อยากปรึกษาโรคซึมเศร้า หาหมอที่ไหนดี เช็กลิสต์ราคาแต่ละโรงพยาบาล

           โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีแนวโน้มผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุก็ป่วยโรคนี้ได้ ซึ่งก็ควรรีบเข้ากระบวนการรักษาให้ไว ถ้าวินิจฉัยแล้วว่าป่วยจริง ๆ
           ณ ปัจจุบัน ใครก็รู้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นมหันตภัยร้าย ที่กัดกร่อนจิตใจของผู้ป่วย จนบางคนทนไม่ไหวตัดสินใจว่าจะไม่อยู่บนโลกนี้อีกต่อไป และความน่ากลัวของโรคนี้ไม่ได้อยู่แค่ความรู้สึกดิ่งที่ผู้ป่วยต้องประสบเท่านั้น แต่ต้องบอกว่าโรคซึมเศร้า รวมไปถึงโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ไม่แสดงอาการออกทางกาย เลยทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจความเป็นไปของโรคจิตเวชกันนัก จนบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่รู้จะพึ่งพาใครได้ หลายคนจึงหาที่พึ่งอย่างนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำมากที่สุด แต่หากใครยังไม่รู้ว่าจะปรึกษาโรคซึมเศร้าที่ไหนดี วันนี้เรามีมาแนะนำ พร้อมอยากให้ทำความรู้จักโรคซึมเศร้าและเช็กอาการเบื้องต้นกันก่อนด้วย

โรคซึมเศร้า คืออะไร อันตรายแค่ไหน

โรคซึมเศร้า คืออะไร อันตรายแค่ไหน

          โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งสาเหตุของโรคหลัก ๆ แล้วมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง กระทั่งทำให้มีความผิดปกติทางอารมณ์ตามมา โดยปัจจัยกระตุ้นเร้าให้สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติจนเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าก็มีตั้งแต่ความเครียด, การเลี้ยงดูที่กระทบต่อสภาพจิตใจ, การผิดหวังหรือการสูญเสียครั้งใหญ่, การอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือแม้กระทั่งเกิดจากพันธุกรรม

           ส่วนอันตรายของโรคซึมเศร้าก็อย่างที่เราเกริ่นไว้ตั้งแต่แรก ๆ ว่าผู้ป่วยอาจมีอารมณ์เศร้าดิ่งจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ กระทบการเรียน การทำงาน และหากเป็นมาก ๆ อาจเสี่ยงฆ่าตัวตายได้เลย

 

โรคซึมเศร้า อาการแบบไหนเสี่ยง ควรพบแพทย์

          อาการโรคซึมเศร้าแม้จะเป็นโรคที่ส่งผลต่อความคิดและจิตใจ แต่ก็มีอาการทางกายได้ เช่น

  • รู้สึกเศร้า หดหู่ ซึมลงไป แม้จะไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้าก็ตาม

  • สะเทือนใจง่าย แค่คำพูดธรรมดาไม่กี่คำก็อาจกระทบจิตใจได้อย่างรุนแรง

  • รู้สึกเบื่อหน่าย แม้แต่กิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุขก็รู้สึกเบื่อ

  • นอนไม่หลับบ่อย ๆ หรือนอนไม่หลับเป็นประจำ

  • หงุดหงิดง่าย

  • มีอารมณ์รุนแรง โกรธแรง เวลาโกรธอาจอาละวาดได้

  • รู้สึกแย่กับตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง รู้สึกว่าไม่มีอะไรดี

  • มีความคิดว่าอยากตาย อยากหายไปจากโลกนี้บ่อย ๆ 

          อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกแย่กับตัวเองมาก ๆ ทำอะไรก็ไม่สนุก รู้สึกว่าความสุขหายากขึ้นมาก รวมไปถึงเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ากระบวนการรักษาโดยเร็วนะคะ
 

เช็ก ! แบบทดสอบโรคซึมเศร้า ดูว่าเราเสี่ยงป่วยหรือไม่ ?

รักษาโรคซึมเศร้าอย่างไรได้บ้าง

รักษาโรคซึมเศร้าอย่างไรได้บ้าง

           โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้นะคะ โดยมีแนวทางหลัก ๆ ดังนี้

* รักษาด้วยยา

           โดยแพทย์จะจ่ายยาต้านเศร้า (Antidepressant drugs) ร่วมกับยารักษาอาการที่เป็นอื่น ๆ ซึ่งต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นผล และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ และเมื่อหายเป็นปกติแล้ว แพทย์ก็จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน

* รักษาด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy : CBT)

           หลาย ๆ เคสที่มีอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจเลือกใช้วิธีบำบัดด้วย CBT หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อชี้แนะให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันและเข้าใจความคิดที่เบี่ยงแบนไปจากความเป็นจริงของตัวเอง ปรับเปลี่ยนให้ผู้ป่วยสามารถจัดการความคิดและพฤติกรรมได้อย่างเป็นระบบ โดยอาจฝึกให้ผู้ป่วยทำกิจกรรม ทำงานบ้าน ใช้ชีวิตตัวเองตามปกติ แทนที่จะนอนทั้งวันเพราะไม่อยากทำกิจกรรมอะไร เป็นต้น

* รักษาด้วยคลื่นไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy : ECT)

           ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนัก เสี่ยงทำร้ายตัวเองสูง และยาหรือวิธีบำบัดอื่นไม่ช่วยเท่าไร แพทย์อาจใช้ไฟฟ้ารักษา โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดการชัก (Convulsion) เพื่อกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมองที่หลั่งผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติ และปรับสมดุลการทำงานของสมองของผู้ป่วย

* รักษาด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation : TMS)

           เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยจะใช้สนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) กระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้เกิดโรค เพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมอง ซึ่งจะใช้เวลารักษาประมาณ 20-40 นาที/ครั้ง ถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย

ปรึกษาโรคซึมเศร้าที่ไหนได้บ้าง

ปรึกษาโรคซึมเศร้าที่ไหนได้บ้าง

            ถ้าเช็กอาการแล้วเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า อยากปรึกษาจิตแพทย์จะไปที่ไหนดี จริง ๆ แล้วก็สามารถพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้หลายแห่ง เช่น

โรงพยาบาลรัฐ

          โรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่จะมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษา ซึ่งข้อดีคืออัตราค่าบริการค่อนข้างถูก ใช้สิทธิสุขภาพต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ทว่าในโรงพยาบาลรัฐต้องเข้าพบแพทย์ตามเวลาราชการ และมักจะมีปริมาณผู้ป่วยมาก คิวการรักษาจึงอาจจะยาว ให้บริการได้ล่าช้า และใช้เวลาพูดคุยปรึกษาแพทย์ได้ไม่นาน

          แต่ทั้งนี้ในโรงพยาบาลรัฐบางแห่งก็จะมีคลินิกพิเศษนอกเวลาทำการ ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเฉลี่ยจะเสียเพิ่มประมาณ 100-300 บาท เป็นต้น

โรงพยาบาลเอกชน

          โรงพยาบาลเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ค่าบริการอาจจะสูงหน่อย ราว ๆ 1,000-3,000 บาท ไม่รวมค่ายา (ในกรณีที่มียา) ทว่าก็จะได้พบแพทย์เร็ว มีเวลาได้พูดคุยปรึกษากันตามสะดวก  ทั้งนี้หากมีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิรักษาของพนักงานรัฐวิสาหกิจในโรงพยาบาลเอกชน ก็สามารถใช้สิทธินี้ในการพบจิตแพทย์และรับยาจิตเวชได้นะคะ

สามารถเช็กรายชื่อโรงพยาบาลได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ค่ะ

คลินิกจิตเวช

           หากไม่อยากไปโรงพยาบาล หรือแค่อยากปรึกษาโรคซึมเศร้าเบื้องต้นเท่านั้น ก็สามารถไปพบจิตแพทย์ที่คลินิกจิตเวชได้ ซึ่งก็จะมีอยู่หลายแห่งพอสมควร และอัตราค่าบริการก็ไม่แพงมาก

พบจิตแพทย์ออนไลน์

            ปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกอย่างมีบริการทางออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่การพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยจะมีทั้งสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือแอปพลิเคชัน Sati ที่มีอาสาสมัครรับฟังเรื่องราวที่อยากระบาย รวมไปถึงแอปพลิเคชัน Ooca ที่จะมีทั้งนักจิตวิทยาและแพทย์ โดยมีอัตราค่าบริการตามเงื่อนไขของทางแอปพลิเคชั่นนั้น ๆ ซึ่งจะไม่เกิน 1,500 บาทต่อชั่วโมงค่ะ

แนะนำโรงพยาบาลปรึกษาโรคซึมเศร้าใน กทม. - ปริมณฑล

           หากอยากปรึกษาจิตแพทย์เรื่องโรคซึมเศร้า ทั้งประเมินอาการที่เป็นอยู่ และวิธีรักษาที่เหมาะสม จะพบจิตแพทย์ที่ไหนได้บ้าง ลองเช็กกันเลย โดยตรงนี้เรารวบรวบมาให้ในพื้นที่ กทม. และแถบ ๆ ปริมณฑลนะคะ

1. โรงพยาบาลศรีธัญญา

          โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช ในสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ซึ่งแม้จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ให้บริการดีมาก เพียงแต่ต้องอดทนรอคิวนานหน่อยนะคะ และเปิดให้บริการปรึกษาแพทย์ทั้งในช่วงเวลาราชการ ซึ่งมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 150 บาท ในกรณีที่มียาก็ต้องจ่ายค่ายาเพิ่ม หรือค่าตรวจเพิ่มเติมหากแพทย์สั่ง

          นอกจากนี้ยังมีคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ เปิดให้บริการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-21.00 น. ค่าบริการเริ่มต้น 250 บาท (ไม่สามารถใช้สิทธิใดเบิกได้) ทั้งนี้ในช่วงโควิด 19 ระบาด ต้องโทรจองคิวเข้ารับการปรึกษาล่วงหน้าไม่ว่าจะเวลาตรวจปกติหรือคลินิกพิเศษนะคะ ไม่รับ Walk in 

  • พิกัด : 47 ถนนติวานนท์ หลักกิโลเมตรที่ 1 หมู่ที่ 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
  • วัน-เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08.00-15.00 น.
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลศรีธัญญา, โทร. 0-2528-7800

2. สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

          โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ และประสาทจิตเวชศาสตร์ โดยให้บริการตามวันและเวลาราชการ แต่ก็มีคลินิกพิเศษนอกเวลาเช่นกัน ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-20.00 น. ซึ่งในส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมราว ๆ 700 บาท เป็นค่าบริการผู้ป่วยใหม่ ค่าธรรมเนียมแพทย์ และค่าตรวจประเมินผู้ป่วยใหม่ ซึ่งสามารถเบิกได้ตามสิทธิรักษาที่มี แต่ด้วยความเป็นโรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยก็จะแน่น ๆ คิวรอนานหน่อยนะคะ

3. สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

ภาพจาก : สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

          สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ตั้งแต่การวินิจฉัยบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้มีปัญหาจิตเวช วิกฤติสุขภาพจิต จิตเวชที่มีปัญหาระดับรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ติดสารเสพติด รวมไปถึงจิตเวชเด็ก แต่ทั้งนี้การพบแพทย์ในเวลาราชการต้องเดินทางไปจองคิวตั้งแต่ก่อน 07.00 น. และจะรับคิวจำนวนจำกัดวันละ 200 คนเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีค่าบริการ ยกเว้นหากมีการตรวจเพิ่มเติมหรือจ่ายยาก็ต้องจ่ายค่าตรวจและค่ายาที่ได้รับ

           ส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 16.00- 20.30 น. (ผู้ป่วยใหม่ปิดรับคิว 19.30 น.) อัตราค่าบริการเริ่มต้น 900 บาทขึ้นไป โดยไม่สามารถใช้สิทธิใดเบิกได้

  • พิกัด : เลขที่ 23 หมู่ 8 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กทม. 10170
  • วัน-เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08.00-16.00 น.
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โทร 0-2441-6100

4. โรงพยาบาลศิริราช

          แผนกจิตเวช โรงพยาบาลศิริราช ให้บริการตรวจผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป อัตราค่าบริการเริ่มต้น 900 บาท ไม่รวมค่ายา และค่าตรวจเพิ่มเติม แต่สามารถเบิกได้ตามสิทธิรักษาที่มี และด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล คิวก็จะแน่นและรอนานหน่อย โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยใหม่ ดังนั้นหากต้องการพบจิตแพทย์แนะนำให้ไปจองคิวตั้งแต่เช้าตรู่

