กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?

          ฉีดวัคซีนโควิด กินยาคุมได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ สาว ๆ รีบมาศึกษาวิธีใช้ยาคุมกำเนิดให้ปลอดภัย
          การกินยาคุมกำเนิด เป็นอีกหนึ่งในวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่ผู้หญิงนิยมใช้กันมาก เพราะมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงทีเดียว ทว่าเรื่องหนึ่งที่ทำให้สาว ๆ ค่อนข้างกังวลก็คือ เคยได้ยินมาว่าการใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และยิ่งช่วงนี้หลายคนต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วย เลยไม่แน่ใจว่าจะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดหรือไม่ แบบนี้ต้องหยุดกินยาคุมก่อนหรือเปล่านะ

          วันนี้กระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำของแพทย์มาสรุปให้เข้าใจกันค่ะ ซึ่งเราจะต้องทำความรู้จักกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันเสียก่อน
ลิ่มเลือดอุดตัน คืออะไร แบบไหนเป็นปัจจัยเสี่ยง
ยาคุมกำเนิด

          เมื่อมีบาดแผลและเลือดไหล ร่างกายจะมีกระบวนการซ่อมแซมเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ การที่ร่างกายจะสร้างโปรตีนขึ้นมายับยั้งการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะช่วยให้ลิ่มเลือดอยู่เฉพาะบริเวณแผลเท่านั้น ไม่กระจายไปยังส่วนอื่น แต่หากโปรตีนทำงานผิดปกติ ลิ่มเลือดอาจกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง ปอด หัวใจ ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณต่าง ๆ ขึ้นมาได้

          ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันก็มีหลายสาเหตุ เช่น

          - ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนช้า
          - ป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
          - การใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
          - อายุที่มากขึ้น เนื่องจากผนังหลอดเลือดมีโอกาสเสื่อมได้มากกว่าคนอายุน้อย
          - โรคอ้วน และมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดคราบพลัค เมื่อผนังฉีกขาด คอเลสเตอรอลจะรั่วออกมากระตุ้นให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือด
          - การสูบบุหรี่เป็นประจำ
          - หญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอดบุตร
          ฯลฯ

ใช้ยาคุมกำเนิดเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน จริงหรือ ?

          ต้องบอกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกันค่ะ เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปส่งเสริมการสร้างโปรตีนที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดให้มากเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นก้อนเลือดหรือลิ่มได้มากขึ้น ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis : DVT) โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่ขาแล้วกระจายไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันที่หลอดเลือดดำในปอด

          ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดจะมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวม และชนิดฮอร์โมนเดี่ยว โดยการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า เพราะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งอย่างที่ทราบไปแล้วว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยเพิ่มการแข็งตัวของเลือด อันอาจนำไปสู่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้

          ขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่พบหลักฐานว่า ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการแข็งตัวของเลือด

ลิ่มเลือดอุดตันจากยาคุม เกิดได้มาก-น้อยแค่ไหน
ยาคุมกำเนิด

          แม้การใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ แต่ก็อยู่ในอัตราส่วนไม่มากค่ะ โดยในผู้หญิงชาวตะวันตกจะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการใช้ยาคุม ประมาณ 6-15 คน ใน 10,000 คน ขณะที่ในกลุ่มผู้หญิงไทย อายุไม่เกิน 50 ปี จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ราว ๆ 1 ใน 10,000 คน แต่หากกินยาคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2-4 ใน 10,000 

          จะเห็นว่าหญิงชาวเอเชียมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันยากกว่าหญิงชาวตะวันตก เนื่องจากร่างกายของคนตะวันตกจะมีกลไกของสารแข็งตัวในเลือดมากกว่า ดังนั้น การใช้ยาคุมกำเนิดในคนไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น

          ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดยังมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าการกินยาคุม ถึง 5-6 เท่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับยาคุมกำเนิด แต่เพิ่มความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้อีกอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย การนั่งเครื่องบินนาน ๆ ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ ฯลฯ อย่างที่กล่าวไปแล้ว

