วิธีกินกระเทียมให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ กินถูกวิธีช่วยลดไขมันได้

           วิธีกินกระเทียมให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ต้องรู้วิธีดึงสารอัลลิซินออกมาจากกระเทียมให้ได้มากที่สุด
วิธีกินกระเทียม

           กระเทียม เป็นสมุนไพรไทย ที่ไม่ได้มีดีแค่เพิ่มรสชาติให้กับอาหารเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพไม่น้อย ทว่าก็ต้องรู้วิธีรับประทานกระเทียมเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ด้วยนะ ว่าแล้วก็ตามมาดูกันว่าต้องกินกระเทียมอย่างไรถึงได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ประโยชน์ของกระเทียม

ประโยชน์ของกระเทียม

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประโยชน์ของกระเทียมกันก่อน โดยพระเอกของงานนี้คือ สารอัลลิซิน (Allicin) ที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นฉุนและมีรสชาติเฉพาะตัว อีกทั้งยังถือเป็นสารสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสรรพคุณทางยาของกระเทียมอีกด้วย โดยสารอัลลิซินมีประโยชน์ดังนี้

  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลดี (HDL) ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ 

  • ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง

  • มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส  

  • ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

  • ลดความเสี่ยงการป่วยไข้หวัด รวมถึงลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคหวัด

  • อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับสารอัลลิซินอย่างเต็มที่ ต้องทราบวิธีกินกระเทียมที่ถูกต้องด้วยนะ

วิธีกินกระเทียม
ให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

วิธีกินกระเทียมที่ถูกต้อง

          หากต้องการรับประทานกระเทียมเพื่อให้ได้สารอาหารดี ๆ นี่คือเคล็ดลับในการดึงประโยชน์จากกระเทียมให้มากที่สุด

1. กินกระเทียมสด

          ในกระเทียมดิบหรือกระเทียมสดจะมีสารอัลลิซิน รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ มากกว่ากระเทียมที่ปรุงผ่านความร้อนแล้ว นั่นเพราะความร้อนไปทำลายสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ให้ลดน้อยลง ดังนั้น การกินกระเทียมสดจึงได้รับสารอาหารมากกว่า

          ทว่าข้อเสียของการกินกระเทียมสดคือ ในบางคนอาจมีอาการแสบท้อง หรือระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากใครมีปัญหาเช่นนี้และไม่สามารถกินกระเทียมสดได้ แนะนำให้กินกระเทียมปรุงสุกแทนค่ะ

2. สับหรือบดกระเทียมก่อนกิน

บดกระเทียม

           แม้จะพบสารอัลลิซินในกระเทียมสด แต่ถ้ากินกระเทียมทั้งกลีบอาจไม่ได้รับสารชนิดนี้เท่าที่ควร เพราะสารอัลลิซินจะก่อตัวขึ้นเมื่อกลีบกระเทียมถูกสับ ตำ บด ซึ่งเป็นการทำลายผนังเซลล์ของกระเทียมให้ปลดปล่อยสารอัลลิซินออกมา หมายความว่ายิ่งสับหรือบดละเอียดเท่าไร สารชนิดนี้ก็ยิ่งออกมามากขึ้นเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีรสชาติฉุนกว่าปกติด้วย หากใครรับประทานไม่ไหวก็สามารถบดกระเทียมกับเกลือเล็กน้อยเพื่อช่วยลดรสชาติที่รุนแรง

3. พักกระเทียมไว้ 10-15 นาที หลังสับ

          หลังจากตำ บด หรือสับกระเทียมเสร็จแล้ว ให้ปล่อยกระเทียมทิ้งไว้สัก 10-15 นาที ก่อนนำไปปรุงอาหาร หรือจะนำไปแช่ในน้ำอุ่น 10-15 นาทีก็ได้ จะช่วยเพิ่มปริมาณสารอัลลิซินให้มากขึ้น

4. หากจะกินกระเทียมสุก ให้ปรุงด้วยไฟอ่อน ๆ

           ในกรณีที่ไม่สามารถกินกระเทียมสดได้ เพราะมีอาการแสบท้อง หรือกังวลเรื่องกลิ่นปาก เราก็สามารถปรุงกระเทียมให้สุกโดยผัดไฟอ่อน ๆ อบ ตุ๋น หรือผสมกระเทียมลงในอาหารเมื่อใกล้จะสุกแล้ว แม้ว่าสารอัลลิซินบางส่วนจะถูกความร้อนสลายไปบ้าง แต่ก็ยังได้รับประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพอยู่พอสมควรค่ะ

วิธีกินกระเทียมสดลดไขมัน

วิธีกินกระเทียมสดลดไขมัน

         สำหรับคนที่ต้องการกินกระเทียมสดลดไขมัน สามารถนำกระเทียม 1-2 กลีบ มาบดหรือสับให้ละเอียดได้ประมาณ 1 ช้อนชา พักทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำไปรับประทานร่วมกับอาหารได้ แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 1-2 กลีบต่อวันนะคะ เพราะหากรับประทานมากกว่านี้อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร หรือถ้าไม่สามารถกินกระเทียมสดได้ก็สามารถนำไปปรุงโดยผ่านความร้อนน้อย ๆ แล้วรับประทานเป็นอาหารได้เช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมาก ๆ หรือเป็นโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าต้องกินกระเทียมในปริมาณเท่าไรถึงมีส่วนช่วยลดไขมันในเลือดได้ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าการรับประทานมากเกินไปจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ข้อควรระวังเมื่อกินกระเทียม

  • กระเทียมมีฤทธิ์ร้อน จึงไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง เพราะทำให้แสบกระเพาะอาหาร

  • ควรรับประทานกระเทียมให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร เช่น ผสมลงในเมนูต่าง ๆ แต่หลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียมเพื่อหวังให้เป็นยาช่วยรักษาโรค หรือเพื่อลดไขมัน ลดความดันโลหิต โดยไม่ได้ควบคุมอาหารหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

  • ไม่ควรกินกระเทียมมากเกินไปหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งปัญหากลิ่นปาก 

  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนควรระมัดระวังในการรับประทาน

  • ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ไม่ควรรับประทานกระเทียม เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาให้มากขึ้น ทำให้เลือดออกได้ง่าย

  • กระเทียมอาจยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์การดูดซึมยาบางชนิด ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัว รวมถึงยาลดไขมันในเลือด ควรระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานกระเทียม

           กระเทียมถือเป็นสุดยอดสมุนไพรพื้นบ้านที่หาซื้อง่าย ปลอดภัย มีสรรพคุณที่ดีหลายด้าน ครั้งหน้าลองปรับเปลี่ยนการกินด้วยการเพิ่มกระเทียมลงไปในมื้ออาหาร เพื่อรับประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพดูนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับกระเทียม

ขอบคุณข้อมูลจาก : ชัวร์ก่อนแชร์, healthline.com (1), (2), (3), verywellhealth, eatingwell.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีกินกระเทียมให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ กินถูกวิธีช่วยลดไขมันได้ อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2567 เวลา 10:52:04 85,220 อ่าน
TOP
x close