น้ำเข้าหู เกิดขึ้นได้กับทุกคน แถมบางคนยังมีอาการนี้บ่อย ๆ พร้อมกับอาการหูอื้อ ปวดหู ร่วมด้วย แล้วแบบนี้จะแก้ยังไงให้หาย
วิธีแก้น้ำเข้าหู หลายคนอาจเคยลองด้วยการเอียงศีรษะ แล้วกระโดดไป-มา เพื่อเอาน้ำออกจากหูให้ได้ ทว่านอกจากวิธีนี้แล้วเรายังสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ช่วยเอาน้ำที่เข้าหูออกได้ไหม อีกทั้งในคนที่มีอาการหูอื้อไม่หาย คงกังวลใจ และสงสัยว่าต้องพบแพทย์ไหม หรือมีวิธีแก้หูอื้อยังไงได้อีกบ้าง มาติดตามกัน
ถ้ามีน้ำเข้าหู ไม่ว่าจะหลังจากการอาบน้ำ สระผม ว่ายน้ำ ดำน้ำ รวมไปถึงการล้างจมูก มักจะพบว่ามีอาการ เช่น รู้สึกเย็น ๆ ในหู รู้สึกแฉะ ๆ เหมือนมีอะไรอยู่ในหู ได้ยินเสียงในหู หูอื้อไม่หาย การได้ยินลดลง หรือบางรายมีอาการปวดหู ปวดหัวร่วมด้วย
โดยปกติแล้วน้ำเข้าหูเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็ควรระวังไว้หน่อย เพราะหูชั้นนอกที่เปียกชื้นจากน้ำจะเพิ่มโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งหากพยายามเอาสำลีก้านหรือวัสดุใด ๆ แหย่เข้าไปในหูเพื่อให้น้ำในหูออกมา ก็อาจเกิดรอยถลอกและแผลที่หูชั้นนอก นำไปสู่อาการติดเชื้อและหูชั้นนอกอักเสบได้ อีกทั้งวิธีนี้ก็จะทำให้เกิดขี้หูอุดตันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้หากน้ำไหลไปรวมกับขี้หูและทำให้ขี้หูมีขนาดใหญ่ขึ้นจนปิดกั้นช่องหู จะส่งผลให้มีอาการหูอื้อ ปวดหู ปวดหัวตามมา ถ้ายิ่งแคะหูก็จะยิ่งดันขี้หูให้เข้าไปลึกขึ้นอีก กลายเป็นขี้หูอุดตันมากกว่าเดิม
วิธีแก้น้ำเข้าหู ทำไงได้บ้าง
หากมีน้ำเข้าหูก็สามารถแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. เอียงศีรษะไปด้านข้าง
ให้เอียงหูข้างที่มีน้ำอยู่ลงต่ำ ดึงใบหูกางให้เฉียงไปทางด้านหลัง เพื่อให้ช่องหูที่โค้งเป็นรูปตัว S มีลักษณะตรงจนน้ำในหูไหลออกมาได้ง่าย หรือจะเขย่าตัวเบา ๆ ช่วยให้น้ำไหลออกมาไวขึ้นก็ได้
2. เอียงศีรษะ เอาฝ่ามือดัน
วิธีนี้ให้เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าหูลงแนบกับฝ่ามือ จัดท่าให้ศีรษะขนานกับพื้น จากนั้นออกแรงใช้ฝ่ามือกดที่หูเบา ๆ แล้วคลายมือออก สักพักน้ำในหูก็จะไหลออกมาได้
3. หายใจ ปิดปาก
เริ่มจากสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และใช้มือปิดปากให้สนิท จากนั้นใช้มืออีกข้างบีบจมูกให้แน่น และเอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าลงขนานกับพื้น แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกเบา ๆ พยายามอย่าหายใจออกแรง ๆ เพราะอาจสะเทือนไปถึงแก้วหูได้
4. ใช้ผ้าขนหูซับใบหู
นอนตะแคง เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าหูลงบนผ้าขนหนูสะอาด ๆ เพื่อซับน้ำออกจากรูหู แต่ควรใช้ผ้าเช็ดแค่ใบหูและรูหูภายนอกเท่านั้น ไม่ควรแหย่เข้าไปในรูหู
