
เครื่องวัดความดัน บอกอะไรบ้าง

เครื่องวัดความดันโลหิต ชื่อก็บอกชัด ๆ ว่าเป็นเครื่องมือวัดค่าความดันโลหิตของเรา โดยหน้าจอจะแสดงค่าหลัก ๆ สองค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตตัวบน/SYS (Systolic Blood Pressure) คือ ค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีค่าปกติอยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันโลหิตตัวล่าง/DIA (Diastolic Blood Pressure) คือค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัวและรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ โดยค่าปกติคือ 80-84 มิลลิเมตรปรอท
นอกจากนี้ เครื่องวัดความดันบางรุ่นยังสามารถแสดงอัตราการเต้นของหัวใจ PULSE (ชีพจร) และแจ้งเตือนภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย ซึ่งค่าชีพจรปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที
วิธีเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต
สำหรับใช้ในบ้าน

1. เลือกวิธีการวัดที่ถนัด
โดยทั่วไปเครื่องวัดความดันโลหิตแบบ Home Use มักจะมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่
- เครื่องวัดความดันโลหิตแบบวัดที่ต้นแขน (Arm Blood Pressure Monitor) โดยใช้ผ้าพันรอบต้นแขน เหนือข้อศอกเล็กน้อย แล้วเครื่องจะทำการบีบและคลายเพื่อวัดค่า เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากให้ค่าที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ บางจุดในโรงพยาบาลหรือคลินิกก็มักจะใช้แบบนี้ แต่ต้องเลือกขนาดผ้าให้เหมาะสมกับรอบแขน เพื่อจะได้ไม่รู้สึกบีบรัดจนเกินไป
- เครื่องวัดความดันโลหิตแบบวัดที่ข้อมือ (Wrist Blood Pressure Monitor) สะดวกในการพกพาและใช้งานง่ายกว่า แต่ความแม่นยำอาจลดลงเล็กน้อยหากตำแหน่งการวัดไม่ถูกต้อง เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางบ่อย ๆ หรือมีข้อจำกัดในการวัดที่ต้นแขน
2. พิจารณาฟังก์ชันเสริมที่เครื่องให้มา
เครื่องวัดความดันโลหิตที่มีราคาแตกต่างกันเป็นเพราะมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน เช่น
-
ขนาดหน้าจอใหญ่ อ่านง่าย เห็นตัวเลขชัดเจน มีไฟพื้นหลัง
-
มีฟังก์ชันแจ้งเตือนภาวะผิดปกติ เช่น แถบสีแจ้งเตือนค่าความดันโลหิต ตรวจจับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-
แสดงค่าเฉลี่ยจากการวัดในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ค่าเฉลี่ย 3 ครั้งล่าสุด หรือค่าเฉลี่ยในตอนเช้า-เย็น เพื่อให้ได้ค่าที่สะท้อนภาวะความดันโลหิตได้ดีขึ้น
-
บันทึกค่าการวัดย้อนหลังได้สูงสุดกี่ครั้ง หรือสามารถบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งานได้กี่คน
-
เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนเพื่อวิเคราะห์ผลตรวจได้ หรือแชร์ข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างสะดวก
-
มีระบบเสียงภาษาไทยหรือหลายภาษา เพื่อแจ้งผลการวัด
-
มีระบบตั้งเวลาเตือนการวัด
-
มีระบบแจ้งเตือนเมื่อตำแหน่งการวางแขนหรือพันผ้าพันแขนไม่ถูกต้อง
-
มีระบบแจ้งเตือนเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายขณะวัด
-
มีระบบปิดเครื่องอัตโนมัติเมื่อใช้งานเสร็จ
ในกรณีต้องการซื้อเครื่องวัดความดันให้ผู้สูงอายุใช้ ควรเลือกขนาดหน้าจอใหญ่ ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น กดปุ่มเดียวก็ใช้งานได้เลย และควรมีเสียงภาษาไทยคอยอ่านค่าผลการวัดให้ด้วย
3. เลือกตามงบประมาณที่เรามี
4. พิจารณาแหล่งพลังงานที่ใช้
เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัลในปัจจุบันมีตัวเลือกแหล่งพลังงานที่หลากหลาย คือ
-
ใช้ไฟฟ้าเสียบปลั๊กหรือชาร์จแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับใช้งานที่บ้าน ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างการวัด ไม่ต้องซื้อถ่านมาเปลี่ยนบ่อย ๆ
-
แบบใช้ถ่านอัลคาไลน์ เหมาะกับคนที่ต้องเดินทางบ่อย หรือต้องการใช้วัดความดันนอกบ้าน หรือบริเวณที่ไม่มีปลั๊กไฟ
ทั้งนี้ บางรุ่นสามารถรองรับแหล่งพลังงานทั้งสองแบบ คือสามารถใช้ถ่านได้ และมีช่องสำหรับเสียบอะแดปเตอร์ได้ด้วย
5. เลือกซื้อยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน
6. ซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ
7. เช็กความเรียบร้อยของสินค้าก่อนจ่ายเงิน
8. ตรวจสอบการรับประกัน
เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัล
งบไม่เกิน 3,000 บาท
1. เครื่องวัดความดัน Sinocare รุ่น AES-U111