ใครต้องระวัง เมื่อจะใช้ยาคุมกำเนิด

          อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงบางกลุ่มหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนจะดีกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้วจากภาวะโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ยิ่งถ้าใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงร่วมด้วย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่กลุ่มคนต่อไปนี้

          1. มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
          2. สูบบุหรี่จัด
          3. ผู้หญิงที่มีอายุมาก คือ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงอายุน้อย เนื่องจากอาจเกิดโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดได้ง่าย และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากสูบบุหรี่จัด 
          4. มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ชนิดที่มีออร่า
          5. มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
          6. คนที่นั่งนาน ๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีเส้นเลือดขอดที่ขา
          7. คนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด
          8. มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ หรือเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
          9. มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะหลอดเลือดอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตัน หรือโรคมะเร็ง
          10. คนที่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

กินยาคุม ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม
จะเป็นลิ่มเลือดอุดตันหรือเปล่า
ยาคุมกำเนิด

          คำถามที่สาว ๆ หลายคนสงสัยก็คือ คนที่ใช้ยาคุมกำเนิดอยู่จะสามารถฉีดวัคซีนโควิด ได้หรือเปล่า เพราะกลัวจะยิ่งไปเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือด

          สำหรับประเด็นนี้ ผศ. พญ.อรวิน วัลลิภากร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า การฉีดวัคซีนโควิดในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมจะเพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น เมื่อไม่มีข้อมูลชัดเจน ต้องชั่งน้ำหนักผลได้-ผลเสียจากการฉีดวัคซีนกับการติดโควิด ซึ่งจะพบว่า

          - ผู้ป่วยโควิดมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 2% หรือ 2 ใน 100 คน
          - ขณะที่โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีประมาณ 4 ใน 1,000,000 คน
          - ส่วนโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการกินยาคุมในคนไทยมีประมาณ 1-3 ใน 10,000 คน

          จึงควรใช้ตัวเลขนี้ประกอบการพิจารณาผลได้-ผลเสียในการฉีดวัคซีน

          ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้ข้อมูลว่า ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้อยู่แล้ว ประมาณ 4 ใน 10,000 โดยอาจไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเลย เพราะยาคุมกำเนิดทำให้เลือดแข็งตัวมากขึ้น แต่การฉีดวัคซีนโควิดอาจมีอัตราการเกิดลิ่มเลือดประมาณ 1 ในล้าน แต่วัคซีนจะเป็นปัจจัยเสริมได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบได้ เพราะโอกาสเกิดลิ่มเลือดจากการใช้ยาคุมมีมากกว่าการฉีดวัคซีนโควิด จึงต้องดูว่าสาเหตุหลักของการเกิดลิ่มเลือดมาจากยาคุมกำเนิดหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม กลไกของการเกิดลิ่มเลือดจากยาคุมกำเนิด และจากการฉีดวัคซีนจะแตกต่างกัน และเกิดขึ้นคนละตำแหน่ง โดยยาคุมกำเนิดจะทำให้เกิดลิ่มเลือดที่ขาและไปอุดตันที่ปอด ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อให้เกิดลิ่มเลือดที่สมองและหลอดเลือดดำในช่องท้อง ดังนั้นอาการและการรักษาก็จะไม่เหมือนกัน

          เช่นเดียวกับ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความรู้ว่า การใช้ยาคุมกำเนิด รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ที่มีฮอร์โมนเพศหญิงสูงอยู่แล้ว เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือดดำใหญ่ได้  (Deep Vein Thrombosis : DVT) ต่างจากการเกิดลิ่มเลือดที่พบในวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ เช่น แอสตร้าเซนเนก้า หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่การแข็งตัวเกิดลิ่มเลือดนั้นจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำด้วย ที่เรียกกันว่า VITT จึงเป็นคนละโรคกัน และการรักษาก็ต่างกัน

          ขณะที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาวิจัยในสตรีทั่วโลกและในไทย ซึ่งมีผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด

ต้องหยุดยาคุม ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ไหม

          ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าควรหยุดใช้ยาคุมก่อนไปฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีคำแนะนำที่แตกต่างกัน

