เปรียบเทียบไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ตัวไหนดีกว่าเรื่องประสิทธิภาพป้องกันโควิด

           สำหรับคนที่มีคำถามว่า จะเลือกฉีดวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ถึงป้องกันโควิด 19 ได้ดีกว่า ลองมาเปรียบเทียบจากผลการศึกษา เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

          วัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน และผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยแล้ว ปัจจุบัน (เดือนเมษายน 2565) มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะอยากทราบว่า ระหว่างวัคซีน 2 ชนิดนี้ ยี่ห้อไหนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 มากกว่ากัน งั้นตามมาอ่านข้อมูลเปรียบเทียบกันเลย โดยเริ่มจากข้อมูลพื้นฐานของวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ

ข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ (สำหรับผู้ใหญ่)
วัคซีนโควิด

ภาพจาก diy13 / Shutterstock.com

  • ชื่อวัคซีน : BNT162b2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA

  • ผู้พัฒนา : บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนี

  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 12 ปีขึ้นไป

  • จำนวนเข็มที่ต้องฉีด : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน

  • ปริมาณที่ฉีด : ฉีดขนาด 30 ไมโครกรัม (ปริมาณ 0.3 มิลลิตร)

  • การเก็บรักษา : เก็บในอุณหภูมิ -90ºC ถึง -60ºC ได้ 6 เดือน / เก็บในอุณหภูมิ 2-8ºC ได้ 1 เดือน 

ข้อมูลวัคซีนโมเดอร์นา
วัคซีนโควิด

ภาพจาก Wolfilser / Shutterstock.com

  • ชื่อวัคซีน : mRNA-1273 เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนของไฟเซอร์

  • ชื่อทางการค้า : Spikevax (สไปก์แว็กซ์)  

  • ผู้พัฒนา : บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา

  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 12 ปีขึ้นไป

  • จำนวนเข็มที่ต้องฉีด : 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 28 วัน

  • ปริมาณที่ฉีด : ฉีดขนาด 100 ไมโครกรัม  

  • การเก็บรักษา : เก็บรักษาได้ 7 เดือนในอุณหภูมิ -25ºC ถึง -15ºC ซึ่งเป็นอุณหภูมิในช่องแข็งตู้เย็นปกติ แต่ก็สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC ได้เป็นเวลา 30 วัน 

เปรียบเทียบประสิทธิภาพไฟเซอร์ VS โมเดอร์นา
วัคซีนโควิด

ภาพจาก Prawit Ritchalearnwatthu/Shutterstock.com

          จากข้อมูลวัคซีนข้างต้น ทำให้ทราบว่า วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป จะฉีดโดสละ 30 ไมโครกรัม (ปริมาณ 0.3 มิลลิตร) ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ขณะที่วัคซีนโมเดอร์นา 1 โดส ประกอบด้วย mRNA 100 ไมโครกรัม และฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ เท่ากับว่า วัคซีนของโมเดอร์นามีสารออกฤทธิ์ในปริมาณที่สูงกว่าไฟเซอร์ 3 เท่า ทีนี้เรามาเปรียบเทียบประสิทธิภาพหลังฉีดวัคซีนกันดู

เปรียบเทียบการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

          วารสาร New England Journal of Medicine (ออก ณ วันที่ 19 มกราคม 2565) แสดงผลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA-1273 (โมเดอร์นา) และ วัคซีน BNT162B2 (ไฟเซอร์) ในประเทศกาตาร์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ครบ 2 เข็ม จำนวน 192,123 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 878 ราย (คิดเป็น 0.456%) มีเพียง 3 รายที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่พบรายที่รุนแรงขั้นวิกฤตหรือนำไปสู่การเสียชีวิต 

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม จำนวน 192,123 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 1,262 ราย (คิดเป็น 0.656%) มี 7 รายที่มีอาการรุนแรง และ 1 รายที่เสียชีวิต 

          โดยการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีนครบแล้วทั้งสองกลุ่มจะมีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อติดตามผลหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไปแล้ว 6 เดือน ก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ

  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา มีอุบัติการณ์สะสมของการติดเชื้ออยู่ที่ 0.59% 

  • กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มีอุบัติการณ์สะสมของการติดเชื้อภายหลังจากได้วัคซีนนั้นสูงกว่า อยู่ที่ 0.84% 

วัคซีนโควิด

           สรุป : จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นามีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อโควิด 19 และการติดเชื้อชนิดรุนแรง ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