          ส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ จะให้บริการตรวจรักษาโดยอาจารย์แพทย์เฉพาะทาง ตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าบริการเริ่มต้น 1,000 บาท ไม่รวมค่ายาและค่าตรวจเพิ่มเติม โดยสามารถเบิกได้เฉพาะสิทธิข้าราชการเท่านั้น

  • พิกัด : ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 7 เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 
  • วัน-เวลาทำการ : 

          - วันจันทร์และวันพุธ เวลา 09.00-11.00 น. และ 13.00-16.00 น.

          - วันอังคาร และพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น.

5. โรงพยาบาลมนารมย์

โรงพยาบาลมนารมย์

ภาพจาก : โรงพยาบาลมนารมย์

         โรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวชที่ให้บริการด้านปัญหาจิตเวชและระบบประสาทให้แก่ผู้ป่วย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ จิตบำบัดแบบกลุ่ม จิตบำบัดครอบครัว รวมไปถึงคู่สมรสบำบัด และด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน จึงมีบริการบำบัด ฟื้นฟู ผู้ป่วยจิตเวชด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งศิลปะ ดนตรี และกิจกรรมอื่น ๆ

         ส่วนอัตราค่าบริการสำหรับผู้ป่วยนอกครั้งแรกจะอยู่ราว ๆ 1,000-3,000 บาท ไม่รวมค่ายาและค่าตรวจเพิ่มเติม แต่แม้ค่าตรวจรักษาของที่นี่จะสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ทว่าการบริการดีมากค่ะ เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากรอคิวนาน ๆ ไม่อยากต้องลางานไปในวัน-เวลาราชการ หรือไม่สะดวกไปจองคิวตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างด้วย

         อ้อ ! และในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ทางโรงพยาบาลจะให้กรอกแบบประเมินความเสี่ยงโควิด 19 ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนวันนัดหมาย และสำหรับผู้ป่วยใหม่ก็ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ แต่หากใครไม่สะดวกไปโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลก็มีบริการพบจิตแพทย์ทางออนไลน์ให้ด้วยนะ ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เลย

  • พิกัด : 9 ถนนสุขุมวิท 70/3 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กทม. 10260
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 07.00-20.00 น.
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : โรงพยาบาลมนารมย์ โทร. 0-2725-9595, 0-2032-9595

6. ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ

           นับเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด คอยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่หลากหลาย ทั้งในด้านการรักษา ฟื้นฟู หรือป้องกันภาวะทางจิตเวชด้วย นอกจากนี้ยังมีบริการจิตบำบัดครอบครัว คู่สมรสบำบัด ผู้มีปัญหาติดสุราเรื้อรัง ติดยาเสพติดและอยากเลิก หรือผู้ที่มีอาการป่วยทางกาย เช่นโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ที่สุ่มเสี่ยงมีภาวะทางสุขภาพจิตสูงด้วยนะคะ ส่วนอัตราค่าบริการปรึกษาจิตแพทย์ เริ่มต้นที่ 1,500 บาท (พบแพทย์ได้ 1 ชั่วโมงเต็ม) ค่าบริการอื่น ๆ อีก 500 บาท ไม่รวมค่ายาและค่าตรวจเพิ่มเติม
  • พิกัด : ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ 2 ซ.ศูนย์วิจัย 7 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310 
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0-2310-3027, 0-2310-3751, 0-2310-3752

7. คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลพญาไท 2

คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลพญาไท 2

ภาพจาก : โรงพยาบาลพญาไท

          คลินิกจิตเวชที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ผู้ป่วยสามารถเข้าพบได้ทั้งในโรงพยาบาลและทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์โรงพยาบาล โดยทั้ง 2 แนวทางสามารถระบุเวลานัดที่เราสะดวกได้เลย อีกทั้งจุดเด่นของที่นี่ยังมีการบำบัดหลายด้าน ถ้าไม่ต้องการใช้ยารักษาก็ปรึกษาแพทย์ได้ว่าควรจะรักษาด้วยวิธีไหน อย่างไร ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากพบจิตแพทย์ อยากพูดคุย ระบายความทุกข์ทรมานใจกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

          ส่วนอัตราค่าบริการปรึกษาจิตแพทย์จะเริ่มต้นที่ 1,500 บาท สามารถพบแพทย์ได้ประมาณ 30-40 นาที หากเกินเวลานี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือหากมีการจ่ายยา มีตรวจเพิ่มเติมก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

  • พิกัด : โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 4 อาคาร A 943 ถนน พหลโยธิน แขวง พญาไท เขตพญาไท กทม. 10400
  • วัน-เวลาทำการ : 

          - วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. 

