สำหรับคนที่มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ
5. หลังฉีดวัคซีนไปแล้วให้ดูอาการต่อเนื่องอีก 48-72 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเมื่อผ่านไป 3 วัน โอกาสแพ้และผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนจะพบน้อยลงมาก แต่แพทย์ยังได้แนะนำให้สังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วัน
6. สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ง่ายมาก่อน ควรติดตามสังเกตอาการมากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้มาก่อน
ต้องรีบหาหมอ
สำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือแพ้วัคซีนโควิด 19 จริง ๆ แล้วพบได้ค่อนข้างน้อยมาก ประมาณ 1 ในแสนโดส และมักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีแรกหลังฉีดวัคซีน แต่บางคนอาจเกิดอาการขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วสักพักหนึ่ง โดยอาจมีอาการแสดงแตกต่างกันไป แต่เกิดขึ้นได้หลายอาการ เช่น
- มีไข้สูง
- ใจสั่น
- หนาวสั่น
- หอบเหนื่อย
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- มีจุดเลือดออกจำนวนมาก
- มีผื่นขึ้น คล้ายลมพิษ หรือเป็นตุ่มน้ำพอง
- มีอาการบวม เช่น หน้าบวม คอบวม ปากบวม
- อาเจียนไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง หรือท้องเสีย
- ความดันโลหิตลดลง
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขน-ขาชา
- ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- เกล็ดเลือดต่ำ
- ชัก
ถ้าใครมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) ดังที่กล่าวมาหลังฉีดวัคซีน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 เพื่อรักษาในโรงพยาบาลด้วยการให้ยาฉีดที่เป็นอะดรีนาลิน หรือ อิพิเนฟริน และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 เนื่องจากอาจต้องเปลี่ยนชนิดของวัคซีน
อาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งตัวที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่เป็นอาการชั่วคราว ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย หรือกลัววัคซีน แต่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-3 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไป ลองตรวจสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงทั่วไปได้เลยฉบับอัปเดต 7 วัคซีนโควิดในไทย มีอะไรบ้าง ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน
ในต่างประเทศพบเคสผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ทั้งคู่ มีอาการลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ หรือจริง ๆ ก็คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือเรียกว่าภาวะ VITT (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia) ซึ่งจะแตกต่างกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วไป คือ เกิดจากการตอบสนองภูมิต้านทานของร่างกาย บางครั้งถ้ารุนแรงเกินไปก็จะไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา แต่ถ้าเรารีบให้การวินิจฉัยรักษา ภาวะดังกล่าวรักษาได้
ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของภาวะ VITT อยู่ที่ 1:125,000 ถึง 1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีนเท่านั้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 55 ปี ส่วนมากเป็นเพศหญิง มักแสดงอาการหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน
อย่างไรก็ตาม คนเอเชียมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนยุโรป ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบคนไทยที่ฉีดวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษดังกล่าวเลย และแม้จะมีอัตราการเกิดภาวะ VITT ที่ต่ำมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดควรเช็กอาการต่อไปนี้
- ปวดศีรษะรุนแรง
- แขน-ขาชา อ่อนแรง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- ชัก
- ตามัว เห็นภาพซ้อน
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก
- ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง
- ขาบวมแดง หรือซีด เย็น
ถ้ามีอาการเหล่านี้ปรากฏในช่วง 4-30 วัน หลังฉีดวัคซีน แนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้
สำหรับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา จะมีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบต่ำมากคือ ไม่ถึง 1 ในล้าน แต่ในเด็กอายุ 12-17 ปี จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย ที่บางคนอาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นภายใน 30 วัน หลังฉีดวัคซีน และส่วนใหญ่พบหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
แม้อัตราที่พบภาวะดังกล่าวจะน้อย แต่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ก็แนะนำให้เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่แข็งแรงดี ควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพียง 1 เข็ม และชะลอการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2564) ส่วนเด็กผู้หญิงสามารถฉีดได้ 2 เข็ม
นอกจากนี้ สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก หรืองดการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ภายหลังฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเข็มที่ 1 หรือเข็มที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชาย เพื่อไม่ให้หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และหากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบพบแพทย์
อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน
บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 ตุลาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กกรมอนามัย (1), (2)
siriraj channel
RAMA Channel
โรงพยาบาลนครธน
โรงพยาบาลกรุงเทพ
เฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ
กรมควบคุมโรค
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย