บัตรทองทำยังไง ทำที่ไหน ปี 2568 พร้อมวิธีย้ายสิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ด้วยตนเอง

           บัตรทอง หลายคนได้ยินคำนี้กันมานาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักสิทธิบัตรทองจริง ๆ ดังนั้น วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจเรื่องบัตรทองกัน
บัตรทอง หรือ บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

           บัตรทอง หรือ บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐมีให้กับประชาชนมานานกว่า 20 ปี แต่ทุกวันนี้ยังคงมีความสับสนในเรื่องของบัตรทองอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นวิธีสมัครบัตรทอง การใช้สิทธิบัตรทอง หรือใช้บัตรทองรักษาที่ไหนได้บ้าง เชื่อว่าหลายคนก็ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับบัตรทองกันอยู่เนือง ๆ ดังนั้น เราจะพามารู้จักบัตรทองกันอีกที

บัตรทอง คืออะไร

          บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท จริง ๆ แล้วมีชื่อเต็มว่า บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ออกให้คนไทยทุกคนได้ใช้รักษาพยาบาลฟรี ยกเว้นในคนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นอย่างสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ก็จะไม่ได้ถือบัตรทอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวในการเข้ารักษาที่สถานพยาบาลได้ทันที

บัตรทอง ใครมีสิทธิได้บ้าง

คนที่จะมีบัตรทองต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • บุคคลสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเกิด ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก

  • บุคคลที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ เช่น

          ◦ บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ

          ◦ บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ เช่น สิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน

          ◦ ผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (หมดสิทธิประกันสังคม)

          ◦ ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ

          ◦ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน

บัตรทอง รักษาอะไรได้บ้าง

           สิทธิบัตรทองสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ ได้ฟรี ทั้งโรคทั่วไป เช่น ไอ เจ็บคอ ไข้หวัด ท้องเสีย ไปจนถึงโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคเอชไอวี ฯลฯ
บัตรทอง รักษาอะไรได้บ้าง

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

           ทั้งนี้ หากผู้ถือบัตรทองมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ อาทิ ไอ เจ็บคอ เจ็บกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ฯลฯ ก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล โดยสามารถเข้าไปรับยาได้เองที่ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ซึ่งเภสัชกรจะคัดกรองอาการเบื้องต้นพร้อมจ่ายยาให้ และติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา
สิทธิบัตรทอง เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยา ณ ร้านยาคุณภาพของฉัน ได้ทุกแห่ง

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

           นอกจากนี้ในกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ป่วยด้วย 42 กลุ่มโรคและอาการ เช่น ข้อเสื่อมหลายข้อ ตาแดงจากไวรัส เนื้อเยื่ออักเสบ ปวดศีรษะ อาหารเป็นพิษ โควิด 19 กลุ่มสีเขียว ฯลฯ ยังสามารถใช้บริการพบแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน และส่งยาให้ถึงบ้าน
สปสช. จับมือ 4 แอปพลิเคชัน เปิดทางเลือก สิทธิบัตรทอง พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาถึงบ้าน

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

บัตรทอง รักษามะเร็งได้ทุกที่จริงไหม

          ปัจจุบัน สปสช. มีโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อตัดสินใจร่วมกันในการเลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็งได้เอง (ต้องเป็นโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ)  

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิรักษามะเร็งได้ทุกระยะ รวมถึงการทำเคมีบำบัด รังสีรักษา การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็ง รวมทั้งการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา (Follow up) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง

บัตรทองทำฟันได้ไหม

          ผู้ที่ถือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน การผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก ก็สามารถทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย

บัตรทอง ทำฟัน

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

บัตรทอง ใช้สิทธิคลอดบุตรได้ไหม

           คุณแม่สามารถเข้ารับการตรวจ ฝากครรภ์ และทำคลอดได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งยังได้รับสิทธิการบริบาลทารกแรกเกิด

สิทธิประโยชน์ของบัตรทอง
มีอะไรอีกบ้าง

          นอกจากเรื่องการรักษาโรคแล้ว ผู้ใช้บัตรทองยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีก อาทิ

  •  การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น 

          ◦ การตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะเสี่ยง เช่น คัดกรองมะเร็งปากมดลูก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน 

          ◦ การให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลสุขภาพ เช่น การวางแผนครอบครัวเรื่องการคุมกำเนิด รับยาคุมและถุงยางอนามัยฟรี การเลิกบุหรี่ 

          ◦ การสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การฉีดวัคซีน การให้ยาบำรุง การเคลือบฟลูออไรด์

  • ค่ายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามกรอบบัญชียาหลัก และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง

  • ค่าอาหารและค่าห้องสามัญระหว่างพักรักษาตัวในหน่วยบริการ

  • บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับ-ส่งผู้ป่วยและผู้ทุพพลภาพ

  • การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งกายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น รวมไปถึงบริการอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้พิการตามเกณฑ์ที่กำหนด

  • บริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคทางศิลปะ

  • การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

  • การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถ ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

  • บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม

  • ขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล

  • ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีคะแนนความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) ไม่เกิน 6 คะแนน หรือผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มีสิทธิขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่าย

  • ตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Sleep test) และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) 

  • อุปกรณ์เท้าเทียมไดนามิก เพื่อผู้พิการขาขาด

  • เจาะเลือด-ตรวจแล็บใกล้บ้าน ครอบคลุม 24 รายการ สำหรับผู้ป่วยนอกที่ป่วยโรคเรื้อรังที่มีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากหน่วยบริการที่ดูแล สามารถเข้ารับบริการตรวจ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ใกล้บ้านได้ 

  • บริการเจาะเลือดถึงบ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุ 

  • ล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD)

สปสช. ชวนประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ มาใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ฟรี)

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ

บัตรทองรักษาที่ไหนได้บ้าง

          กรณีเจ็บป่วยทั่วไป เราสามารถใช้สิทธิรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิที่ระบุไว้บนบัตรทอง หากเจ็บป่วยขณะอยู่ต่างพื้นที่สามารถรักษาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิได้ทุกแห่ง แต่หากเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด

           อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มความสะดวกในการรับบริการมากขึ้นในโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” หรือ 30 บาท Pro ซึ่งจะสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการได้ทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช. ทั่วทั้งประเทศ 77 จังหวัด

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ

  • นัดคิวแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปฯ หรือไลน์ หมอพร้อม
  • รักษาได้ทุกโรงพยาบาล รวมถึงคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
  • รับยาใกล้บ้าน
  • ตรวจเลือดใกล้บ้าน  
  • ตรวจรักษากับแพทย์บนมือถือ (Telemedicine)
          ทั้งนี้ สามารถสังเกตจากโลโก้ "30 บาทรักษาทุกที่" ที่อยู่ด้านหน้าหน่วยบริการ หากพบโลโก้ดังกล่าวแสดงว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้แค่บัตรประชาชน 
โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

30 บาทรักษาทุกที่

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขั้นตอนการใช้สิทธิ
บัตร 30 บาทรักษาทุกที่

กรณีป่วยเล็กน้อย หรือเจ็บป่วยทั่วไป

สามารถเข้ารักษาได้ที่
          1. หน่วยบริการประจำ 
          2. หน่วยบริการปฐมภูมิ (ได้ทุกแห่ง) หรือสังเกตจากโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่
              - กทม. รับการรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น
              - ต่างจังหวัด รับการรักษาได้ที่ รพ.สต./สถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน/โรงพยาบาลรัฐประจำอำเภอ/จังหวัด (สังกัดกระทรวงสาธารณสุข)
          3. ร้านยาหรือคลินิกเอกชน  

กรณีป่วยมาก

สามารถเข้ารักษาได้ที่
          1. โรงพยาบาลประจำของผู้ป่วย หรือ
          2. ร้านยาหรือคลินิกเอกชน โดยหากมีความจำเป็นต้องรักษาในระดับที่สูงขึ้นก็จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายด้วยระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์

กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

  • อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่ถึงขั้นวิกฤต สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.
  • เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต เช่น หมดสติ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอกรุนแรง สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด (ใช้สิทธิ UCEP)
30 บาทรักษาทุกที่

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คนไทยในต่างประเทศใช้บัตรทองได้ไหม

          ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป คนไทยที่อาศัยในต่างประเทศหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ หากเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองและมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) สามารถใช้บริการการแพทย์ทางไกลด้วยการปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันด้านสุขภาพของผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล 4 แห่ง ที่เป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. คือ

          1. แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม Line @Sooksabaiclinic 
          2. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม Line @clicknic
          3. แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม Line @mordeeapp 
          4. โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) โดยเดอะโททอลเล่คลินิก Line @totale

          ทั้งนี้ จะเป็นการปรึกษาแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะออกใบสรุปอาการและยาที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ในประเทศนั้น ๆ แต่จะไม่สามารถส่งยาจากประเทศไทยไปได้ เพราะติดขัดในเรื่องกฎหมาย

สมัครบัตรทองทำยังไง

           ผู้ที่ต้องการสมัครบัตรทอง สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องได้ ที่นี่ หรือขอรับได้ ณ จุดลงทะเบียนสมัครบัตรทอง

สมัครบัตรทอง ใช้เอกสารอะไรบ้าง

          เอกสารที่ใช้ในการสมัครบัตรทอง ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชน/สูติบัตร (ในกรณีอายุต่ำกว่า 7 ขวบ)

