วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 ก.ย. ประวัติและความสำคัญเป็นมาอย่างไร


          วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก หรือ World Suicide Prevention Day ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี ประกาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2546 เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ ซึ่งประวัติวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก มีความสำคัญและเป็นมาอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝาก  

10 กันยายน วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก

ที่มาของวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก


          จากสภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจ "หนี" และ "ทิ้ง" ปัญหาทุกอย่างด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีคนทั่วโลกฆ่าตัวตายถึงวันละเกือบ 3,000 คน เท่ากับว่าปี ๆ หนึ่งจะมีคนฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ล้านคน และตัวเลขก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่ลงมือทำร้ายตัวเองที่มีมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายในอนาคต

           ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งลดอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกลง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมา ดังนั้นแล้ว จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ และให้มีการเผยแพร่ข้อมูล ปรับปรุงพัฒนาการศึกษา และการอบรมให้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ธีมรณรงค์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกของแต่ละปี


           พร้อมกันนี้ องค์การอนามัยโลกก็ยังได้กำหนดธีม หรือหัวข้อการรณรงค์ของแต่ละปีไว้ด้วย ซึ่งธีมของแต่ละปี ก็ได้แก่

           - พ.ศ. 2546 : Suicide can be Prevented 
           - พ.ศ. 2547 : Saving Lives, Restoring Hope
           - พ.ศ. 2548 : Prevention of Suicide is Everybody\'s Business
           - พ.ศ. 2549 : With Understanding, New Hope
           - พ.ศ. 2550 : Suicide Prevention Across the Lifespan
           - พ.ศ. 2551 : Think Globally, Plan Nationally, Act Locally
           - พ.ศ. 2552 : Suicide in Different Cultures
           - พ.ศ. 2553 : Many Faces, Many Places: Suicide Prevention Across the World 
           - พ.ศ. 2554 : Preventing Suicide in Multicultural Societies 
           - พ.ศ. 2555 : Creating Hope Through Action

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในประเทศไทย


           สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้กำหนดให้ดอกสะมาเรีย เป็นสัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้ารณรงค์การป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยเช่นกัน โดยได้จัดบริการด้านสุขภาพจิต เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษา กับผู้ที่มีภาวะเครียด หรือมีปัญหา พร้อมกับดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ปัญหาส่วนตัว ความขัดแย้งต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคิดสั้น

           ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยสถิติในปี พ.ศ. 2553 ที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมมา พบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 5.90 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศแถบเอเชียถือว่า ประเทศไทยมีตัวเลขของการฆ่าตัวตายต่ำกว่าประเทศอื่น

           ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2548-2553 พบว่า วัยทำงานอายุระหว่าง 15-59 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 7.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในจำนวนนี้กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 25-59 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 4.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 4 เท่าตัวของการฆ่าตัวตายของทุกปี 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย


            ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพบปัจจัยของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย แต่หากเจาะลึกเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จะพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ผิดหวังในเรื่องความรัก ประสบกับปัญหาการเล่าเรียน และปัญหาทางด้านครอบครัว

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัญหาการฆ่าตัวตาย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิดของผู้ที่คิดสั้นเองแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะหากผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยทำงาน 

            เช่นนั้นแล้ว "ครอบครัว" ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ควรจะเฝ้าระแวดระวัง และพูดคุย ให้กำลังใจคนในครอบครัวให้มาก นอกจากนี้ ชุมชน กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันเฝ้าระวัง พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตให้แก่ประชาชน เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายให้น้อยลง

เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ




ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ไทยโพสต์องค์การอนามัยโลกสมาคมนานาชาติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายกรมสุขภาพจิต 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 ก.ย. ประวัติและความสำคัญเป็นมาอย่างไร อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2567 เวลา 16:26:47 28,750 อ่าน
TOP
x close