x close

วัคซีนโควิด 19 ก่อนฉีดต้องรู้อะไรบ้าง พร้อมเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

          วัคซีนโควิดแต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร ฉีดดีไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่ยังไม่ควรฉีด รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ทุกคนควรรู้มาบอกตรงนี้

           วัคซีนโควิด 19 เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในประเทศไทย แต่เนื่องจากยังเป็นวัคซีนใหม่ที่ผลิตขึ้นมาใช้ภายในเวลาอันรวดเร็ว หลายคนจึงอาจสงสัยในประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดหลายยี่ห้อที่นำมาใช้ว่าได้ผลมาก-น้อยแค่ไหน มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ ฉีดแล้วสามารถป้องกันโรคได้เลยไหม แล้วใครควรฉีด หรือไม่ควรฉีดบ้าง

          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 มาตอบคำถามกัน พร้อมข้อแนะนำก่อน-หลังฉีดวัคซีน เพื่อให้ทุกคนได้ศึกษาล่วงหน้าก่อนได้รับวัคซีนค่ะ

วัคซีน COVID-19

เปรียบเทียบวัคซีนโควิด 19  มีกี่ยี่ห้อ ราคาเท่าไร
วัคซีน COVID-19

ภาพจาก oasisamuel / Shutterstock

           องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วัคซีนที่สามารถใช้ได้ ต้องมีประสิทธิภาพเกินเกณฑ์ขั้นต่ำ 50% และต้องไม่มีอาการไม่พึงประสงค์สูง ซึ่งจากข้อมูลในเดือนเมษายน 2564 มีประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย จีน อินเดีย ฯลฯ ทำการวิจัยและทดลองวัคซีนเป็นจำนวนมากกว่า 100 ตัว โดยวัคซีนตัวเด่น ๆ ที่เริ่มใช้ในหลายประเทศแล้ว อาทิ

1. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)

  • ชื่อวัคซีน : BNT162b2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA 
  • ผู้พัฒนา : บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนี 
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน
  • ราคาวัคซีนโควิด Pfizer : 19.5 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 590 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 95% 
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 16 ปีขึ้นไป (ยกเว้นที่สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในเด็กอายุ 12-15 ปีได้แล้ว)
  • การเก็บรักษา : ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า -70ºC ทำให้ยากต่อการขนส่ง ขณะที่หากเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Pfizer : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ นอร์เวย์ เซอร์เบีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล 

2. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)

  • ชื่อวัคซีน : mRNA-1273 เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนของไฟเซอร์
  • ผู้พัฒนา : บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 28 วัน
  • ราคาวัคซีน Moderna : 25-37 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 757-1,120 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดโรคในประชากรทั่วไป 94.1% และในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 86.4%, ลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ 100%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษา : เก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า -20ºC  ซึ่งเป็นอุณหภูมิในช่องแข็งตู้เย็นปกติ แต่ก็สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC ได้ 30 วัน
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Moderna : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา กาตาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์

3. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

  • ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้
  • ผู้พัฒนา : มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 4-12 สัปดาห์ (แต่มีการศึกษาพบว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ขึ้นไป องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์)
  • ราคาวัคซีน AstraZeneca : 2.16-5.25 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 66-160 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพ : โดยรวม 70.4%, ป้องกันอาการรุนแรง 100%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป  
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน AstraZeneca : เช่น สหราชอาณาจักร บราซิล ไทย เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้

4. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)

  • ชื่อวัคซีน : Corona Vac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย
  • ผู้พัฒนา : บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 2-4 สัปดาห์ 
  • ราคาวัคซีน Sinovac : เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ผลิตได้ยาก จึงมีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 200 หยวน/โดส (29.75 USD) หรือประมาณ 940 บาท โดยประเทศไทยสั่งซื้อวัคซีนล็อตแรกจากจีน จำนวน 192,000 โดส คิดเป็นเงินประมาณ 98 ล้านบาท เท่ากับราคาวัคซีนโดสละ 513 บาท โดยประมาณ  
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 65.3-91.25% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ), ป้องกันอาการรุนแรง 100%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18-59 ปี
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC ได้นาน 3 ปี 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac : เช่น จีน ตุรกี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บราซิล ชิลี