ภาพจาก : Sinocare Thailand
เครื่องวัดความดันดิจิทัลที่ใช้งานง่าย มีหน้าจอขนาดใหญ่ อ่านค่าได้ชัดเจน มาพร้อมเสียงพูดภาษาไทยหรือจะเลือกปิดเสียงก็ได้ มีโหมดสำหรับ 2 คน และฟังก์ชั่นบันทึกค่าการวัด 90 ครั้ง/คน พอครบแล้วจะรีเซตเองอัตโนมัติ ส่วนรอบแขนของสายวัดก็กว้างตั้งแต่ 24-42 เซนติเมตร ใช้ได้ทั้งถ่านและชาร์จแบตผ่านสาย USB ไทป์ C รับประกัน 5 ปี
- ราคาปกติ : 1,099 บาท
2. เครื่องวัดความดัน Rossmax รุ่น Z1 with USB-C

ภาพจาก : Rossmax Thailand
เครื่องวัดความดันโลหิตระบบ Real Fuzzy สามารถตรวจจับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ และแสดงระดับความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย มาพร้อมฟังก์ชันบันทึกค่าได้ถึง 90 ค่า พร้อมแสดงค่าเฉลี่ยจากการวัด 3 ครั้งสุดท้าย มีสัญลักษณ์เตือนการเคลื่อนไหวขณะวัดและแจ้งเตือนเมื่อพันผ้าพันต้นแขนถูกต้อง และต้นแขนแบบ Cone Cuff ที่รองรับรอบแขนขนาด 24-36 เซนติเมตร สามารถใช้งานได้ทั้งแบตเตอรี่ AAA (4 ก้อน) หรือเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟผ่าน USB ไทป์ C รับประกัน 5 ปี
-
ราคาปกติ : 1,950 บาท
3. เครื่องวัดความดัน Citizen รุ่น CH-453

ภาพจาก : Eminence Thailand
แบรนด์นี้ไม่ได้มีแค่นาฬิกาอย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย พร้อมหน่วยความจำบันทึกค่าการวัดได้ 90 ครั้ง และค่าเฉลี่ยจากการวัด 3 ครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อตรวจพบการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Irregular Heartbeat) และเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายขณะวัด สามารถใช้งานได้ทั้งระบบไฟบ้านผ่านช่องเสียบ Adapter ที่มีมาให้ในชุด หรือใช้แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อน รับประกันนานถึง 7 ปี
-
ราคาปกติ : 2,600 บาท
4. เครื่องวัดความดัน OMRON รุ่น HEM-8712

ภาพจาก : omronhealthcare-ap.com
เครื่องวัดความดัน OMRON ชื่อที่เห็นบ่อย ๆ บนเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเครื่องนี้เป็นรุ่นที่มีขนาดผ้าพันแขน 22-32 เซนติเมตร และมาพร้อมเทคโนโลยี IntelliSense ที่ไม่ต้องเพิ่มลม จึงช่วยลดแรงบีบรัดที่แขน และหากพันผ้าถูกต้องจะมีสัญลักษณ์แสดงให้ทราบ ในขณะที่ถ้าพบการเคลื่อนไหวขณะวัดหรือเมื่อพบระดับความดันโลหิตสูงเกินมาตรฐานจะมีระบบแจ้งเตือนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกค่าการวัดครั้งล่าสุดได้ด้วย ส่วนตัวเครื่องสามารถเลือกใช้พลังงานจากถ่าน AA 4 ก้อน ซึ่งใช้งานได้ประมาณ 1,000 ครั้ง หรือจะเลือกใช้งานผ่าน Adapter ก็ได้ แต่จะไม่มี Adapter แถมให้ในชุด ต้องซื้อแยก สินค้ารับประกัน 5 ปี
-
ราคาปกติ : 2,090 บาท
5. เครื่องวัดความดัน Microlife รุ่น B3 Basic

