การดื่มมัทฉะคู่กับอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แม้มัทฉะจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะดื่ม

มัทฉะเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มชาเขียวที่มีมานาน แต่การตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของมัทฉะอย่างจริงจังเพิ่งจะบูมขึ้นในยุคนี้ และก่อนที่จะฮิตกินตามกระแส อยากให้เช็กดี ๆ ว่ามัทฉะไม่เหมาะกับใคร หรือคนที่ดื่มได้ก็ไม่ควรกินมัทฉะกับอะไรบ้าง
มัทฉะไม่ควรกินกับอะไร
การบริโภคมัทฉะอย่างไม่ถูกต้อง หรือกินคู่กับอาหารที่ไม่เหมาะสม อาจได้รับโทษของชาเขียวมัทฉะที่ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าจะได้ประโยชน์ ลองมาดูกันว่าไม่ควรกินมัทฉะกับอะไรบ้าง
1. ไม่ควรกินมัทฉะกับนมวัว

ใครที่กินเมนูมัทฉะลาเต้ที่ใช้นมวัวมาผสมกับมัทฉะ แนะนำให้หยุดการกระทำนั้นแล้วเปลี่ยนมาดื่มมัทฉะเพียว ๆ หรือดื่มมัทฉะกับนมที่ได้จากพืชแทนดีกว่า อย่างนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมโอ๊ต เพราะโปรตีนในนมวัวที่เรียกว่า เคซีน อาจไปยับยั้งการดูดซึมสารสำคัญบางตัวในมัทฉะ เช่น คาเทชิน (catechins) ทำให้ประโยชน์ของมัทฉะลดลงไป
2. ไม่ควรกินมัทฉะกับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

สารแทนนินและคาเทชินในมัทฉะอาจขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย ดังนั้น หากต้องการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มมัทฉะไปก่อน หรือเว้นระยะไปสัก 2-3 ชั่วโมงจึงค่อยดื่มมัทฉะ
3. ไม่ควรกินมัทฉะกับชา กาแฟ หรือโกโก้

โดยเฉพาะเมนูที่จับเอามัทฉะมาผสมรวมกันในแก้วเดียว เพราะเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับคาเฟอีนเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งหากเป็นคนที่ดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม น้ำชงต่าง ๆ วันละหลายแก้วเพื่อบูสต์ความตื่นตัว ยิ่งต้องระวังเมนูมัทฉะที่มาคู่กันกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ โกโก้ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
4. ไม่ควรกินมัทฉะกับแอปเปิลไซเดอร์

สายรักสุขภาพหลายคนนิยมชงมัทฉะแล้วผสมแอปเปิลไซเดอร์ลงไปด้วย แต่ขอเตือนไว้เลยว่าคู่นี้ไม่ควรจะกินพร้อมกัน เพราะมัทฉะมีคาเฟอีนที่กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังมีแทนนินที่อาจก่ออาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มมัทฉะคู่กับแอปเปิลไซเดอร์ที่มีความเป็นกรดอยู่ในตัว โดยเฉพาะในช่วงท้องว่าง ไม่เช่นนั้นอาจต้องทรมานกับอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ หรือหนักถึงขั้นอาเจียนได้เลย
5. ไม่ควรกินมัทฉะกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แม้จะพบเมนูนี้ไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น หากไปพบเจอที่ไหนก็ยั้งใจตัวเองให้ดี ๆ เพราะการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างมัทฉะที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท คู่กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาท อาจเสี่ยงเจออาการเสียสมดุลของร่างกาย เช่น อาการเหน็บชาตามส่วนต่าง ๆ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ไม่มีแรง อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น
6. ไม่ควรกินมัทฉะกับยาและอาหารเสริมบางชนิด

การดื่มมัทฉะใกล้ ๆ กับการกินยาหรืออาหารเสริม เช่น ยาลดความดันโลหิต, ยาลดกรด, ยาต้านเศร้า, ยานอนหลับ, ยารักษาโรคสมาธิสั้น, ยาบำรุงเลือด, ยารักษาโรคหัวใจ, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือธาตุเหล็ก อาจทำให้ยากับมัทฉะตีกันได้ หรือถูกขัดขวางการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับยาหรือสารอาหารไม่เต็มที่
มัทฉะเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ แต่ก็ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการกินพร้อมกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมดังที่กล่าวไปข้างต้น ทีนี้ลองมาดูว่าใครที่ไม่เหมาะจะดื่มมัทฉะบ้าง
ใครที่ไม่ควรกินมัทฉะตามกระแส