5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)

  • ชื่อวัคซีน : BBIBP-CorV เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย
  • ผู้พัฒนา : บริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) สัญชาติจีน
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน
  • ราคาวัคซีนซิโนฟาร์ม : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมาเป็นวัคซีนทางเลือก โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองวัคซีนได้ในราคาเข็มละ 777 บาท
  • ประสิทธิภาพ : โดยรวม 79-86% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ)
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Sinopharm : เช่น จีน กัมพูชา ลาว โมร็อกโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เซเนกัล

6. วัคซีนโควิด CanSino Biologics

  • ชื่อวัคซีน : Ad5-nCoV เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์
  • ผู้พัฒนา : Beijing Institute of Biotechnology ร่วมกับบริษัท CanSino Biologics ประเทศจีน
  • ต้องฉีดกี่โดส : 1 เข็ม
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการ 65.7%
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน CanSino : เช่น จีน ปากีสถาน เม็กซิโก

7. วัคซีนโควิด Gamaleya (Sputnik V)

  • ชื่อวัคซีน : Gam-COVID-Vac หรือที่รู้จักในชื่อ สปุตนิก 5 (Sputnik V) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์
  • ผู้พัฒนา : สถาบันวิจัยและพัฒนากามาเลยา ประเทศรัสเซีย
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 14-21 วัน 
  • ราคาวัคซีน Gamaleya : 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 300 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพ : โดยรวม 91.6%, ป้องกันอาการรุนแรง 100%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC  
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน สปุตนิก 5 : เช่น รัสเซีย เบลารุส อาร์เจนตินา ซีเรีย อุซเบกิสถาน ฮังการี

8. วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

  • ชื่อวัคซีน : Ad26.COV2.S หรือ JNJ-78436735 เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์
  • ผู้พัฒนา : บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ของสหรัฐอเมริกา
  • ต้องฉีดกี่โดส : 1 เข็ม
  • ราคาวัคซีน Johnson & Johnson : 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 300 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพการป้องกัน : ยังไม่ระบุ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ ในระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ถึง 66-72% และป้องกันอาการป่วยหนักได้ถึง 85%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Johnson & Johnson : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บาห์เรน

9. วัคซีนโควิด Bharat Biotech

  • ชื่อวัคซีน : Covaxin (BBV152) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย
  • ผู้พัฒนา : Indian Council of Medical Research ร่วมกับภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ประเทศอินเดีย
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 28 วัน 
  • ประสิทธิภาพ : 81%
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC 
  • ประเทศที่ใช้วัคซีน Bharat Biotech : เช่น อินเดีย อิหร่าน ซิมบับเว  

10. วัคซีนโควิด Novavax

  • ชื่อวัคซีน : NVX-CoV2373 เป็นวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ
  • ผู้พัฒนา : บริษัท Novavax ประเทศสหรัฐอเมริกา     
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน
  • ราคาวัคซีน : 16-25 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 485-757 บาท/โดส)
  • ประสิทธิภาพ : โดยรวม 96.4%, ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100%
  • การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC 
  • ประเทศที่สั่งจองวัคซีน Novavax และรอการอนุมัติ : สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย
ประเทศไทยใช้ยี่ห้อไหน
ข้อดี-ข้อเสียเป็นอย่างไร

          จากข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยแล้ว 6 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โมเดอร์น่า ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ ขณะที่ยังมีอีกหลายบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีน เช่น สปุตนิก ไฟว์, ภารัต ไบโอเทค 

          ทั้งนี้ ปัจจุบัน วัคซีนที่รัฐจัดหาให้และฉีดฟรีจะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยมีความแตกต่างกัน ดังนี้

วัคซีน COVID-19

1. วัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน

          เป็นวัคซีนที่นำอนุภาคเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated vaccine) มาฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อ SARS-CoV-2 จึงค่อนข้างมีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะใช้เทคโนโลยีเดิมที่เคยผลิตวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีราคาสูงตามไปด้วย ตกอยู่ที่โดสละ 200 หยวน หรือประมาณ 940 บาท

