อาการแพ้อาหาร อันตรายถึงตาย ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ

          อาการแพ้อาหาร หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าความแพ้นี้อันตรายถึงตายได้ แล้วเราล่ะมีอาการแพ้อาหารชนิดไหนหรือไม่ มาเช็กกันเลย

อาการแพ้อาหาร

          อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก็ใช่ว่าเราทุกคนจะกินอาหารทุกชนิดบนโลกใบนี้ได้ เพราะบางคนอาจมีอาการแพ้อาหาร ก่อให้เกิดอาการลมพิษเฉียบพลันขึ้นตามผิวหนัง หรือหากแพ้อาหารค่อนข้างรุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะคะ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทต่อสุขภาพและชีวิตของเรา ก็มาทำความรู้จักอาการแพ้อาหารให้มากขึ้นเลยดีกว่า

อาการแพ้อาหาร สาเหตุเกิดจากอะไร
   
          อาการแพ้อาหารเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น โดยสารกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ จะเรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ และเมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แล้วก็จะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามระบบในร่างกาย เช่น อาการคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษ เป็นต้น
   
          ทั้งนี้ในส่วนของอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ กล่าวคือ หากรับประทานอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้แฝงอยู่ ก็จะเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมาได้

การแพ้อาหาร ส่วนมากจะแพ้อาหารประเภทไหน

   
          อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ อาหารทะเล ถั่วลิสง นม ช็อกโกแลต กลูเตน สารสังเคราะห์ต่าง ๆ อย่างผงชูรส สีสังเคราะห์ กลิ่นสังเคราะห์ และบางคนอาจมีอาการแพ้ไข่

อาการแพ้อาหาร

แพ้อาหารทะเล แพ้อาหารอะไร จะรู้ได้ยังไงว่าแพ้ ?

          แม้อาการแพ้อาหารส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่มีความเสี่ยงด้านกรรมพันธุ์ติดตัวอยู่แล้ว กล่าวคือ มีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หรือเป็นหอบหืด และตัวเองก็เป็นภูมิแพ้ตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้อาจสนับสนุนให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ
   
          ทว่าแม้จะไม่เคยแพ้อาหารมาก่อน ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเช่นกัน เพราะอาการแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว ซึ่งเราสามารถเช็กอาการแพ้อาหารได้ในเบื้องต้นด้วยตัวเอง
 
อาการแพ้อาหาร

แพ้อาหาร อาการเป็นยังไง

          อาการแพ้อาหารในแต่ละคนอาจมีความไวต่างกัน และสามารถแสดงอาการแพ้ได้หลายระบบในร่างกาย ซึ่งเราสามารถจำแนกอาการแพ้อาหารที่พบมากและพบบ่อยที่สุดได้ ดังนี้

1. อาการแพ้อาหารที่แสดงออกทางผิวหนัง
   
          อันได้แก่ อาการลมพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรัง มีผื่นแดง คัน ขึ้นตามผิวหนังหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้ และสักพักจะมีอาการผิวหนังบวมนูนขึ้นมาเป็นแผ่น ๆ ร่วมกับความรู้สึกแสบร้อน

2. อาการแพ้อาหารที่แสดงออกทางระบบทางเดินอาหาร
   
          หลังจากกินอาหารที่แพ้ไป บางคนอาจมีอาการคันที่ปาก ชาที่ลิ้น น้ำลายไหลตลอดเวลา คันคอ คันลิ้น ลิ้นบวมแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายมีเลือดปน หรือเกิดอาการลำไส้อักเสบ ก่อให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นมาได้

3. อาการแพ้อาหารที่แสดงออกทางระบบทางเดินหายใจ
   
          อาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยก็จะมีอาการจมูกอักเสบ มีน้ำมูกไหล คัดจมูก หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงหรือหลอดลมบวม ทำให้หายใจลำบาก หรือบางคนมีอาการไอหนักมากชนิดที่หายใจหอบ และหากหอบมาก ๆ จะเกิดอาการเลือดไม่เดิน ตัวเขียว แน่นหน้าอก จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติไปเลยก็มี

4. อาการแพ้อาหารที่แสดงออกทางระบบหัวใจ

          ในกรณีที่แพ้อาหารมาก อาจเกิดความผิดปกติต่อระบบหัวใจ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดอาการช็อกหลังจากกินอาหารที่แพ้เข้าไป

