ค่าความดันโลหิตปกติอยู่ที่เท่าไร
ค่าความดันโลหิตในระดับที่ปกติ วัดจากผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ถูกกำหนดไว้ดังนี้
-
ความดันโลหิตที่ดีต่อร่างกาย : ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
-
ความดันโลหิตปกติ : ความดันโลหิตตัวบน 120-129 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่าง 80-84 มิลลิเมตรปรอท
ส่วนค่าความดันโลหิตสูงจะถูกแบ่งออกเป็นระดับความสูงทีละสเต็ปไปอีก ตั้งแต่ค่อนข้างสูงไปจนถึงระดับสูงมาก
ความดันโลหิตสูง คือเท่าไร
ค่าความดันโลหิตสูง ถูกแบ่งเป็นช่วง ๆ ดังนี้
- ความดันโลหิตเริ่มสูง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรค : ความดันโลหิตตัวบน 130-139 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 85-89 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1) : ความดันโลหิตตัวบน 140-159 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 90-99 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2) : ความดันโลหิตตัวบน 160-179 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 100-109 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) : ความดันโลหิตตัวบนตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เกณฑ์ที่ใช้วัดความดันโลหิตสูงจะแตกต่างไปจากนี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและเป็นเบาหวานหรือไตเสื่อมด้วย หากมีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันโลหิตสูงแล้ว
วัดความดันช่วงเวลาไหนดีที่สุด
การวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้าน ปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้วัดความดันโลหิต 2 ช่วงเวลา (รวมวันละ 4 ครั้ง) คือ
-
ช่วงเช้า : ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และปัสสาวะให้เรียบร้อย งดกินยาหรืออาหารก่อนวัดความดัน และวัดความดันทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที
-
ช่วงก่อนนอน : วัดความดันโลหิต 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที
ทั้งนี้ เพราะค่าความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน จึงควรวัดหลายครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อหาค่าความดันโลหิตเฉลี่ย
ความดันโลหิต ควรวัดมือไหน
ก่อนวัดความดันที่บ้าน
ควรเตรียมตัวยังไง
ก่อนจะวัดความดันโลหิต ควรเตรียมตัวดังนี้
- งดสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดออกกำลังกาย ก่อนทำการวัดความดันโลหิต 30 นาที
- ปัสสาวะให้เรียบร้อย
- นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที
- นั่งในท่าสบาย ไม่เกร็ง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าทั้งสองข้างราบกับพื้น
- วางแขนบนโต๊ะ ให้ข้อศอกอยู่ในระดับหัวใจ
วิธีวัดความดันที่ถูกต้อง
เพื่อให้ได้ค่าความดันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด การวัดความดันที่บ้านจึงควรปฏิบัติดังนี้
-
วางแขนข้างที่ไม่ถนัดให้อยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งหัวใจ
-
หากใส่เสื้อแขนยาวที่ผ้ามีความหนา ควรถกแขนเสื้อขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นเสื้อแขนสั้น ก่อนทำการวัดความดัน
-
พันผ้าพันแขนรอบต้นแขน จัดสายยางของผ้าพันแขนให้ชี้ลงข้างล่าง ให้ขอบล่างของผ้าพันแขนอยู่เหนือข้อพับแขนประมาณ 2-3 เซนติเมตร
-
จัดผ้าพันแขนให้เข้าที่ โดยให้สัญลักษณ์จุดกลม ๆ ที่ขอบล่างของผ้าอยู่ด้านในของข้อพับแขน
-
ดึงผ้าพันแขนให้แน่นพอสมควร โดยยังสามารถสอดนิ้วเข้าไประหว่างแขนและผ้าพันแขนได้
-
นั่งพักในท่าผ่อนคลายสัก 2 นาที ก่อนทำการวัดความดัน
-
กดปุ่มเริ่มการทำงานของเครื่องวัดความดัน ไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว ระหว่างที่เครื่องกำลังทำการวัดความดัน
-
รอจนเครื่องวัดความดันโลหิตแสดงค่า
-
บันทึกค่าความดันโลหิตลงในสมุดบันทึก
วิธีอ่านค่าความดันโลหิต
ค่าความดันโลหิตจะแสดงบนจอ 3 ค่า ได้แก่
-
ค่าความดันโลหิตตัวบน (SYS) หรือ ค่าความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic blood pressure) ซึ่งเป็นแรงดันของเลือดขณะหัวใจบีบตัว โดยค่าปกติคือ 120-129 มิลลิเมตรปรอท
-
ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DIA) หรือ ค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) ซึ่งเป็นแรงดันของเลือดขณะหัวใจคลายตัว โดยค่าปกติคือ 80-84 มิลลิเมตรปรอท
- ชีพจร (PULSE) หรืออัตราการเต้นของหัวใจ โดยค่าชีพจรปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที
วัดความดันโลหิตทุกวันได้ไหม
ทั้งนี้ หากวัดหลาย ๆ ครั้งแล้วพบว่าความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือมีอาการไม่ค่อยสบาย ดูคล้าย ๆ จะเกี่ยวข้องกับความดันเลือด ก็ลองไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้เลย เพราะโรคความดันโลหิตเป็นภัยเงียบที่หากรักษาได้ไวก็จะช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้