          - วันเสาร์-วันอาทิตย์ 08.00-17.00 น.

8. คลินิก Mind and Mood Clinic

คลินิก Mind and Mood Clinic

ภาพจาก : Mind & Mood Clinic

          คลินิกเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ที่ให้คำปรึกษาด้านจิตเวชครอบคลุมทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตครอบครัว คู่สมรส โดยที่นี่จะเน้นการบำบัดด้วยการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) โดยทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทาง CBT นอกจากนี้ยังมีห้องตรวจส่วนตัวให้บริการสำหรับคนที่ไม่สะดวกใจให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามาพบจิตแพทย์ด้วยนะคะ ส่วนอัตราค่าบริการของที่นี่เริ่มต้นที่ 3,000 บาท (พบแพทย์ได้ 1 ชั่วโมงเต็ม)
  • พิกัด : 94 ซอยพหลโยธิน 32 ถนนพหลโยธิน จันทรเกษม กทม. 10900
  • วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. (หยุดทุกวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : Mind & Mood Clinic โทร. 0-2561-0210-11,  06-1401-2274, 08-8746-4789, 09-2385-8866

9. กายใจคลินิก (Body and Mind Clinic)

กายใจคลินิก (Body and Mind Clinic)

ภาพจาก : กายใจคลินิก

           คลินิกเฉพาะทางจิตเวชแห่งนี้ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงปัญหาจิตเวชที่เกิดเนื่องจากความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไต ไทรอยด์ หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านร่างกายที่สัมพันธ์กับอาการทางจิตใจทุกประเภท โดยอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 1,400-2,000 บาท (พบแพทย์ได้ 45 นาที) โดยค่าบริการจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของอาการผู้ป่วยแต่ละเคสค่ะ และหากจะไปพบแพทย์ก็ต้องจองคิวล่วงหน้าด้วยนะคะ
  • พิกัด : อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กทม. 10330
  • วัน-เวลาทำการ : 

          - วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-20.00 น.

          - วันเสาร์ เวลา 10.00-16.00 น.

          - วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.

          - วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-16.00 น.

10. แอปพลิเคชัน Ooca

แอปพลิเคชัน Ooca

ภาพจาก : Ooca

          สำหรับคนที่อยากปรึกษาจิตแพทย์ผ่านทางออนไลน์ ก็สามารถทำการนัดจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปฯ Ooca ได้เลย โดยค่าบริการจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อครึ่งชั่วโมง สำหรับนักจิตวิทยา และ 1,500 บาทต่อครึ่งชั่วโมง สำหรับจิตแพทย์ ซึ่งจะได้พบแพทย์และนักจิตวิทยาผ่าน Video Call นะคะ ส่วนตัวแอปฯ ก็สามารถโหลดฟรีได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android
  • ดาวน์โหลด iOS
  • ดาวน์โหลด Android
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : ooca.co
           การพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นบ้า และไม่ได้หมายความว่าเราอ่อนแอจนสู้กับอารมณ์เทา ๆ ไม่ได้ แต่เกิดจากสารเคมีในสมองเราขาดสมดุลไป ดังนั้นหากมีอาการซึมเศร้า ทุกข์ใจ หรือรู้สึกว่าหาความสุขให้ตัวเองได้ยากเหลือเกิน แนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้ากันแต่เนิ่น ๆ จะได้หาวิธีแก้ไข ปรับจิตใจให้กลับมามีความสุขตามปกติได้อีกครั้ง และขอย้ำอีกทีว่า โรคนี้เราสามารถรักษาให้หายขาดได้นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อยากปรึกษาโรคซึมเศร้า หาหมอที่ไหนดี เช็กลิสต์ราคาแต่ละโรงพยาบาล อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 15:17:25 430,224 อ่าน
TOP
x close