คนไทยทุกคนมีสิทธิบัตรทองมาตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว เพราะเป็นหลักประกันสุขภาพ ที่รัฐจัดสรรให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งก่อนหน้านี้เราสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่ตนเองเลือกเท่านั้น (เหมือนกับสิทธิประกันสังคมในปัจจุบัน) หากจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นต้องมีใบส่งตัวจากสถานพยาบาลเดิมก่อนจึงเข้ารับการรักษาได้
ทว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิบัตรทองด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้อย่างสะดวกขึ้น วันนี้จึงชวนทุกคนมาเช็กสิทธิของตัวเองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาจะสามารถไปใช้บริการที่ไหนได้บ้าง แล้วจะสามารถเข้าโรงพยาบาลข้ามเขตจังหวัดหรือนอกพื้นที่ได้หรือไม่
บัตรทองกับบัตร 30 บาท
ต่างกันอย่างไร
บัตรทองและบัตร 30 บาท ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะคือสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่นเดียวกัน แต่คนอาจเรียกได้หลายชื่อ คือ
-
บัตร 30 บาท : เดิมเป็นนโยบายบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค คือเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วมีค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง ทำให้คนจำชื่อนี้ติดปาก
-
บัตรทอง : ภายหลังได้มีการพัฒนาบัตรประจำตัวของผู้ใช้สิทธิ 30 บาท ให้เป็นบัตรพลาสติกสีเหลืองทอง คนจึงเรียกกันติดปากว่าบัตรทอง
-
บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า : เป็นชื่อเรียกที่เป็นทางการมากที่สุด โดยหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่ได้ใช้บัตร 30 บาท หรือบัตรทองแล้ว แต่สามารถใช้บัตรประชาชนยื่นสถานพยาบาลเพื่อเข้ารักษาได้เลย
บัตรทองรักษาทุกที่
จังหวัดไหนบ้าง ปี 2567
จากข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 ผู้มีบัตรทองสามารถใช้สิทธิบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ใน 46 จังหวัดต่อไปนี้
-
จังหวัดนครราชสีมา
-
จังหวัดนครสวรรค์
-
จังหวัดพังงา
-
จังหวัดเพชรบูรณ์
-
จังหวัดสระแก้ว
-
จังหวัดสิงห์บุรี
-
จังหวัดหนองบัวลำภู
-
จังหวัดอำนาจเจริญ
-
จังหวัดเชียงใหม่
-
จังหวัดเชียงราย
-
จังหวัดน่าน
-
จังหวัดพะเยา
-
จังหวัดลำปาง
-
จังหวัดลำพูน
-
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
-
จังหวัดกำแพงเพชร
-
จังหวัดพิจิตร
-
จังหวัดชัยนาท
-
จังหวัดอุทัยธานี
-
จังหวัดสระบุรี
-
จังหวัดนนทบุรี
-
จังหวัดลพบุรี
-
จังหวัดอ่างทอง
-
จังหวัดนครนายก
-
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
-
จังหวัดปทุมธานี
-
จังหวัดอุดรธานี
-
จังหวัดสกลนคร
-
จังหวัดนครพนม
-
จังหวัดเลย
-
จังหวัดหนองคาย
-
จังหวัดบึงกาฬ
-
จังหวัดชัยภูมิ
-
จังหวัดบุรีรัมย์
-
จังหวัดสุรินทร์
-
จังหวัดสงขลา
-
จังหวัดสตูล
-
จังหวัดตรัง
-
จังหวัดพัทลุง
-
จังหวัดปัตตานี
-
จังหวัดยะลา
-
จังหวัดร้อยเอ็ด
-
จังหวัดแพร่
-
จังหวัดเพชรบุรี
-
จังหวัดนราธิวาส
-
กรุงเทพมหานคร
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
บัตรทองใช้ได้ที่ไหนบ้าง
นอกพื้นที่ได้ไหม
สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในจังหวัดที่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้แล้ว สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทั้งในสถานพยาบาลในจังหวัดและข้ามจังหวัด โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว แต่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว เพื่อความสะดวกและลดการแออัดในโรงพยาบาลใหญ่
ทั้งนี้ สามารถสังเกต “โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อเข้ารับบริการได้ โดยหน่วยบริการที่มีโลโก้ดังกล่าวคือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด ขณะที่ใน กทม. หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุขขั้นตอนการใช้สิทธิ
กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย
1. หน่วยบริการประจำ
2. หน่วยบริการปฐมภูมิ (ได้ทุกแห่ง)
-
พื้นที่ กทม. รับการรักษาได้ที่
-
ศูนย์บริการสาธารณสุข
-
คลินิกชุมชนอบอุ่น รับบริการทำแผล ล้างตา ล้างจมูก เปลี่ยนสายให้อาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ และตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ รับยาเม็ดคุมกำเนิด/ถุงยางอนามัย/ชุดทดสอบการตั้งครรภ์/ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก/กรดโฟลิกป้องกันโลหิตจาง ตรวจคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต
-
หน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์
-
ทั้งนี้ หากเป็นโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น ๆ เช่น กทม. กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการรับ-ส่งต่อที่จะต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารักษา
-
ต่างจังหวัด รับการรักษาได้ที่
-
รพ.สต.
-
สถานีอนามัย
-
ศูนย์สุขภาพชุมชน
-
โรงพยาบาลรัฐประจำอำเภอ/จังหวัด (สังกัดกระทรวงสาธารณสุข)
-
3. ร้านยาหรือคลินิกเอกชน
-
คลินิกหมอ
-
คลินิกหมอฟัน รับบริการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ (ปีละ 3 ครั้ง)
-
คลินิกกายภาพบำบัด รับบริการกายภาพบำบัดในผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และกระดูกสะโพกหัก
-
คลินิกแพทย์แผนไทย รับบริการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ 4 กลุ่ม ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคสันนิบาต และฟื้นฟูมารดาหลังคลอด
-
คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ตรวจแล็บ-เจาะเลือด)
-
คลินิกพยาบาล
-
ร้านยาคุณภาพ รับบริการปรึกษาเภสัชกรและรับยาในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ
-
บริการสุขภาพเชิงรุก (เช่น ทันตกรรมในชุมชน ตรวจสุขภาพในห้าง)
ฯลฯ
ขั้นตอนการใช้สิทธิ
กรณีเจ็บป่วยมาก
สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่
1. โรงพยาบาลประจำของผู้ป่วย หรือ
2. ร้านยาหรือคลินิกเอกชน แล้วส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายด้วยระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนการใช้สิทธิ
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
-
อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่ถึงขั้นวิกฤต สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.
-
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต เช่น หมดสติ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอกรุนแรง สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด (ใช้สิทธิ UCEP)
สิทธิ UCEP และ UCEP Plus เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตแบบไหน รักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล ?
บัตรทองรักษาได้ทุกโรงพยาบาลไหม
บัตรทองไม่สามารถใช้สิทธิได้ทุกโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิก ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการของ สปสช. ซึ่งมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้ที่เว็บไซต์ nhso.go.th
บทความที่เกี่ยวข้องกับบัตรทอง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพ, thecoverage.info