          โดย ผศ. พญ.อรวิน และ นพ.โอฬาริก ระบุว่า จะหยุดยาคุมหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ากังวลเรื่องลิ่มเลือด คนที่ใช้ยาคุมในแง่คุมกำเนิดจะหยุดใช้ก่อนสัก 1 เดือนก็ไม่เสียหายอะไร ส่วนคนที่ใช้ยาคุมหรือฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อรักษาโรค ต้องขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น จึงควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่ สำหรับผู้หญิงที่ใช้ยาคุมที่ไม่มีเอสโตรเจน เช่น ยาคุมแบบฝัง ยาคุมแบบฉีด ห่วงคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน สามารถใช้ยาต่อไปได้เลย เพราะยาคุมกลุ่มนี้ไม่เพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน

          ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า การใช้ยาคุมกำเนิดไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้หมายความไม่ให้ใช้ แต่เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทำให้เลือดข้นอยู่บ้างแล้ว ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนจะได้ไม่เกิดปัจจัยซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง 14 วันก่อน และ14 วันหลังวัคซีน ระหว่างนั้นให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน 

          ด้าน พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้สรุปคำแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ ไว้ว่า ผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมไม่ควรหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะ หรือวงแหวนช่องคลอด เมื่อถูกเรียกให้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำในอนาคตก็สามารถทำได้

          ในส่วนของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำว่า ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาฉีดคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ แต่ภาวะดังกล่าวพบได้น้อยมากในสตรีไทย และยังพบได้น้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ที่มีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ

          ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ แต่หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

เลือกใช้ยาคุมอย่างไร เสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันน้อยลง
ยาคุมกำเนิด

          สำหรับคนที่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิด เราก็มีวิธีใช้ยาคุมอย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมาฝาก ดังนี้ค่ะ

          1. หากใช้ยาคุมกำเนิดเป็นครั้งแรกควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อความปลอดภัยในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาคุมกำเนิดมาใช้เอง

          2. กรณีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นลิ่มเลือดอุดตัน เช่น มีภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือคนทั่วไปที่ต้องการใช้ยาคุม แต่ไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน ควรหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (50 ไมโครกรัม)

      โดยแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย หรือวิธีคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยวแทน ได้แก่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว
  • ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว
  • ห่วงคุมกำเนิด
  • ยาฝังคุมกำเนิด


          3. คนที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรนชนิดรุนแรง หรือไมเกรนที่ร่วมกับความผิดปกติเฉพาะที่ของระบบประสาท เช่น เห็นแสงวูบวาบ เป็นเส้นซิกแซก ตาเบลอหรือมืดในช่วงที่ปวดหัว พูดผิดปกติ หรือมีอาการชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย จะเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูง จึงห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเด็ดขาด โดยให้เลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น

          4. ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดควรงดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

          5. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ อย่านั่งหรือยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี

          6. ลดความอ้วน รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ด้วยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ

          สรุปแล้วจะเห็นว่าการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถเพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันได้ก็จริง แต่อัตราความเสี่ยงยังต่ำอยู่ ดังนั้น คุณผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องงดกินยาคุมกำเนิด แต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะยาคุมกำเนิดยังมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจได้รับ หากพลาดพลั้งเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา โอกาสเป็นลิ่มเลือดอุดตันจากการตั้งครรภ์ย่อมมีสูงกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดอีกนะคะ

          หรือกรณีจะไปฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดกังวลจริง ๆ อาจเลี่ยงไปใช้วิธีคุมกำเนิดแบบที่ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนแทนก่อนสัก 2-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังควรลดพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วยจะดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิดและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน


ขอบคุณข้อมูลจาก
ชัวร์ก่อนแชร์, โรงพยาบาลเพชรเวช, เฟซบุ๊ก Olarik Musigavong, เฟซบุ๊ก Drama-addict, เฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha, เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan, FM91 Trafficpro, เฟซบุ๊ก Anutra Chittinandana, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2564 เวลา 07:53:31 34,364 อ่าน
TOP
x close