          เพื่อป้องกันโควิด 19 จะต้องฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ระยะห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการตั้งแต่น้อยมาก (ไม่ต้องพบแพทย์) 50.4%, ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 65.3-91.2% (แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ที่ทดสอบ) และป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 100%

          การที่ประเทศไทยเลือกวัคซีน Sinovac เป็นเพราะมีรายงานการทดลองทางคลินิกที่ชี้ว่าประสิทธิภาพโดยรวม (การทดลองฉีด ผลข้างเคียง การติดตามอาการไม่พึงประสงค์) ประสบความสำเร็จมากกว่า 90% อีกทั้งสามารถเก็บได้นานถึง 3 ปี ในอุณหภูมิ 2-8ºC ซึ่งเป็นอุณหภูมิของตู้เย็นทั่ว ๆ ไป ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อดีการขนส่งและแจกจ่ายให้กับประชาชนไทยทั่วประเทศมากกว่าวัคซีนอื่น ๆ

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเดือนเมษายน 2564 ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีน Sinovac ในผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนในผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ยังมีจำนวนน้อย จึงไม่รู้ว่าประสิทธิผลและความปลอดภัยในกลุ่มนี้เป็นอย่างไร แต่หากในอนาคตมีข้อมูลการฉีดในผู้สูงอายุมากเพียงพอ ก็จะขยับการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุต่อไปได้

2. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศอังกฤษ

          เป็นวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ของประเทศอังกฤษ-สวีเดน ผลิตจากเชื้อไวรัสชิมแปนซีอะดีโน มาดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ แต่สามารถทำให้สร้างโปรตีนเหมือนของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อ SARS-CoV-2

          วัคซีนป้องกันโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 4-12 สัปดาห์ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผลลัพธ์ดีที่สุดจะอยู่ที่ 8-12 สัปดาห์ ราคาต่อโดสประมาณ 66-160 บาท ซึ่งถูกกว่า Sinovac เพราะเป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ชนิดไม่แบ่งตัวหลังฉีดเป็นพาหะ ซึ่งผลิตได้ง่ายกว่า แต่อาจมีผลข้างเคียง (ที่ไม่รุนแรง) มากกว่า Sinovac

          อย่างไรก็ตาม วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีข้อได้เปรียบกว่าซิโนแวคตรงที่สามารถฉีดได้ในคนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และสามารถฉีดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปได้ โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบได้ 54.1%, ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 70.4% (62.1-90.0%) และป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 100%

          สาเหตุที่ประเทศไทยเลือกใช้วัคซีนจาก AstraZeneca เนื่องจากมีการทำสัญญาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของ AstraZeneca ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca เพื่อผลิตวัคซีน

วัคซีนโควิดที่ไทยใช้ ปลอดภัยหรือไม่ ?

          ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ทั้งนั้น รวมทั้งวัคซีนป้องกันโควิด 19 ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีรายงานผลข้างเคียงอยู่บ้าง

          สำหรับวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทยแล้ว คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ อีกทั้งผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงสามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นถือว่ามีความปลอดภัยมาก โดยเฉพาะวัคซีนชนิดเชื้อตายอย่างซิโนแวค ใช้การผลิตเหมือนกับวัคซีนหลายชนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า ตับอักเสบเอ โปลิโอ จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้          

          ทั้งนี้ จากข้อมูลการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศต่าง ๆ พบอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป เช่น อาการปวด บวม คัน แดง บริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อย ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว หรือมีไข้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน และอาการข้างเคียงจากการฉีดส่วนใหญ่จะเกิดใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรกที่เจอมากคือปวดบริเวณที่ฉีด 

          ส่วนปฏิกิริยารุนแรงมีพบได้ แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ฉีดวัคซีน คือ

          - วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบผู้ฉีดวัคซีนชาวตะวันตกบางรายมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมโยงกับวัคซีน อย่างไรก็ตาม สำนักงานการแพทย์แห่งสหภาพยุโรป (อีเอ็มเอ) ระบุว่า การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน เพราะความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโควิด มีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนอยู่มาก

อาการหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca แบบไหนต้องเฝ้าระวังใน 4-30 วัน

