ประกันสังคม VS บัตรทอง ให้สิทธิประโยชน์ทำฟันต่างกันอย่างไร รักษาอะไรฟรี หรือต้องจ่ายเอง !

           ประกันสังคม ทำฟันอะไรได้บ้าง เคลือบฟลูออไรด์ รักษารากฟันได้ไหม ชวนมาเทียบสิทธิประกันสังคม VS บัตรทอง กรณีทันตกรรมอันไหนดีกว่า อัปเดตปี 2568
ประกันสังคม กับ บัตรทอง อันไหนดีกว่า

           สิทธิประกันสังคมกับบัตรทองต่างกันอย่างไร.. เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ในการทำฟันที่ดูแล้วมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เช่นนั้นแล้ววันนี้ลองมาเปรียบเทียบสิทธิบัตรทอง กับประกันสังคม ในด้านการรักษาทางทันตกรรม พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ดูสักหน่อย เผื่อใครกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเลือกใช้สิทธิไหนดี

สิทธิประกันสังคมกับบัตรทอง
ต่างกันอย่างไร

สิทธิบัตรทองกับประกันสังคมต่างกันอย่างไร

มาเปรียบเทียบสิทธิประกันสังคม กับ สิทธิบัตรทอง ในเบื้องต้นกันก่อน

การสมัครใช้สิทธิ

  • บัตรทอง : เป็นสิทธิพื้นฐานที่มีทุกคนตั้งแต่เกิด ในกรณีที่ไม่ได้ใช้สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม

  • ประกันสังคม : ต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตราต่าง ๆ ซึ่งมี 3 มาตราหลัก คือ

    • ประกันสังคม มาตรา 33 สำหรับมนุษย์เงินเดือน ลูกจ้างที่มีนายจ้าง 

    • ประกันสังคม มาตรา 39 สำหรับคนที่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้วลาออก

    • ประกันสังคม มาตรา 40 คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ที่สมัครใจเป็นผู้ประกันตนเอง แต่มาตรานี้จะไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล จึงต้องใช้บัตรทอง

การจ่ายเงินสมทบ

  • บัตรทอง : ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ

  • ประกันสังคม  : 

    • ประกันสังคม มาตรา 33 จ่ายเงินสมทบ 5% ของค่าจ้าง/เดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน 

    • ประกันสังคม มาตรา 39 จ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือน

    • ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเงินสมทบ 70-300 บาท/เดือน

สถานรักษาพยาบาล

  • บัตรทอง : รักษาได้กับสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ หรือรักษาได้ทุกที่ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น, รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน รพ. รัฐประจำอำเภอหรือจังหวัดในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงร้านยาและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่   

  • ประกันสังคม : รักษาได้เฉพาะสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลอื่นได้ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง โดยสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคม (ตามอัตราที่กำหนด) 
     

บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ ปี 2568 รักษาที่ไหนได้บ้าง ใช้นอกพื้นที่ได้ไหม

การย้ายสิทธิ

  • บัตรทอง : สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการประจำตัวได้ 4 ครั้ง/ปี 

  • ประกันสังคม : สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นปี ยกเว้นในกรณีย้ายบ้านหรือย้ายสถานที่ทำงาน สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
     

เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2568 ได้เมื่อไหร่ รวมวิธีย้ายสิทธิประกันสังคมผ่านออนไลน์

เงินชดเชยหรือเงินทดแทนกรณีต่าง ๆ

  • บัตรทอง : ไม่มี 

  • ประกันสังคม : 

    • ประกันสังคม มาตรา 33 มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ, เสียชีวิต, คลอดบุตร, เงินสงเคราะห์บุตร, เงินชราภาพ และกรณีว่างงาน

    • ประกันสังคม มาตรา 39 มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ, เสียชีวิต, คลอดบุตร, เงินสงเคราะห์บุตร และเงินชราภาพ

    • ประกันสังคม มาตรา 40 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้, เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต, เงินสงเคราะห์บุตร และเงินบำเหน็จชราภาพ (ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่สมัคร)
       

ประกันสังคม จ่ายเท่าไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง สรุปทุกสิทธิและวิธีเช็กสิทธิประกันสังคม มาตรา 33, 39, 40

ระยะเวลาคุ้มครอง :

  • บัตรทอง : ใช้ได้ตลอดเวลา 

  • ประกันสังคม : สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่อลาออกจากความเป็นผู้ประกันตน รวมถึงกรณีขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือน 

ทีนี้ก็มาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีทันตกรรม ว่าแต่ละสิทธิสามารถรักษาอะไรได้บ้าง

สิทธิบัตรทอง VS ประกันสังคม
เปรียบเทียบกรณีทำฟัน

เปรียบเทียบประกันสังคมกับบัตรทอง กรณีทำฟัน

ผู้ใช้สิทธิทันตกรรม

  • บัตรทอง : ใช้ได้ทุกคนที่มีบัตรทอง

  • ประกันสังคม : ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น (ไม่รวมผู้ประกันตนมาตรา 40) โดยผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทำฟัน  

สถานรักษาพยาบาลกรณีทันตกรรม

  • บัตรทอง : หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช., คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น สปสช.