ภาพจาก : microlife-thailand.com
เครื่องวัดความดันไมโครไลฟ์รุ่น B3 Basic ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ในระดับสากลจาก ESH, BHS, และ AAMI ส่วนตัวเครื่องก็มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้ง MAM (Microlife Smart Average) ที่ช่วยให้การวัดค่าความดันแม่นยำสูงด้วยการวัดหลายครั้ง ก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ยอัตโนมัติ สามารถบันทึกค่าได้ 99 ครั้งพร้อมวันที่และเวลา และเทคโนโลยี PAD ที่ตรวจจับชีพจรพร้อมแจ้งเตือนภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีแถบสีบ่งชี้ความเสี่ยงความดันโลหิตสูงตามมาตรฐานสากล มีปลอกแขน 2 in 1 ขนาด M-L (22-42 เซนติเมตร) แขนเล็กแขนใหญ่ก็ใส่ได้ ใช้งานได้ทั้งอะแดปเตอร์และถ่าน AA ตัวเครื่องประกันศูนย์ 5 ปี ปลอกแขนประกันศูนย์ 2 ปี และอะแดปเตอร์ประกันศูนย์ 1 ปี
-
ราคาปกติ : 2,850 บาท
6. เครื่องวัดความดัน Yuwell รุ่น YE680B

ภาพจาก : Yuwell Thailand Store
เครื่องวัดความดัน Yuwell เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเพราะใช้งานง่าย มีหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ บนจอ LCD แบบดิจิทัลที่มี Blacklight ช่วยให้มองเห็นชัดขึ้นในที่แสงน้อย สามารถบันทึกข้อมูลการวัด (เวลา, วันที่, ค่าความดันโลหิต, อัตราการเต้นของหัวใจ) ได้สูงสุด 99 ครั้งต่อผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถใช้งานได้ 2 คน และเชื่อมต่อบลูทูธดูค่าย้อนหลังได้ผ่านแอปพลิเคชั่น มาพร้อมกับผ้าพันต้นแขนขนาด 22-45 เซนติเมตร ตัวเครื่องใช้พลังงานจากแบตเตอรี AA 4 ก้อน (วัดได้ประมาณ 300 ครั้ง) หรือใช้อะแดปเตอร์ก็ได้เช่นกัน และยังมีเสียงพูดภาษาไทยบอกค่าความดันโลหิต แต่หากไม่ชอบก็ปิดเสียงนี้ได้นะคะ รับประกันศูนย์ไทย 5 ปี
-
ราคาปกติ : 2,890 บาท
7. เครื่องวัดความดัน ALLWELL รุ่น JPD-HA120

ภาพจาก : allwellhealthcare.com
เครื่องวัดความดัน ALLWELL มาพร้อมจอ LCD ขนาดใหญ่ 6 x 7.7 เซนติเมตร ที่แสดงผลได้ชัดเจน และผ้าพันต้นแขนขนาด 22-36 เซนติเมตร รุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันผ่าน Bluetooth เพื่อบันทึกและติดตามข้อมูลสุขภาพสำหรับผู้ใช้งาน 2 คน (คนละ 99 ค่า) พร้อมแสดงค่าเฉลี่ยจากการวัด 3 ครั้งล่าสุด นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันวัดอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อหัวใจเต้นผิดปกติ มีระบบเสียงภาษาไทย ตัวเครื่องใช้พลังงานจากแบตเตอรี AA 4 ก้อน หรือจะชาร์จไฟบ้านก็มีอุปกรณ์มาให้ รับประกัน 3 ปี
- ราคาปกติ : 2,490 บาท
8. เครื่องวัดความดัน Beurer รุ่น BM 54