5. อาการแพ้อาหารที่แสดงออกในหลายระบบทั่วร่างกาย
   
          ผู้ป่วยโรคแพ้อาหารจะแสดงอาการแพ้ในหลายระบบร่วมกัน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นช็อก ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพ้อาหารจะเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่บางเคสของการแพ้อาหารก็มาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรสังเกตอาการแพ้อาหารของทารกตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยนะคะ

อาการแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหารของทารก และการแพ้อาหารในเด็ก

          โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งระบบย่อยอาหารอาจยังทำงานไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นเมื่ออาหารบางส่วนที่ย่อยยังไม่ดีผ่านเข้าไปในกระแสเลือด ก็จะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมาได้
   
          นอกจากนี้อาการแพ้อาหารของทารกยังอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงพอ อันเนื่องมาจากเด็กทารกไม่มีโอกาสกินนมแม่นั่นเอง ซึ่งกรณีนี้ก็จะเพิ่มความเสี่ยงอาการแพ้ให้ทารกได้ง่ายขึ้น และไม่ใช่แค่อาการแพ้อาหารเท่านั้นนะคะ แต่เด็กทารกอาจมีความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เพิ่มอีกก็ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรให้นมกับลูกเอง โดยเฉพาะในเด็กอายุ 1 เดือนแรก

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อแพ้อาหาร

          หากมีอาการแพ้อาหารสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้

          1. ตั้งสติและรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หากอาการมีทีท่าว่าจะหนัก ให้เรียกรถพยาบาล โดยโทร. แจ้ง 1669

          2. หากเวียนศีรษะหรือหน้ามืดให้นอนราบลง แต่หากหายใจไม่สะดวกให้นั่งในท่าเอน ตั้งศีรษะสูง หรือหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้นอนตะแคงลงทางด้านซ้ายและหนุนขาสูง

          3. หากมียาแก้แพ้ให้กินยาแก้แพ้ก่อน

          4. รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

แพ้อาหาร รักษาอย่างไร
   
          การรักษาอาการแพ้อาหารส่วนมากจะรักษาตามอาการที่เป็นไปก่อน เช่น ถ้ามีอาการแพ้อาหารทางผิวหนัง แพทย์อาจให้กินยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นสารต้านฮิสตามีน หรือที่เรียกยาแก้แพ้อาหารแอนติฮิสตามีน หรือบางรายอาจได้ยาคลอร์เฟนิรามีนขององค์การเภสัชกรรมมากิน อาการแพ้อาหารก็จะดีขึ้นตามลำดับ แต่หากมีอาการคันที่ผิวหนังมากหรือเป็นลมพิษรุนแรง ก็สามารถใช้คาลาไมน์โลชั่นทาให้ทั่ว

          ทว่าหากมีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เช่น มีอาการหอบหืดมาก ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างหนัก แพทย์จะรักษาด้วยการฉีดยาอะดรีนาลินเข้ากล้ามเนื้อต้นขา และอาจจะต้องฉีดยาอื่น ๆ เข้าทางหลอดเลือด หรือพ่นยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่หอบหืดแรง แต่หากอาการแพ้ไม่ดีขึ้นแพทย์ก็จะฉีดยาอะดรีนาลินซ้ำ รวมไปถึงให้น้ำเกลือในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ และรักษาอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย

          อย่างไรก็ตาม การฉีดยาอะดรีนาลินอาจส่งผลข้างเคียง เช่น มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดยา ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง ซึ่งเป็นฤทธิ์ของยาอะดรีนาลินที่ฉีดเข้าไป แต่สักพักอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปได้เอง ดังนั้นไม่ต้องตกใจนะคะ

อาการแพ้อาหาร
 
อาการแพ้อาหาร ป้องกันได้อย่างไร
   
          วิธีป้องกันอาการแพ้อาหารที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ หรือหากกินอาหารบางอย่างเข้าไปแล้วเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายให้หยุดกินอาหารชนิดนั้นทันที แต่ในกรณีที่ไม่เคยกินอาหารชนิดนั้นมาก่อนเลย อาจป้องกันอาการแพ้อาหารได้ด้วยการลองชิมชิ้นเล็ก ๆ ดูก่อนเป็นอันดับแรก
   
          อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการแพ้อาหารเป็นประจำ ควรเตรียมยาแก้แพ้อาหารติดตัวไว้ด้วย อย่างน้อยกันไว้ก็ดีกว่าแก้ทีหลังนะคะ


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 มีนาคม 2564


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการแพ้อาหาร อันตรายถึงตาย ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2564 เวลา 15:44:52 166,980 อ่าน
TOP
x close