เบียร์ เหล้า ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ ไม่ควรกินคู่กับอะไร เช็กก่อนเสี่ยงตาย !

           เบียร์ เหล้า ไวน์ รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย กับอาหารหรือยาบางชนิดก็ไม่ถูกกัน กินคู่กันอาจมีผลเสียต่อสุขภาพหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาต่าง ๆ ได้
เบียร์ เหล้า ไวน์

           เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักถูกนำไปกินคู่กับอาหารหรือกับแกล้มบางอย่าง ทว่าก็จำเป็นต้องเลือกกินสักหน่อย เพราะอาหารบางชนิดกลับเพิ่มผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย หรือทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ตามมาได้ ลองมาดูกันว่า อาหารที่ห้ามกินคู่กันกับแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง

ทำไมถึงไม่ควรกินอาหารบางชนิดกับแอลกอฮอล์

เบียร์

          การกินอาหารบางชนิดร่วมกับแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้ระบบของร่างกายทำงานหนักขึ้น ทั้งการทำงานของระบบย่อยอาหาร เพิ่มภาระให้ตับ และการปรับสมดุลน้ำในร่างกาย ทำให้ขาดน้ำ อีกทั้งยังเร่งการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด หรือกระตุ้นความรุนแรงของโรคบางโรค

          นอกจากนี้ สารต่าง ๆ ของอาหาร-ยาบางตัว และเครื่องดื่มแอลกฮอล์ อาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันและส่งผลให้ร่างกายผิดปกติไป เช่น เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร หรือส่งผลในด้านกดการหายใจ กดการทำงานของสมอง เป็นต้น

          ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยก็ควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีผลต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ไม่ควรกินกับอะไร

           มาดูกันว่า เบียร์ เหล้า ไวน์ รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย ไม่ควรกินกับอะไรบ้าง

1. ทุเรียน

ทุเรียน

          การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับทุเรียน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการดื่ม อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เพราะกำมะถันในทุเรียนจะเสริมฤทธิ์แอลกอฮอล์ รวมกันทำให้เกิดสารแอลดีไฮด์เพิ่มขึ้น ร่างกายจะเกิดความร้อนสูงมากกว่าปกติ บวกกับแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิสูงขึ้น ก่อให้เกิดอาการหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ชา วิงเวียน อาเจียน หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
 

ทุเรียนไม่ควรกินกับอะไร 5 อาหารที่ควรจำไว้ว่าอย่ากินคู่กับทุเรียน

2. อาหารรสจัด

หม่าล่า

           โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน พวกเมนูยำ หม่าล่า ส้มตำ ต้มแซ่บเผ็ด ๆ เพราะความเผ็ดร้อนจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ในขณะที่ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ก็ส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดเช่นกัน ดังนั้น หากกินคู่กันอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ในบางคน โดยเฉพาะกับคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว

3. อาหารไขมันสูง

อาหารไขมันสูง

           การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงจะยิ่งทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น เพราะแอลกอฮอล์ไปรบกวนกระบวนการย่อยสลายไขมันในร่างกาย ไขมันจึงสะสมในเลือดมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังกระตุ้นให้ตับสร้างอนุภาคไขมัน (VLDL) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของไตรกลีเซอไรด์สูงอีกด้วย ดังนั้น คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ พร้อมกับรับประทานอาหารไขมันสูง อาจเกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ และภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคอ้วน

4. เบียร์+เหล้าขาว

เบียร์ เหล้าขาว

           กินเบียร์กับเหล้าขาว หรือเบียร์กับโซจู เป็นสูตรผสมเครื่องดื่มสุดฮิตในโซเชียล ซึ่งต้องเตือนว่าไม่ควรผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน เพราะเมื่อดื่มเข้าไป แอลกอฮอล์ปริมาณมากที่เข้าสู่ร่างกายก็จะไปเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงอย่างรวดเร็ว เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก เซลล์สมองจะถูกทำลาย การทำงานของระบบประสาทลดลง และหากเป็นคนชอบดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเป็นประจำทุกวันก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมไปถึงโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

5. กัญชา

กัญชา

           การใช้กัญชาและแอลกอฮอล์ร่วมกันจะเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดภัยต่อสุขภาพได้หลายประการ เช่น มีอาการมึนเมาที่รุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น การทำงานของสมองช้าลง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ ความคิดความอ่าน การยับยั้งชั่งใจ และอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรงขึ้นได้ อีกทั้งยังพบว่าการใช้กัญชาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงการเสพติด โดยอาจทำให้อยากดื่มมากขึ้น หรืออยากเสพกัญชาเพิ่มขึ้น ซึ่งหากพลาดดื่มในปริมาณมาก ๆ ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลย

6. กระท่อม

กระท่อม

           นอกจากกัญชาแล้ว การใช้กระท่อมร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็พาเสี่ยงตายได้เหมือนกัน เพราะจะให้สารที่มีฤทธิ์กดการหายใจ โดยเฉพาะหากดื่มในปริมาณมาก หรือใช้กระท่อมในโดสสูง ๆ อาจหยุดหายใจได้เลย หรือแม้ว่าจะรอดชีวิตมาได้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงการเสพติดของเหล่านี้มากขึ้น เป็นภัยต่อสุขภาพในระยะยาว

7. ยาบางชนิด

ยา

          โดยจะมี 5 กลุ่มหลัก ๆ ที่ควรเลี่ยงเมื่อคิดจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้

  • ยาแก้แพ้บางชนิด เช่น Chlorpheniramine, Dimenhydrinate, Brompheniramine, Hydroxyzine อาจเพิ่มความเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับ 

  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท อย่างยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Sertraline, ยานอนหลับ-ยาคลายกังวล เช่น Diazepam, Lorazepam และยาคลายกล้ามเนื้อ หากกินพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มอาการง่วงซึม หรือเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน

  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Metronidazole, Tinidazole หากกินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเกิดอาการหน้าแดง ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน หายใจติดขัด สับสน มึนงง วิตกกังวล 

  • ยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น Glipizide หรือ Glyburide ซึ่งจะทำปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ และก่อให้เกิดอาการไม่สบาย เช่น หน้าแดง วิงเวียน อาเจียน หายใจติดขัด มึนงง สับสน เป็นต้น

  • ยาที่มีผลเสียต่อตับ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยารักษาวัณโรค ที่หากกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานานจะเสี่ยงเกิดพิษต่อตับ ส่วนคนที่มีภาวะไตวาย หรือเป็นพิษสุราเรื้อรังที่การทำงานของตับบกพร่องอยู่แล้ว อาจเพิ่มความเสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้หากกินยานี้คู่กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม
          เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายเป็นกลุ่มที่ทำลายสุขภาพเราได้อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องดื่มจริง ๆ ก็ควรระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้มากด้วย อะไรเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง อย่างอาหาร ยา และสารเสพติดบางอย่างที่เรานำเสนอไป อีกทั้งหากดื่มเมื่อไรก็อย่าขับขี่นะคะ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

บทความที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบียร์ เหล้า ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ ไม่ควรกินคู่กับอะไร เช็กก่อนเสี่ยงตาย ! อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2568 เวลา 11:34:15 2,393 อ่าน
TOP
x close