ภาพจาก : beurer.co.th
เครื่องวัดความดัน Beurer รุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันผ่าน Bluetooth เพื่อบันทึกและติดตามข้อมูลสุขภาพ และสามารถถ่ายโอนข้อมูลผ่านระบบ Bluetooth ไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ ส่วนฟังก์ชันอื่น ๆ ก็จะมีบันทึกค่าการวัดสำหรับผู้ใช้งานได้ 2 คน คนละ 60 ค่า รวมทั้งฟังก์ชันแจ้งเตือนเมื่อพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเมื่อแบตเตอรีอ่อน ตัวเครื่องใช้ถ่าน AAA 1.5V จำนวน 4 ก้อน มาพร้อมผ้าพันต้นแขนขนาด 22-44 เซนติเมตร รับประกัน 5 ปี
-
ราคาปกติ : 2,500 บาท
วิธีวัดความดันที่ถูกต้อง
เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ

เพื่อให้ได้ค่าความดันโลหิตที่แม่นยำที่สุด ควรปฏิบัติตามวิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง ดังนี้
-
ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเริ่มวัดความดัน เพราะการมีกระเพาะปัสสาวะที่เต็มสามารถทำให้ค่าความดันโลหิตสูงขึ้นได้เล็กน้อย
-
ผ่อนคลายร่างกาย โดยนั่งบนเก้าอี้นั่งพิงพนัก เท้าวางราบกับพื้น ไม่ไขว้ขา และพักผ่อนในท่าสบายเป็นเวลา 5 นาทีก่อนทำการวัดความดันโลหิต
-
สวมผ้าพันแขนให้กระชับพอดี ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป โดยส่วนขอบล่างของผ้าพันแขนควรอยู่เหนือข้อพับแขนประมาณ 1-2 นิ้ว
-
จัดท่าทางแขนให้เหมาะสม วางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ แนะนำให้วัดความดันโลหิตกับแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่เคยมีค่าความดันสูงกว่า
-
กดปุ่มเริ่มวัด และอยู่นิ่ง ๆ ไม่พูดคุยหรือเคลื่อนไหว
-
รอจนกระทั่งเครื่องแสดงผลค่าความดันโลหิตและชีพจร แล้วจดบันทึกค่าที่วัดได้ วันที่ และเวลา เพื่อติดตามแนวโน้มความดันโลหิตของตัวเอง
-
ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ดังนี้
◆ ช่วงเช้า : วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 1-2 นาที ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต
◆ ช่วงก่อนเย็น : วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 1-2 นาที
-
ควรวัดช่วงเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อเปรียบเทียบผล
ข้อควรระวัง
ในการใช้งานเครื่องวัดความดัน
เครื่องวัดความดันโลหิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ยากและค่อนข้างปลอดภัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง เช่น
-
อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
-
เลือกขนาดผ้าพันแขนให้เหมาะสมกับขนาดต้นแขน หากเล็กหรือใหญ่เกินไปอาจทำให้ค่าที่วัดได้คลาดเคลื่อนได้
-
ไม่ควรวัดความดันโลหิตช่วง 30 นาที หลังจากรับประทานอาหาร ออกกำลังกายหรืออาบน้ำ รวมถึงช่วงที่รู้สึกเหนื่อย โกรธ หรือมีอาการเครียด
-
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ชา, กาแฟ, น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด
-
หากต้องการวัดซ้ำ ควรเว้นระยะห่างประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับสู่ภาวะปกติ
-
ค่าความดันโลหิตที่บ้านอาจมีความแตกต่างจากที่วัดที่โรงพยาบาลเล็กน้อย หากมีข้อสงสัยหรือค่าความดันโลหิตผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
-
ภาวะของโรคหัวใจและหลอดเลือดอาจทำให้การวัดไม่ถูกต้องหรือมีผลเสียต่อความแม่นยำในการวัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับคำแนะนำที่ถูกต้อง
-
ห้ามใช้ผ้าพันแขนกับผู้ที่เคยผ่าตัดเต้านม
-
ระวังอย่าทำเครื่องวัดความดันโลหิตตกหล่น เพราะอาจทำส่งผลต่อประสิทธิภาพของเครื่องได้
บทความที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิต
- วิธีอ่านค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง พร้อมไขข้อสงสัยวัดความดันเองที่บ้านช่วงเวลาไหนดีที่สุด
- ความดันปกติ ความดันสูง ความดันต่ำ คือเท่าไร หลากปัญหาโลหิตที่ควรรู้ให้กระจ่าง
- ความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบที่ต้องระวัง เช็กค่าความดันปกติคือเท่าไร
- ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบ อันตราย !
- เปิดเมนูอาหารโรคความดันโลหิตสูง กินอะไรดี ช่วยควบคุมความดัน