          - วัคซีนซิโนแวค ในประเทศไทยพบบุคลากรทางการแพทย์บางรายมีอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรงหลังฉีดวัคซีนประมาณ 5-30 นาที คือ มีอาการอ่อนแรง ชาครึ่งซีก คล้ายกับโรคทางสมองหรืออัมพฤกษ์ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงอาการทางระบบประสาทที่เกิดชั่วคราว หายได้เอง แม้บางรายมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ แต่เมื่อสืบสวนโรคและทำ MRI สแกนสมองก็ปกติดี และทุกคนก็มีอาการฟื้นตัวดีขึ้น จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร

          ทั้งนี้ จากข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทั่วโลก พบว่า ในการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 4 คน ขณะที่ผู้ติดโควิด 100 คน จะเสียชีวิต 2.2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก

วัคซีนโควิด มีชนิดไหนบ้าง
           วัคซีนป้องกันโควิด 19 ในปัจจุบัน หลัก ๆ จะมีอยู่ 4 ชนิดตามกระบวนการผลิต คือ

1. วัคซีนชนิด mRNA (mRNA Vaccines)

          คือการใช้สารพันธุกรรม RNA ของไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ส่วนที่สร้างโปรตีนหนามแหลมแล้วห่อหุ้มด้วยไขมัน ฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เซลล์ของเราสร้างหนามแหลมโปรตีนมากระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานต่อ COVID-19 

ข้อดี

  • มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูง
  • เป็นวัคซีนที่สามารถผลิตได้ง่ายในโรงงาน และผลิตได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว
  • สามารถปรับปรุงวัคซีนเพื่อรองรับสายพันธุ์ หากมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย

ข้อจำกัด

  • mRNA สลายตัวได้ง่าย จึงต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก คือ -70ºC ถึง -20ºC จึงขนส่งได้ยาก
  • เป็นเทคโนโลยีใหม่ เพราะในอดีตยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการนี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในมนุษย์มาก่อน จึงต้องติดตามดูผลในระยะยาวหลายปี

ตัวอย่างวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA : เช่น วัคซีนของไฟเซอร์-ไอโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ของสหรัฐอเมริกา
 

2. วัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ (Viral Vector Vaccines)

          คือการใช้พันธุกรรมส่วนหนามแหลมของไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ฝากไว้ในไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ ใช้เป็นพาหะฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาตอบสนอง

ข้อดี

  • เป็นวัคซีนที่สามารถผลิตได้ง่ายในโรงงาน และผลิตได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว ราคาจึงไม่แพง
  • มีความคงทนจึงเก็บรักษาได้ง่ายในอุณหภูมิ 2-8ºC

ข้อจำกัด

  • เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต จึงต้องติดตามดูผลในระยะยาว
  • เนื่องจากไวรัสพาหะเป็นเชื้อมีชีวิต แม้ว่าจะอ่อนฤทธิ์ หรือไม่แบ่งตัวแล้ว แต่อาจก่อโรคได้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก
  • หากเคยติดเชื้อของไวรัสตัวที่นำพามาก่อนจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง

ตัวอย่างวัคซีนโควิด 19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ : เช่น วัคซีนของออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีนสปุตนิก-ไฟว์, วัคซีนแคนชิโน ไบโอโลจิกส์
 

3. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccines)

           เป็นวัคซีนที่ใช้กระบวนการผลิตเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่เคยผลิตมาอย่างแพร่หลาย เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ ฯลฯ โดยนำไวรัส COVID-19 มาเพาะเลี้ยงแล้วทำให้อ่อนแรง จากนั้นใช้สารเคมีฆ่าเชื้อให้ตาย แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิคุ้มกัน

ข้อดี

  • ใช้ในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำได้ เพราะเป็นเชื้อที่ไม่ก่อโรค
  • มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการผลิตดั้งเดิมเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว

ข้อจำกัด

  • การผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้ผลิตได้จำนวนน้อย เพราะต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง ต้นทุนการผลิตจึงสูง ส่งผลให้วัคซีนชนิดนี้มีราคาแพงกว่าชนิดอื่น ๆ

ตัวอย่างวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย : เช่น วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม ของจีน
 

4. วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccines)

          เป็นเทคโนโลยีที่มีความคุ้นเคยมานาน เช่น การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบบี โดยการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 นี้ จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) มาผ่านกระบวนการแล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส

ข้อดี 

  • มีความปลอดภัยสูง เพราะมีประสบการณ์การใช้มามากมายในวัคซีนชนิดอื่น ๆ
  • สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย รวดเร็ว
  • ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้

ข้อจำกัด

  • กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี จึงทําให้ต้องใช้สารเสริมให้กระตุ้นภูมิต้านทาน (adjuvant) ซึ่งทําให้มีปฏิกิริยาเฉพาะที่ในตําแหน่งที่ฉีดได้
  • การใช้สารเสริมให้กระตุ้นภูมิต้านทาน (adjuvant) ที่ดีที่จะทำให้ภูมิต้านทานสูง จะอยู่ในลิขสิทธิ์ของบริษัทยายักษ์ใหญ่

ตัวอย่างวัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ : เช่น วัคซีนโนวาแวคของสหรัฐอเมริกา, วัคซีนจากบริษัท Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical ประเทศจีน

ข้อสงสัยเรื่องการฉีดวัคซีน
ได้ผลแค่ไหน ใครฉีดได้-ไม่ได้

วัคซีน COVID-19

ฉีดแล้วป้องกันได้เลยไหม ยังติดเชื้อได้อีกหรือเปล่า

          วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานสูงสุดในร่างกาย หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาเฉลี่ย 14-28 วัน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะไม่มีโอกาสป่วยโควิด 19 เลย เพราะวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100% แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถรับเชื้อและแพร่เชื้อได้ แต่ถ้าป่วยโควิด 19 หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วย ป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยหนัก และลดอัตราการเสียชีวิตได้

          ดังนั้น ถึงจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องระวังการติดเชื้อ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างเหมือนเดิม เพื่อความปลอดภัยที่สุด

ต้องตรวจวัดภูมิต้านทานก่อนฉีด หรือหลังฉีดวัคซีนหรือไม่

          ไม่จำเป็นต้องตรวจระดับภูมิต้านทานก่อนฉีดวัคซีน เพราะโดยหลักการประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคนี้ค่อนข้างต่ำ ยกเว้นจะเป็นการตรวจเพื่อทำการศึกษาวิจัย

ฉีดพร้อม ๆ กับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ไหม

           ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนประเภทอื่น ๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 ยังเป็นวัคซีนใหม่ หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนอะไร จึงควรฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีป้องกันโรครุนแรงถึงชีวิต สามารถฉีดได้เลย เช่น ถูกสุนัขกัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันบาดทะยัก

เคยติดโควิดมาแล้ว จะฉีดวัคซีนด้วยได้ไหม

           คนที่เป็นโควิด 19 มาแล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อครั้งต่อไป และยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ จึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ หลังหายจากอาการป่วย โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อนก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดก็ต่อเมื่อพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง

เพิ่งตรวจพบเชื้อโควิด 19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ฉีดได้ไหม

           ไม่สามารถฉีดได้ ควรรักษาให้หายก่อน แล้วจึงมารับวัคซีนโควิด 19 หลังจากการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน
วัคซีน COVID-19

ภาพจาก Brickinfo Media / Shutterstock

เด็กสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

           ขณะนี้ทั่วโลกยังทำการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอยู่ จึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม ทว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักมีอาการไม่รุนแรง ดังนั้นกลุ่มเด็กจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มหลัง ๆ ยกเว้นวัคซีนของไฟเซอร์ที่ อย. ของประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้แล้ว

ผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนโควิดไหม

           ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีน เพราะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตมากกว่าช่วงวัยอื่น ทั้งนี้ แม้ว่าลูกหลานในบ้านจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ผู้สูงอายุก็ยังควรฉีดวัคซีนด้วย เพราะลูกหลานที่ฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุในบ้านได้