เปรียบเทียบภูมิคุ้มกันเมื่อกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3

           ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3 ต่อการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการของไวรัสโอไมครอน ซึ่งเป็นการประเมินโดยทีมวิจัยของ UK จากฐานข้อมูลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวน 68,489 ราย พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

สูตรวัคซีน AZ+AZ+PF

           ผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม เมื่อฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ จะมีประสิทธิภาพป้องกันโอมิครอนที่ 2-4 สัปดาห์ อยู่ที่ประมาณ 60% แต่เมื่อผ่านไป 10 สัปดาห์หลังฉีดไฟเซอร์ ภูมิจะตกลงมาเหลือประมาณ 35%

สูตรวัคซีน AZ+AZ+MD

           ผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม เมื่อฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา จะมีประสิทธิภาพป้องกันโอมิครอนที่ 2-4 สัปดาห์ อยู่ที่ประมาณ 60% เท่ากับไฟเซอร์ แต่เมื่อผ่านไป 5-9 สัปดาห์หลังฉีดโมเดอร์นา ภูมิจะตกลงมาเหลือประมาณ 45%

สูตรวัคซีน PF+PF+PF

           คนที่ฉีดไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็ม เมื่อฉีดไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 สามารถป้องกันโอมิครอนได้สูงถึง 70% ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หลังผ่านไป 10 สัปดาห์ ประสิทธิภาพลดลงเหลือ 45%

สูตรวัคซีน PF+PF+MD

          คนที่ฉีดไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็ม หากกระตุ้นด้วยโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 3 ประสิทธิภาพจะสูงมากถึง 70-75% ยาวนานไปมากกว่า 9 สัปดาห์

          สรุป : จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงว่า การฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นน่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มที่ฉีดไฟเซอร์เป็น 2 เข็มแรก หากกระตุ้นด้วยโมเดอร์นาอีกเข็ม ประสิทธิภาพการป้องกันโอมิครอนจะสูงกว่าการกระตุ้นด้วยไฟเซอร์

เปรียบเทียบผลข้างเคียง
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

วัคซีนโควิด

          จริง ๆ แล้ว อาการไม่พึงประสงค์ที่พบหลังฉีดวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ ส่วนใหญ่แล้วไม่รุนแรง และไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้ออื่น ๆ เช่น รู้สึกปวด-บวมบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ สามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน

          ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่อาจพบได้ในผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA นั้น ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ได้เปรียบเทียบสัดส่วนที่พบในผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ต่อ 1 ล้านโดส ดังข้อมูลนี้

ตารางแสดงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่พบในเพศชาย ต่อ 1 ล้านโดส 
จากการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 169,740,953 โดส

วัคซีนโควิด

ภาพจาก : fda.gov

ตารางแสดงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่พบในเพศหญิง ต่อ 1 ล้านโดส
จากการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 193,215,313 โดส

วัคซีนโควิด

ภาพจาก : fda.gov

  • พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 ทั้ง 2 ยี่ห้อ
     

  • ในเพศชาย พบภาวะดังกล่าวหลังจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่ 2 มากกว่าหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 เช่น เพศชายอายุ 18-24 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดไฟเซอร์เข็ม 2 อยู่ที่ 36.8 ต่อ 1 ล้านโดส ขณะที่หลังฉีดโมเดอร์นาเข็ม 2 อยู่ที่ 38.5 ต่อ 1 ล้านโดส
     

  • กลุ่มที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากที่สุด คือ ผู้ชายอายุ 16-17 ปี ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 มีอัตราการเกิดโรค 69.1 ต่อล้านโดส (ขณะที่วัคซีนโมเดอร์นายังไม่ได้มีการเก็บข้อมูล ณ วันที่สรุปผลการศึกษาเมื่อเดือนตุลาคม 2564)
     

  • ในเพศหญิง พบภาวะดังกล่าวน้อยกว่าเพศชายหลายเท่า ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา
     

อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน

           จากข้อมูลทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่า วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพที่สูงกว่าไฟเซอร์เล็กน้อย เนื่องจากฉีดในปริมาณมากกว่า 3 เท่า อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณที่เข้าสู่ร่างกายเยอะกว่าก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อย และเป็นเพศชาย

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปรียบเทียบไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ตัวไหนดีกว่าเรื่องประสิทธิภาพป้องกันโควิด อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2565 เวลา 16:28:47 84,857 อ่าน
TOP
x close