          แต่ในกรณีที่พักไม่ตรงตามที่อยู่หน้าบัตรประชาชนหรือสูติบัตร ให้เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เพิ่มเติม เพื่อแสดงว่าตนเองมีถิ่นที่อยู่หรือพักอาศัยในพื้นที่นั้น ๆ 

  • ทะเบียนบ้านเจ้าบ้านและหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน 

  • หนังสือรับรองผู้นำชุมชนและบัตรประจำตัวผู้นำชุมชน

  • หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ว่าจ้าง

  • ใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค (หากเป็นชื่อผู้ขอลงทะเบียนใช้รับรองได้)  

  • สัญญาเช่าที่พัก (สัญญาเช่าเป็นชื่อผู้ขอลงทะเบียน/ชื่อญาติ สามารถใช้รับรองได้)

บัตรทองทำที่ไหน ปี 2568

          ช่องทางลงทะเบียนสมัครบัตรทอง สามารถเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ดังนี้

  1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ในวัน-เวลาราชการ
  2. โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน ในวัน-เวลาราชการ
  3. ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ในวัน-เวลาราชการ
  4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13 ตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย ในวัน-เวลาราชการ
  5. ลงทะเบียนผ่าน Line @nhso โดยเพิ่มเพื่อนแล้วคลิกเลือกเมนู สิทธิบัตรทอง จากนั้นทำตามขั้นตอนที่กำหนด หรือคลิกดูวิธี ที่นี่
  6. แอปพลิเคชัน สปสช. โดยมีขั้นตอนดังนี้

          ติดตั้งแอปพลิเคชัน พิมพ์คำว่า “สปสช” ใน Google Play หรือ App Store

          เปิดหน้าแอปพลิเคชัน “สปสช”

          กดปุ่ม “ลงทะเบียน”

          กดอ่านเงื่อนไขข้อตกลง และกด “ยอมรับ”

          กรอกเลขบัตรประชาชน

          สแกนลายนิ้วมือหรือตั้งรหัสผ่านสำหรับเข้าสู่แอปฯ

          เมื่อเข้าสู่หน้าหลักของแอปพลิเคชัน ให้กด “ลงทะเบียนสิทธิหลักประกัน”

ตรวจสอบสิทธิบัตรทอง ผ่าน แอปฯ สปสช

ภาพจาก : App Store

วิธีเช็กสิทธิบัตรทองของตัวเอง

          ช่องทางการตรวจสอบสิทธิบัตรทองของตนเองสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้

  1. โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 2
  2. เว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใส่เลขบัตรประชาชน, วัน-เดือน-ปี-เกิด และระบุตัวอักษรในภาพ จากนั้นกด “ตกลง”
  3. แอปพลิเคชัน สปสช. ทั้งระบบ Android และ iOS ที่เมนู “ตรวจสอบสิทธิตนเอง”
  4. ตรวจสอบสิทธิผ่าน Line สปสช. เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. เลือกเมนู “ตรวจสอบสิทธิ”
ตรวจสอบสิทธิบัตรทอง 4 ช่องทาง

ภาพจาก : สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ

บัตรทอง ย้ายโรงพยาบาลได้ไหม

          ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการประจำตัวได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

  1. แอปพลิเคชัน สปสช.
  2. Line @nhso
  3. นำเอกสารที่ใช้ในการสมัครบัตรทองไปติดต่อขอย้ายสถานพยาบาลด้วยตนเองได้ที่

           ต่างจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง, โรงพยาบาลของรัฐ

           กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขต หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี (ทิศตะวันตก) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ในวัน-เวลาราชการ หรือโทร. สายด่วน 1330
เมื่อย้ายสิทธิบัตรทอง จะสามารถใช้ได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

ภาพจาก : สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ

บัตรทอง ต่างกับประกันสังคมอย่างไร

            จุดที่เหมือนกันและจุดที่แตกต่างของบัตรทอง กับผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม มีดังนี้
บัตรทอง ต่างกับ ประกันสังคม ยังไง

ภาพจาก : สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ

           หากใครมีข้อสงสัยในเรื่องบัตรทองนอกเหนือไปจากข้างต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมงเลยค่ะ และสำหรับในพื้นที่ กทม. สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1330 กด 6

บทความที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรทอง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (1), (2), (3), (4), เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8)portal.info.go.th, ราชกิจจานุเบกษา 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัตรทองทำยังไง ทำที่ไหน ปี 2568 พร้อมวิธีย้ายสิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ด้วยตนเอง อัปเดตล่าสุด 7 มกราคม 2568 เวลา 10:55:05 349,195 อ่าน
TOP
x close