คนท้อง หรือแม่ให้นมบุตร ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

          ในช่วงแรกที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาเรื่องความปลอดภัยที่เพียงพอ แต่ปัจจุบันมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์เป็นต้นไป หรือไตรมาสที่ 2 และ 3 สามารถฉีดได้หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานด่านหน้า หรืออยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง มีโรคประจำตัวเสี่ยง มีภาวะอ้วน เว้นแต่หากมีข้อพึงระวังอื่น ๆ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

          ส่วนหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ เพราะส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีนจะมีโอกาสผ่านมาในน้ำนมน้อยมากหรือแทบจะวัดไม่ได้ ดังนั้นการให้นมบุตรจึงไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด  
          สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคภูมิแพ้ โรค SLE แพ้ยา แพ้อาหาร ฯลฯ หากสงสัยว่าตัวเองสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ ลองอ่านรายละเอียดได้ที่กระทู้นี้ค่ะ
การเตรียมตัวและขั้นตอนฉีดวัคซีน
วัคซีน COVID-19

การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด ต้องทำอย่างไรบ้าง

          การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนทั่วไปมากนัก โดยมีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติตาม ดังนี้

ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องเตรียมตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิดมีอะไรบ้าง

อาการหลังฉีดวัคซีนโควิดเป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงมาก-น้อยแค่ไหน

          อาการหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเลย บางคนไม่มีอาการใด ๆ แต่ในบางคนอาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่เหมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย ส่วนคนที่มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรงนั้นมีจำนวนไม่มากนัก แต่ถึงอย่างนั้น หลังฉีดวัคซีนเสร็จเราจะต้องรอสังเกตอาการในสถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาทีค่ะ เพราะวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากเกิดผลข้างเคียงรุนแรงเฉียบพลัน จะมีเจ้าหน้าที่แพทย์ให้การช่วยเหลือได้ทัน

          สำหรับการวัคซีน Sinovac มีข้อมูลว่า ประมาณ 35% พบอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง โดยเกิดอาการหลังจากฉีดเข็มแรกมากกว่าเข็มที่ 2 ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca จะพบอาการข้างเคียงสูงกว่า Sinovac คือประมาณ 88% แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการทั่วไปที่ไม่รุนแรง และเกิดอาการหลังจากฉีดเข็มแรกมากกว่าเข็มที่ 2 เหมือนกับวัคซีน Sinovac

คําแนะนําหลังฉีดวัคซีนโควิด ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

ฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วบริจาคเลือดได้ไหม

          สภากาชาดไทย ระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด สามารถบริจาคโลหิตได้หลังฉีดวัคซีน ดังนี้

  • กรณีฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้เว้นระยะไว้ 1 สัปดาห์หลังฉีด  จึงค่อยบริจาคโลหิต
  • กรณีฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้เว้นระยะไว้ 4 สัปดาห์หลังฉีด  จึงค่อยบริจาคโลหิต

  • กรณีฉีดวัคซีนโควิดแล้วมีอาการข้างเคียงหลังฉีด เช่น เจ็บบวมแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีไข้ ขอให้หายดีก่อนแล้วเว้นอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ) จึงสามารถบริจาคโลหิตได้

ถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิดจะเป็นอย่างไร

           อาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนที่อ่อนแอ
          ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมีผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้น แนะนำให้ติดตามข่าวสารและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่เสมอนะคะ

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่  22 กรกฎาคม 2564

*เปรียบเทียบราคาวัคซีนโควิด 19

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan (1), (2), (3), (4), (5), (6)  
เฟซบุ๊ก The Thai Red Cross Society (1), (2)
เฟซบุ๊ก ไขปัญหากับอายุรแพทย์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว
เฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth
เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เฟซบุ๊ก ไทยรู้สู้โควิด
กรมควบคุมโรค 
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen
RAMA CHANNEL
เฟซบุ๊ก รามาแชนแนล Rama Channel
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลพระราม 9 
โรงพยาบาลนนทเวช
TNN
เดลินิวส์
กรุงเทพธุรกิจ 
Aljazeera
BBC 
sky 
Bharatbiotech
สภากาชาดไทย
เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 
กรมอนามัย
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนโควิด 19 ก่อนฉีดต้องรู้อะไรบ้าง พร้อมเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละยี่ห้อ อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2564 เวลา 16:28:57 188,996 อ่าน
TOP