มีประกันสังคมใช้บัตรทองได้ไหม อยากเปลี่ยนมาใช้สิทธิบัตรทองต้องทำยังไง ?
ประกันสังคม ม.33 ม.39 และ ม.40 สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ได้หรือเปล่า หรือต้องยกเลิกก่อนถึงเปลี่ยนสิทธิได้ มาเคลียร์ข้อสงสัยกัน
มนุษย์เงินเดือนที่ใช้สิทธิประกันสังคม เมื่อได้เห็นข่าวว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังเดินหน้าโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ หรือใช้สิทธิบัตรทอง รักษาทุกโรคในสถานพยาบาลอื่น ๆ ได้ ก็คงเกิดความสงสัยว่า แล้วถ้าเรามีสิทธิประกันสังคม มาตรา 33, มาตรา 39 หรือมาตรา 40 อยู่แล้วแบบนี้ จะสามารถใช้สิทธิบัตร 30 บาท รักษาพยาบาลได้ด้วยหรือไม่ เพราะบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ก็เป็นสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานที่มีให้ทุกคน หรือหากต้องการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมเป็นบัตรทอง ต้องทำอย่างไร คำตอบอยู่ด้านล่างนี้เลย
มีประกันสังคมใช้บัตรทองได้ไหม
มีประกันสังคม ม.33 ใช้บัตรทองได้ไหม
ประกันสังคม มาตรา 33 เป็นกลุ่มที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมาย จึงต้องใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคม ไม่สามารถใช้สิทธิตามบัตรทองได้ ยกเว้นเมื่อลาออกจากงานหรือว่างงาน แล้วไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อตามมาตรา 39 กรณีนี้สิทธิประกันสังคมเดิมจะคุ้มครองต่ออีกเพียง 6 เดือน และเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน จะมีสิทธิบัตรทองโดยอัตโนมัติ
มีประกันสังคม ม.39 ใช้บัตรทองได้ไหม
ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากสามารถรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิประกันสังคมที่มีอยู่ ยกเว้นว่าจะหยุดส่งเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 เพื่อใช้สิทธิบัตรทอง
มีประกันสังคม ม.40 ใช้บัตรทองได้ไหม
ผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 40 สามารถใช้สิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ได้ เพราะสิทธิประกันสังคมที่มีอยู่ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องการรักษาพยาบาล ดังนั้น หากเจ็บป่วยจะต้องรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน
เปลี่ยนสิทธิประกันสังคม
เป็นบัตรทองยังไง
ผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ต้องการย้ายมาใช้สิทธิบัตรทอง จะต้องยกเลิกการส่งเงินสมทบ และหลังจากหยุดส่งเงินสมทบเป็นเวลา 6 เดือน เท่ากับว่าได้ออกจากระบบประกันสังคมแล้ว ก็จะเข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยทันที โดยเราสามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกสถานพยาบาลที่ต้องการใช้สิทธิบัตรทองได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่มีการออกบัตรทองแล้ว แต่จะใช้บัตรประชาชนแทน
ผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ย้ายมาบัตรทอง สามารถเลือกลงทะเบียนได้ตามช่องทางต่อไปนี้
1. ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. แล้วเลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
2. แอดไลน์ สปสช. ID @nhso เลือกเมนู "เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง"
3. ติดต่อลงทะเบียนด้วยตนเอง ณ สถานบริการ
• กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ หรือโทร. สายด่วน 1330
• ต่างจังหวัด : ลงทะเบียนได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน (วันและเวลาราชการ)
ในกรณีที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ทาง สปสช. จะจัดระบบลงทะเบียนแทนให้ก่อน ซึ่งหากเราไม่สะดวกใช้บริการในสถานพยาบาลที่ระบบจัดให้ เราสามารถย้ายโรงพยาบาลได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง
สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการประจำได้ที่เว็บไซต์ mscup.nhso.go.th โดยเลือกตามพื้นที่พักอาศัยจริง
ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แม้ว่าบัตรทองจะเป็นสิทธิรักษาพยาบาลที่มีให้ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่คนนั้นมีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นของรัฐอยู่แล้ว เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ นอกจากว่าในวันใดวันหนึ่งไม่สามารถใช้สิทธิเดิมที่มีอยู่ได้อีกต่อไป เช่นนี้แล้วจะกลับมาใช้สิทธิบัตรทองได้โดยอัตโนมัติ
บทความที่เกี่ยวข้องกับบัตรทองและประกันสังคม
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (1), (2), กรมประชาสัมพันธ์