ฉีดวัคซีนโควิด เข้ากล้ามเนื้อ VS ชั้นผิวหนัง ต่างกันอย่างไร เลือกแบบครึ่งโดส หรือเต็มโดสดีกว่า

          วัคซีนโควิด 19 ถ้าเลือกได้ จะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนังดีกว่า แล้วประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงแตกต่างกันหรือไม่ มาหาคำตอบ

          การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม ใช้กันทั่วโลก จนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์วัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ออกประกาศให้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 สามารถเลือกฉีดได้เอง 3 รูปแบบ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน คือ

          1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) แบบเต็มโดส ขนาด 30 ไมโครกรัม 
          2. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) แบบครึ่งโดส ขนาด 15 ไมโครกรัม 
          3. ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal : ID) ขนาด 10 ไมโครกรัม

          ประเด็นนี้ทำให้หลายคนมีคำถามว่า ถ้าเลือกได้ เราควรเลือกฉีดแบบไหนดี แล้วการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แตกต่างจากการฉีดเข้าชั้นผิวหนังอย่างไร ตามมาศึกษาข้อมูลกันได้เลย

การฉีดวัคซีนมีกี่แบบ
          วิธีการฉีดยาโดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 รูปแบบ คือ
ฉีดวัคซีนโควิด

1. ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal Injection: ID) 
          คือการฉีดวัคซีนผ่านเข้าไปเพียงแค่ชั้นผิวหนังแท้เท่านั้น โดยแทงเข็มที่มุมประมาณ 10-15 องศา ขนาดวัคซีนที่ฉีดจะมีปริมาณน้อย นิยมใช้สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
2. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Injection : IV) 
          เป็นการให้ยา สารน้ำ หรือสารอาหารเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ทางอื่นได้ รวมทั้งเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เร็วหากเป็นผู้ป่วยภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉิน ซึ่งเวลาฉีดจะต้องแทงเข็มในมุมประมาณ 25 องศา 
3. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Injection : SC)
         เป็นการฉีดวัคซีนผ่านเข้าไปยังเนื้อเยื่อชั้นไขมันที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังและอยู่เหนือชั้นกล้ามเนื้อ โดยแทงเข็มทำมุม 45 องศา และดันวัคซีนเข้ามา สำหรับเด็กเล็กจะนิยมฉีดบริเวณหน้าขา ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่จะฉีดบริเวณหัวไหล่ (upper outer triceps) วัคซีนที่ฉีดด้วยวิธีนี้ เช่น วัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบ
4. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) 
          เป็นการฉีดวัคซีนเข้าไปถึงชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนัง และเนื้อเยื่อไขมัน โดยแทงเข็มตรง ๆ 90 องศา เข้าไปมากกว่า 1 เซนติเมตร ลึกกว่าวิธีการฉีดวัคซีนรูปแบบอื่น โดยฉีดในบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน หรือกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า นิยมใช้กับการฉีดวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
เปรียบเทียบฉีดวัคซีนโควิด
เข้ากล้ามเนื้อ VS เข้าชั้นผิวหนัง
ฉีดวัคซีนโควิด

          ตั้งแต่ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด ทั่วโลกจะใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นหลัก เพราะเป็นวิธีดั้งเดิมและฉีดได้ง่าย แต่ช่วงหลัง ๆ มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน mRNA เข้าชั้นผิวหนัง หรือ ID ได้ เพราะทั้ง 2 วิธีมีประสิทธิภาพพอ ๆ กัน โดยมีข้อเปรียบเทียบ ดังนี้

ปริมาณวัคซีนที่ใช้

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ : ใช้ปริมาณวัคซีนมากกว่าฉีดเข้าชั้นผิวหนังบริเวณหนังแท้ อย่างวัคซีนไฟเซอร์ 1 คน ต้องฉีดปริมาณ 30 ไมโครกรัม 
     
  • ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง : ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น วัคซีนไฟเซอร์ 1 คน จะฉีดเพียง 10 ไมโครกรัม เท่านั้น เท่ากับว่า 1 โดสสามารถฉีดได้ 3-5 คน 

การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ : วัคซีนดูดซึมเข้าร่างกายได้เร็วกว่า เพราะมีเลือดมาเลี้ยงมาก
  • ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง : วัคซีนจะค่อย ๆ ดูดซึมเข้าร่างกาย ทำให้ดูดซึมช้ากว่า

ระดับภูมิคุ้มกัน

          การฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในเรื่องภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเท่ากัน อีกทั้งระยะเวลาของภูมิคุ้มกันก็อยู่นานพอกัน 

          โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แม้จะใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่า แต่ยังคงมีประสิทธิภาพที่ดีและภูมิคุ้มกันเท่ากับการฉีดเต็มปริมาณเข้ากล้ามเนื้อ เพราะในผิวหนังมีเซลล์ APC (ANTIGEN PRESENTING CELL) ที่ทำหน้าที่คอยจับเชื้อโรคแล้วส่งข่าวบอกให้เม็ดเลือดขาวออกไปต่อสู้ หรือสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่าในกล้ามเนื้อ ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปใต้ผิวหนัง APC ก็จะจับเชื้อในวัคซีนไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นดีกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ความยาก-ง่ายของการฉีดวัคซีน

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ : ฉีดง่ายกว่า แต่อาจจะเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทหรือฉีดเข้าหลอดเลือดได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นเนื้อเยื่อที่ทนต่อการระคายเคืองได้ดี 
     
  • ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง : ฉีดยากกว่า เพราะต้องฉีดให้อยู่ภายในชั้นผิวหนัง ไม่ทะลุไปยังชั้นกล้ามเนื้อ และอาจเกิดการอักเสบตรงตำแหน่งที่ฉีดได้มากกว่า ดังนั้น แพทย์ พยาบาลต้องมีความชำนาญในการฉีดยาอย่างมาก

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ : มีอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง
     
  • ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง : เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่เข้าสู่ร่างกายมีน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อาการข้างเคียงหลังฉีดจึงน้อยกว่า แต่อาจมีตุ่มนูนแดง บวม คัน เป็นหนองที่ผิวหนังเกิดขึ้นได้มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งตุ่มนี้จะยุบไปเองใน 7-10 วัน
          โดย นพ.ธีระวัฒน์ ให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า คณะทำงานจากหลายสถาบันได้ทำการทดสอบฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังให้กับคนไม่ต่ำกว่า 400 ราย พบว่าได้ผลดี และมีผลข้างเคียงเพียงตุ่มแดงหรือคัน ส่วนผลข้างเคียงอย่างอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ปรากฏ หรือมีน้อยมาก

          นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็พบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังเช่นเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า
วัคซีนครึ่งโดส หรือเต็มโดส เลือกแบบไหนดี

          นอกจากประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ หรือชั้นผิวหนังแล้ว หลายคนยังมีคำถามว่า แล้วจะเลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นแบบไหนดี ระหว่างเต็มโดส (30 ไมโครกรัม) หรือครึ่งโดส (15 ไมโครกรัม)

          สำหรับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ได้เปิดเผยผลการวิจัยหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 โดยวัดระดับภูมิคุ้มกันชนิด PVNT50 ต่อสายพันธุ์โอมิครอน หลังฉีดเข็มที่ 3 ไปแล้ว 2 สัปดาห์ พบข้อมูลดังนี้

  • สูตรวัคซีนซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์ครึ่งโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน = 551 GMT
  • สูตรวัคซีนซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์เต็มโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน = 543 GMT
  • สูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ครึ่งโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน 232 GMT
  • สูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์เต็มโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน 521 GMT
  • สูตรวัคซีนซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ครึ่งโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน 204 GMT
  • สูตรวัคซีนซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์เต็มโดส : ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน 150 GMT
สรุปการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น
  • การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป รวมทั้งการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งหากใช้วิธีนี้ต้องฉีดแบบเต็มโดส
     
  • การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง มีข้อดีตรงที่ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ได้ระดับภูมิคุ้มกันสูงเท่ากัน และอยู่นานพอ ๆ กัน
     
  • การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังอาจเกิดตุ่มแดง นูน คัน ได้มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ผลข้างเคียงด้านอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดเมื่อย มีน้อยกว่ามาก สามารถลดทอนอาการหนักที่ทำให้เสียชีวิตจากวัคซีนได้ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่กลัวผลข้างเคียงจากวัคซีน
     
  • การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ทำได้ยากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ฉีดจะต้องมีความชำนาญมาก ปัจจุบันจึงมีบริการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังเพียงแค่บางแห่งเท่านั้น
     
  • หากฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ไม่ว่าจะครึ่งโดส หรือเต็มโดส ประสิทธิภาพไม่ต่างกันมากนัก
     
  • หากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 แบบเต็มโดสจะให้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนดีกว่า
     
  • หากฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 แบบครึ่งโดสจะให้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนดีกว่าเล็กน้อย
          ทั้งนี้ หากใครสามารถเลือกได้ว่าต้องการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ก็ลองนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจกันดู อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาภายใต้ดุลยพินิจอีกครั้ง เพื่อความเหมาะสมและปลอดภัยกับตัวเราเอง

บทความที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนโควิด เข้ากล้ามเนื้อ VS ชั้นผิวหนัง ต่างกันอย่างไร เลือกแบบครึ่งโดส หรือเต็มโดสดีกว่า อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 20:44:44 42,596 อ่าน
TOP
x close