  • ประกันสังคม : หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หรือโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม 

วงเงินการรักษา

  • บัตรทอง : 

    • สามารถรักษาได้ตามสภาวะโรคจริงโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำกัดวงเงิน เมื่อรักษาในโรงพยาบาลรัฐ และหน่วยบริการในเครือ สปสช.  

    • กรณีรักษาในคลินิกทันตกรรมเอกชนที่ร่วมโครงการ สามารถรักษาได้ฟรีปีละ 3 ครั้ง (เฉพาะการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์) แต่หากต้องรักษาครั้งที่ 4 เป็นต้นไป หรือการรักษาที่คลินิกทันตกรรมเอกชนไม่ครอบคลุม สามารถไปรักษาต่อในโรงพยาบาลรัฐบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

  • ประกันสังคม : ใช้สำหรับการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด วงเงินรวมไม่เกิน 900 บาท/ปี แต่หากค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินตรงนั้นเอง เช่น ถ้าค่าขูดหินปูน 1,000 บาท ผู้ประกันตนต้องออกเอง 100 บาท  

สิทธิบัตรทอง ทำฟัน

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ตรวจฟัน

  • บัตรทอง : ตรวจวินิจฉัยโรค เอกซเรย์ฟัน รวมถึงการให้ยาก่อนและหลังการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • ประกันสังคม : ตรวจฟันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากมีการเอกซเรย์ฟันหรือให้ยาก่อนและหลังการรักษาต้องจ่ายเงินเอง

เคลือบฟลูออไรด์

  • บัตรทอง : รักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • ประกันสังคม : ไม่รวมอยู่ในสิทธิ ดังนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 

ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด

  • บัตรทอง : รักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  

  • ประกันสังคม : รักษาได้ในวงเงินไม่เกิน 900 บาท/ปี หากมีส่วนเกินจะต้องจ่ายเอง 

รักษาโรคเหงือก ปริทันต์

  • บัตรทอง : รักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  

  • ประกันสังคม : ไม่รวมอยู่ในสิทธิ ดังนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

การใส่ฟันเทียม ฟันปลอม

  • บัตรทอง : ใส่ฟันเทียมฐานอะคริลิกได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

  • ประกันสังคม : 

    • ใส่ฟันเทียมฐานอะคริลิกชนิดถอดได้บางส่วน จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,300 บาท

    • ใส่ฟันเทียมฐานอะคริลิกชนิดถอดได้บางส่วน จำนวนมากกว่า 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,500 บาท

    • ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

    • ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

          นอกจากนี้ผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายค่าใส่ฟันปลอมไปก่อน จากนั้นค่อยนำเอกสารและใบเสร็จรับเงินไปติดต่อเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่

รักษารากฟัน

  • บัตรทอง : รักษารากฟันแท้ ใส่รากฟันเทียม ไม่เสียค่าใช้จ่าย  

  • ประกันสังคม : ไม่รวมอยู่ในสิทธิ ดังนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 

ศัลยศาสตร์ช่องปาก

  • บัตรทอง : รักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  

  • ประกันสังคม : ไม่รวมอยู่ในสิทธิ ดังนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
ตารางเทียบสิทธิประกันสังคมกับบัตรทองอันไหนดีกว่า

           จะเห็นว่าสิทธิประกันสังคมกับบัตรทองในด้านทันตกรรมมีความแตกต่างกันในหลายกรณี ที่เห็นชัดก็คือวงเงินค่ารักษาที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมใช้ได้จำกัดเพียงปีละ 900 บาท ซึ่งอาจรักษาได้เพียงรายการเดียวก็ครบวงเงินแล้ว ในขณะที่สิทธิบัตรทองไม่ได้จำกัดวงเงินและจำนวนครั้งในการรักษา ด้วยเหตุนี้จึงมีภาคประชาชนพยายามเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมให้เทียบเท่ากับบัตรทอง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทางช่องปากให้ผู้ประกันตนได้ดียิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม VS บัตรทอง ให้สิทธิประโยชน์ทำฟันต่างกันอย่างไร รักษาอะไรฟรี หรือต้องจ่ายเอง ! อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 22:16:31 4,843 อ่าน
TOP
x close