ขิง เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะกินขิงแล้วได้ผลดีต่อสุขภาพ เพราะอาจได้รับโทษของขิงมากกว่าก็เป็นได้

ประโยชน์ของขิงดีต่อสุขภาพอยู่หลายอย่างก็จริง อย่างบางคนกินขิงช่วยแก้ท้องอืด ขับลม แก้คลื่นไส้ ทว่าหากใช้ไม่ถูกวิธี หรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป โทษของขิงอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้เช่นกัน ยิ่งบางคนที่มีโรคประจำตัว หรือกินยาบางอย่างเป็นประจำ ยิ่งต้องระวังการกินขิงเป็นพิเศษ
โทษของขิง มีอะไรบ้าง

แม้ขิงจะเป็นสมุนไพรธรรมชาติ แต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะหากต้องการใช้ขิงช่วยบรรเทาอาการป่วยบางอย่าง เพราะหากใช้ขิงอย่างไม่ระวัง อาจได้รับโทษจากขิง ดังนี้
1. อาจทำให้เกิดแผลในปากได้
สมุนไพรฤทธิ์ร้อนอย่างขิง หากกินเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการแสบปาก ยิ่งหากดื่มน้ำขิงร้อนจัดก็อาจเสี่ยงต่ออาการร้อนใน หรือมีการอักเสบของเยื่อบุในช่องปากได้เลย
2. กินมากไปอาจไม่สบายท้อง
สรรพคุณของขิงช่วยแก้ท้องอืด ขับลมได้ก็จริง ทว่าหากกินขิงมากจนเกินไปอาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายท้อง เช่น เสียดท้อง ปวดท้อง ท้องเสียได้เช่นกัน เพราะขิงไปกระตุ้นระบบทางเดินอาหารมากขึ้น
3. กระตุ้นอาการกรดไหลย้อน
ขิงจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน รวมไปถึงอาการไม่สบายท้องจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารก็จริง แต่ก็ต้องใช้ขิงในปริมาณที่เหมาะสมต่ออาการนั้น ๆ เพราะหากบริโภคขิงเกินขนาด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก จุกเสียด คลื่นไส้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนอยู่ก่อนแล้ว
ขิง สมุนไพรที่บางคนต้องระวัง
ขิงอาจให้โทษมากกว่าประโยชน์ได้ โดยเฉพาะกับคนกลุ่มต่อไปนี้
1. คนที่แพ้ขิง

แม้อาการแพ้ขิงจะเจอไม่บ่อยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไวต่อฤทธิ์ของขิงจะไม่มี ดังนั้นหากเคยกินขิงแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ไม่ว่าจะเกิดลมพิษ มีอาการคันตามผิวหนัง น้ำตาไหล มีอาการบวม หายใจลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ ความผิดปกติเหล่านี้อาจบอกได้ว่าเรามีอาการแพ้ขิง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขิงไม่ว่าจะแบบสดหรือแบบสารสกัดต่าง ๆ
2. สตรีมีครรภ์
แม้ขิงจะถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง แต่ขิงก็เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน จึงควรรับประทานอย่างระมัดระวัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขิง โดยเฉพาะการตั้งครรรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย
3. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
ข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ไม่แนะนำให้เด็กวัยนี้รับประทานขิง เพราะอาจเกิดอาการแสบร้อนบริเวณทางเดินอาหารในช่องปากและคอได้ง่าย
4. ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด
ขิงเป็นสมุนไพรที่แพทย์แนะนำให้หยุดรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัด 5-14 วัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานขิงในรูปแบบใดก็ตาม เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดนั่นเอง
โรคห้ามกินขิง ป่วยอะไรต้องระวัง
ใครห้ามกินขิง หรือต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาการป่วยด้วยโรคเหล่านี้ หากกินขิงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
1. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ

ขิงมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น วาร์ฟาริน หรือแอสไพริน หากกินยาร่วมกับขิงในปริมาณมาก อาจเสี่ยงเลือดออกภายในหรือเลือดออกไม่หยุดได้
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด
ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ อาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานขิงในทุกรูปแบบไปด้วย เนื่องจากขิงอาจเพิ่มฤทธิ์ของยา ซึ่งส่งผลต่อร่างกายผู้ป่วยได้
3. ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี
ฤทธิ์ของขิงจะกระตุ้นการหลั่งน้ำดีเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นด้วย จึงควรรักษาให้โรคสงบก่อนกินขิง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขิงและสมุนไพรอื่น ๆ
กินขิงอย่างมีสติก็ดีต่อสุขภาพ
โดยทั่วไป การกินขิงที่มากับเมนูอาหารต่าง ๆ เช่น ขิงในโจ๊ก ในเมนูผัดขิง หรือเมนูใด ๆ ก็ตามมักใช้ขิงปริมาณไม่มาก ราว ๆ 1-10 กรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะสุขภาพใด ๆ หรือกำลังใช้ยาอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภคขิงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีขิงเสมอ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
แม้ขิงจะเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยาซึ่งจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นจึงควรกินขิงแต่พอดี เน้นหลักกินอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกาย พร้อมกับออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน
บทความที่เกี่ยวข้องกับขิง
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ชัวร์ก่อนแชร์, healthline.com (1), (2), webmd.com