ผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร เช็กว่าเราเกินวัยที่ยังสูงได้อีกไหม หรือจะมีวิธีเพิ่มความสูงให้ตัวเองได้อีกสักนิดหรือเปล่า
ความสูงเป็นส่วนหนึ่งของรูปร่าง และแม้การเป็นผู้หญิงที่ไม่สูงมากจะดูตัวเล็กตะมุตะมิ แต่หลาย ๆ คนก็อยากมีความสูงโปร่งเหมือนนางแบบบ้าง จนเป็นคำถามว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร ช่วงวัยไหนที่เพิ่มความสูงไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาตอบให้หายข้องใจตรงนี้เลย
ผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร
โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงอายุ 10-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าวัยแรกรุ่น (Puberty) โดยอาจสูงเพิ่มขึ้นได้ 7-10 เซนติเมตรต่อปี และจะสูงแซงหน้าผู้ชายไปก่อนด้วย แต่เมื่อเข้าสู่วัยแตกสาว เริ่มมีประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศจะส่งผลให้ความสูงของผู้หญิงค่อย ๆ ดรอปลง และจะหยุดสูงเมื่อเริ่มเป็นสาวเต็มตัว คือราว ๆ อายุ 14-16 ปี
สัญญาณหยุดสูงของผู้หญิง สังเกตจากอะไร
สัญญาณหยุดสูงของผู้หญิงสามารถสังเกตได้จากภาวะแตกเนื้อสาวเลยค่ะ เช่น นมเริ่มตั้งเต้า เอวคอด สะโพกผาย มีขนรักแร้-อวัยวะเพศ รวมไปถึงการมีประจำเดือน ทั้งนี้ ความสูงของแต่ละคนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งกรรมพันธุ์ โภชนาการ การออกกำลังกาย เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง
- โภชนาการ : เด็กที่ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ จะมีการเจริญเติบโตที่ดี ต่างจากเด็กที่ขาดสารอาหาร หรือมีความบกพร่องทางโภชนาการ กลุ่มนี้มักจะมีรูปร่างแคระแกร็น
- ฮอร์โมน : การมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือโกรทฮอร์โมนต่ำ ก็ส่งผลต่อส่วนสูงของร่างกายได้เช่นกัน
- ยาบางชนิด : เช่น ยาต้านการอักเสบ (Corticosteroids) ซึ่งอาจพบในยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืด ก็อาจส่งผลต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตได้
- โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังบางโรค : เช่น โรคไต โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคมะเร็ง ที่เป็นตั้งแต่วัยเด็กและส่งผลต่อการเจริญเติบโตตามวัยได้
- โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม : เช่น กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Dyndrome) ที่ส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางด้านร่างกาย การทำงานของหัวใจและสมองผิดปกติ หรือกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) ที่มักพบในเพศหญิง จากความผิดปกติของโครโมโซม x จนทำให้มีรูปร่างที่เตี้ยผิดปกติ มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และร่างกายไม่สามารถเข้าสู่วัยประจำเดือนได้ อีกทั้งยังมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เช่น ตาเหล่ หนังตาตก มองเห็นภาพไม่ชัด มีความผิดปกติทางการได้ยิน เป็นต้น
วิธีเพิ่มความสูงให้ร่างกาย ในช่วงที่ยังสูงอีกได้
ในช่วงของการเจริญเติบโต สาว ๆ สามารถเพิ่มความสูงให้ตัวเองได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบหลักโภชนาการ 5 หมู่ โดยเฉพาะในส่วนของแคลเซียม นม อาหารที่มีโปรตีนสูง โฮลเกรน ผัก-ผลไม้ กลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินดี เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยในวัยรุ่นควรพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาอย่างเต็มที่
- ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความสูง เช่น บาสเกตบอล กระโดดเชือก โหนบาร์ ว่ายน้ำ โยคะ ปั่นจักรยาน วิดพื้น ซิทอัพ หรือกระโดดแทมโพลีน เป็นต้น
- ตรวจสุขภาพประจำปี เผื่อพบความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน
ในวัยที่ยังสามารถเพิ่มความสูงได้อยู่ก็ลองปฏิบัติตามนี้ดูนะคะ ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่อาจหยุดสูงไปแล้วก็สามารถปรับความสูงได้ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัดกระดูก ปรับกระดูกในคนที่หลังค่อม เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้องกับความสูง
- กระโดดเชือกได้ประโยชน์เน้น ๆ ลดน้ำหนัก เพิ่มความสูง และอีกเพียบ !
- โยคะเพิ่มความสูง เสริมความฟิตให้กระดูก ด้วยท่าทางง่าย ๆ
- 15 วิธีออกกำลังกายเพิ่มส่วนสูง + ช่วยลดน้ำหนัก ตัดปัญหาอ้วนเตี้ยม้วนเดียวจบ !
- 5 วิธีป้องกันไม่ให้เตี้ยลงเร็วเกินไป เมื่ออายุมากขึ้น
- ยืน-นั่งผิดท่า พาปวดหลัง ชีวิตพัง มาดูวิธีออกกำลังปรับบุคลิกให้ดีขึ้นกันเถอะ !