ทำ IF 16/8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91% ลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อันตรายจริงไหม

           ทำ IF 16/8 เป็นวิธีลดน้ำหนักที่หลายคนใช้ลดความอ้วน แต่งานวิจัยล่าสุดก็ทำให้ช็อกไม่น้อย เพราะบอกว่าการทำ IF เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91% เลยทีเดียว
ทำ IF 16/8

           วิธีลดความอ้วน ด้วยการทำ IF (Intermittent Fasting) เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ล่าสุดกลับมีข่าวสะเทือนวงการโภชนาการ เมื่อสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association : AHA) ออกรายงานผลวิจัยที่ยังไม่ตีพิมพ์ว่า คนทำ IF 16/8 มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงถึง 91% ซึ่งสร้างความตื่นตกใจในวงการคนทำ IF มากพอสมควร ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ลองมาเช็กข้อมูลกัน

ทำ IF 16/8 เสี่ยงเสียชีวิต
ด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นจริงไหม

ทำ IF นานๆ ผลเสีย

          สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของสมาคม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2024 โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • ข้อมูลดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามที่เก็บไว้ระหว่างปี 2003-2018 ในกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 20,000 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 49 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 28-29 รวมถึงเป็นคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

  • ผู้ที่ทำ IF สูตร 16/8 หรือกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น 91% โดยเฉพาะในคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง

  • คนที่เป็นโรคหัวใจและทำ IF โดยรับประทานอาหาร 8-10 ชั่วโมงต่อวัน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 66%

  • การทำ IF หรือรับประทานอาหารที่จำกัดเวลาเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตทุกกรณี

  • กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่รับประทานอาหารมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

  • แม้การทำ IF ด้วยกินอาหารน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ได้สะท้อนว่าการทำ IF เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้

          ขณะที่ ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นถึงงานวิจัยฉบับนี้ผ่านบัญชี @manopsi บนแพลตฟอร์ม X โดยวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้

     1. การศึกษานี้เก็บข้อมูลจาก NHANES ซึ่งเป็น dataset ขนาดใหญ่และใช้กันมานาน ข้อมูลจาก dataset นี้ใช้ตอบคำถามวิจัยมากมายมายาวนาน ทีมเก็บข้อมูลและวิเคราะห์มีประสบการณ์และฝีมือดี

     2. ข้อมูลนี้มีจุดด้อยคือเป็นการสำรวจวิธีการทำ IF 16:8 แบบ self assessment ด้วย questionnaire ของปีแรกที่เก็บข้อมูล ไม่สามารถยืนยันว่าทุกคนทำ IF 16:8 สูตรนี้สม่ำเสมอหรือไม่

     3. จุดแข็งของการศึกษานี้คือ dataset ขนาดใหญ่เกือบ 2 หมื่นคน และตามข้อมูลนานเฉลี่ย 8 ปี และตามนานสุดถึง 17 ปี ในขณะที่ผลดีรายงานก่อนหน้านี้ล้วนเป็นผลระยะสั้น ไม่เคยมีข้อมูลยาวขนาดนี้

     4. ข้อสังเกตอีกอันคืออายุเฉลี่ย 49 ปี (วัยกลางคน)

     5. มีข้อมูลกลุ่มที่อดอาหารน้อยกว่านี้ด้วย คือมีระยะเวลากิน 8-10 ชั่วโมง และมีโรคหัวใจร่วมด้วย พบว่าเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 66% ตรงกันข้ามในคนไข้มะเร็ง การไม่ทำ IF อัตราตายก็น้อยกว่า สอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นไปในทางเดียวกันหมด

     6. ภาพรวมการทำ IF ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

     7. การศึกษานี้เป็นระบาดวิทยา พบว่ามันสัมพันธ์กันแบบนี้จริง แต่การจะหาคำอธิบายหรือกลไกก็ต้องศึกษาใหม่ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์แบบอื่น

          ดังนั้น โดยสรุป ขอให้ aware ในข้อมูล และระมัดระวังในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไปและมีโรคร่วม อย่าไปเหมาหมดว่า IF แย่ และอย่าไปอวยแบบเหมาเช่นกันว่าดีเลิศ พิจารณากันรายคน

        เช่นเดียวกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านได้ให้ความเห็นถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า ยังมีข้อสงสัยหลายประเด็น เนื่องจากเป็นการศึกษาจากข้อมูลที่ประชากรชาวอเมริกันตอบแบบสอบถามตั้งแต่ปี 2003-2018 และผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่มีภาวะอ้วน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดโรค นอกจากนี้คำถามเรื่องการทำ IF ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามีการรับประทานอาหารอย่างไร อาหารชนิดไหน ระหว่างทางมีการปรับนิสัยการกินหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรออ่านงานวิจัยฉบับเต็มอีกครั้ง

ทำ IF 16/8 ไม่เหมาะกับคนกลุ่มไหน

IF 16/8

          อย่างที่ทราบว่า การลดน้ำหนักแบบ IF คือการจำกัดเวลารับประทานอาหาร แน่นอนว่าย่อมไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะคนกลุ่มนี้ที่ไม่จำเป็นต้องรอดูผลการศึกษาข้างต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการทำ IF เพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า

  • ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร 

  • ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน

  • ผู้ป่วยที่เข้ารับผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหารอื่น ๆ มาก่อน

  • ผู้ป่วยเบาหวาน

  • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

  • เด็กและวัยรุ่น

  • ผู้สูงอายุ

  • ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง สุขภาพไม่สมบูรณ์

  • ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiencies)

  • ผู้ที่มีหรือเคยมีภาวะกินผิดปกติ (Eating disorders)

  • ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองมาก่อน หรือคนที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน

  • ผู้มีโรคประจำตัว หรือคนที่กินยาเป็นประจำ 
     

ลดน้ำหนักแบบ IF อันตรายต่อสุขภาพไหม ใครไม่เหมาะใช้วิธีนี้บ้าง

           อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงการสรุปผลการศึกษาเบื้องต้น ยังคงต้องรอดูงานวิจัยตัวเต็มจากทาง AHA กันก่อน แต่ใครที่กำลังทำ IF 16/8 อยู่แล้วไม่สบายใจ ลองไปปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อสร้างความมั่นใจเพิ่มก็ได้ ส่วนคนที่อยากลองทำ IF แนะนำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ด้วยว่าตัวเองเหมาะกับการลดน้ำหนักด้วย IF หรือไม่ หรือควรเลือกลดความอ้วนด้วยวิธีไหนดี

บทความที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักแบบ IF

ขอบคุณข้อมูลจาก : newsroom.heart.org, ทวิตเตอร์ @manopsi
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำ IF 16/8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91% ลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อันตรายจริงไหม อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2567 เวลา 15:14:26 25,867 อ่าน
TOP
x close