5. เป่าด้วยไดร์
ถ้ามีไดร์เป่าผมก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยเปิดแค่ลมเย็นในระดับเบาที่สุด ถือให้ห่างจากหูประมาณ 1 ฟุต เป่าไปในหูเบา ๆ เพื่อช่วยให้น้ำในหูระเหยไวขึ้น
หากลองวิธีแก้น้ำเข้าหูตามนี้แล้วยังไม่หาย ก็ยังมียาที่ใช้รักษาน้ำเข้าหูอีกหนึ่งทางเลือก
ยารักษาน้ำเข้าหู มีอะไรบ้าง
ในทางการแพทย์จะมีวิธีแก้น้ำเข้าหูด้วยการหยอดยาชนิดแอลกอฮอล์ หรือยาหยอดหูชนิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งจะช่วยทำความสะอาดหูและไล่น้ำในหูออกมา
น้ำเข้าหู แคะหูช่วยได้ไหม
ไม่ควรใช้ก้านสำลี ไม้แคะหู นิ้วมือ หรือวัสดุใด ๆ แหย่ลงไปในหูเพื่อเอาน้ำออกมา เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะดันขี้หูให้อุดตันในรูหูได้ อีกทั้งการแคะหูยังเสี่ยงเกิดแผล ทำให้ติดเชื้อและอักเสบตามมาด้วย
น้ำเข้าหู หายเองได้ไหม กี่วันหาย
โดยปกติแล้วน้ำเข้าหูสามารถหายได้เองภายใน 1-3 วัน โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ ทว่าหากมีอาการต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
-
หูอื้อไม่หาย
-
มีน้ำในหูนานกว่า 1 สัปดาห์
-
มีอาการคันในช่องหู
-
ภายในช่องหูเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือบวม
-
รู้สึกเจ็บเวลาดึงหูชั้นนอก หรือเจ็บเวลากดตรงด้านหน้าหู
-
มีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู
น้ำเข้าหู หูอื้อไม่หาย ทำไงดี
หากน้ำเข้าหูลึกมาก จนทำให้หูอื้อไม่หาย หรือยังรู้สึกว่ามีน้ำในหูอยู่ตลอดหลายวัน แบบนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อใช้วิธีทางการแพทย์ช่วยรักษา ซึ่งนอกจากยาหยอดหูแล้วแพทย์ก็ยังมีเครื่องมือที่ช่วยดูดน้ำในหูออกด้วย
น้ำเข้าหู ป้องกันได้ง่าย ๆ
ถ้าไม่อยากมีปัญหาน้ำเข้าหู สามารถเลือกใช้วิธีที่ช่วยป้องกันน้ำเข้าหูเราได้ เช่น
-
สวมใส่หมวกอาบน้ำ และดึงลงมาให้คลุมใบหูทุกครั้งเมื่ออาบน้ำหรือสระผม
-
ใส่ที่อุดหู (ear plug) เมื่อต้องทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือเล่นน้ำ
-
ใช้วัสดุอุดหู (ear mold) หากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ หรือต้องทำกิจกรรมทางน้ำบ่อย ๆ หรือมีปัญหาช่องหู เช่น เป็นหูน้ำหนวก ป่วยโรคเยื่อบุแก้วหูทะลุ ใส่ท่อระบายที่เยื่อแก้วหู หรือมักมีอาการหูอักเสบบ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำเข้าหูเป็นสิ่งที่เราป้องกันได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น หากไม่อยากเจอปัญหาหูอักเสบ ขี้หูอุดตัน หรือการติดเชื้อใด ๆ ในหู ก็พยายามป้องกันน้ำเข้าหูตามที่แนะนำจะดีที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการทางช่องหู