ไม่ใช่ทุกคนที่จะดื่มมัทฉะแล้วให้ผลดี โดยเฉพาะคนในกลุ่มต่อไปนี้
1. ผู้ที่ไม่เคยดื่มมัทฉะมาก่อน
มัทฉะเป็นชาเขียวที่เก็บยอดชามาบดทั้งใบ เวลาที่ดื่มเป็นชาหรือผสมลงในอาหารก็เท่ากับว่าจะได้กินชาเขียวเต็มใบ ซึ่งจุดนี้อาจจะทำให้มัทฉะมีสารก่อภูมิแพ้ได้ ดังนั้น คนที่ยังไม่เคยดื่มมัทฉะมาก่อนเลย รวมไปถึงคนที่ไม่ค่อยได้ดื่มชาเขียวเท่าไร ควรระวังการดื่มมัทฉะ โดยอาจจะเริ่มกินในปริมาณน้อย ๆ เพื่อสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายก่อน
2. ผู้ที่ไวต่อคาเฟอีน
มัทฉะมีคาเฟอีนค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าชาเขียวทั่วไป ดังนั้น สำหรับคนที่มีความไวต่อคาเฟอีน แบบที่แค่ได้กลิ่นกาแฟก็ใจสั่น หรือดื่มชาเขียวก็รู้สึกกระวนกระวาย ดื่มแล้วตาค้างนอนไม่หลับ ควรระวังการดื่มมัทฉะที่อาจกระตุ้นอาการตอบสนองต่อคาเฟอีนของร่างกายด้วย
3. เด็ก
มัทฉะเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน นอกจากนี้ยังมีสารแทนนินที่ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโตของเด็กอย่างธาตุเหล็ก ดังนั้นจึงยังไม่ควรให้เด็กดื่มหรือบริโภคมัทฉะไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ

4. หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
โดยปกติหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เพราะคาเฟอีนอาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์และลูกที่ดื่มนมแม่ ด้วยเหตุนี้การรับประทานมัทฉะที่มีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียวจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของแม่ท้องได้เช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือมัทฉะมีสารแทนนิน ซึ่งจะไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก อันเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ด้วย
5. ผู้สูงอายุ
แม้จะเป็นกลุ่มที่ร่างกายควรได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณภาพ ทว่าอย่าลืมว่าเจ้าคาเฟอีนในมัทฉะอาจส่งผลให้คนวัยนี้มีปัญหาการนอนหลับยากเพิ่มขึ้นได้ และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุก็มักจะมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ดังนั้นจึงควรระวังการบริโภคมัทฉะเอาไว้ด้วย
6. ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ
การดื่มมัทฉะในช่วงเย็นหรือก่อนนอนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากมัทฉะมีสารคาเฟอีนที่สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ดังนั้น คนที่นอนไม่ค่อยหลับเป็นประจำ หรือเป็นคนนอนหลับยาก แนะนำให้เลี่ยงการดื่มหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของมัทฉะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลัง 14.00 น. เป็นต้นไป

7. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
หากมีโรคประจำตัวต่อไปนี้ควรระมัดระวังการดื่มมัทฉะ
- โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน : มัทฉะมีความเป็นกรดอยู่ในตัว การดื่มมัทฉะในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนในกระเพาะอาหาร
- โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคหัวใจ : คาเฟอีนในมัทฉะอาจทำให้เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจหรือความดันโลหิต
- โรควิตกกังวล แพนิก, โรคซึมเศร้า, โรคสมาธิสั้น : มัทฉะอาจส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ยังอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคดังกล่าวได้ด้วย
- คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับ : สารต้านอนุมูลอิสระ EGCG ในมัทฉะ อาจเพิ่มภาระให้ตับทำงานหนักขึ้นได้ ดังนั้น คนที่มีปัญหาสุขภาพในเรื่องนี้ก็ควรงดมัทฉะไปก่อน
- โรคมะเร็งหลอดอาหาร : การรับประทานชาร้อน ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ หรือคนที่เป็นอยู่แล้วก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้เช่นกัน
- โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย : เป็นกลุ่มที่ต้องการธาตุเหล็กสูง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานมัทฉะที่จะขัดขวางการดูดซึมธาตุชนิดนี้
- โรคนิ่วในไต : อีกหนึ่งกลุ่มโรคที่ต้องระวังการดื่มมัทฉะ เพราะเป็นอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง อีกทั้งยังมีออกซาเลตที่หากร่างกายสะสมเข้าไปมาก ๆ อาจตกผลึกและเพิ่มจำนวนนิ่วในไตได้
อย่างไรก็ดี ในบทความนี้เราไม่ได้ต้องการกล่าวโทษว่ามัทฉะเป็นผู้ร้าย แต่แค่อยากเสนอมุมมองของมัทฉะในอีกด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบางคนได้ก็เท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วมัทฉะก็เหมือนอาหารและเครื่องดื่มทั่ว ๆ ไปที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษได้ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับการเลือกรับประทานอย่างเหมาะสมของแต่ละบุคคลนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้องกับมัทฉะ
- มัทฉะกับชาเขียวต่างกันยังไง พร้อม 6 เคล็ดลับกินมัทฉะให้ได้ประโยชน์
- กาแฟกับมัทฉะ ดื่มแก้วไหนดีกว่ากัน พร้อมเช็กประโยชน์ของเครื่องดื่มทั้งสองชนิด
- ผงชาเขียว ยี่ห้อไหนดี มัทฉะเลิฟเว่อร์ทั้งหลายไม่ควรพลาด
- มาการองชาเขียวมัทฉะ กรอบนุ่มหอมหวานอร่อยไม่แพ้ต้นตำรับ
- ชีสเค้กมัทฉะกรีนที สูตรเค้กสีสวยเนื้อเนียนไม่ต้องอบก็ทำได้