น้ำเหลืองไม่ดี น้ำเหลืองเสีย คำนี้อาจได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาที่โดนยุงกัด แมลงกัดแล้วเป็นตุ่มใหญ่ ขาลายพร้อย ก็จะโยนความผิดให้น้ำเหลืองว่าไม่ดีตลอด น้ำเหลืองไม่ดี หลายคนเข้าใจว่าเป็นความผิดปกติของน้ำเหลือง ที่ทำให้รอยแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อยเบา ๆ แต่ผิวหนังก็เป็นตุ่มคันขึ้นใหญ่มาก แดงเป็นปื้น ทว่าจริง ๆ แล้วทางการแพทย์มีโรคน้ำเหลืองไม่ดีจริง ๆ ไหม แล้วเกิดจากอะไรกันแน่ เราลองมาหาคำตอบไปพร้อมกัน น้ำเหลืองไม่ดี จริง ๆ แล้วทางการแพทย์จะเรียกว่า ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Impetigo) จากการที่รับเชื้อมาจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือเชื้อที่มีอยู่ประปรายตามสิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว เช่น สนามหน้าบ้าน บ่อน้ำ หรือพื้นดินทั่วไป แล้วเกิดการติดเชื้อ ทำให้เวลาเป็นแผลก็จะเป็นนาน หายช้า แผลดูลุกลามเกินจริง เช่น บางคนแค่โดนยุงกัดก็เป็นรอยแดง ๆ ใหญ่ ๆ ไปทั่ว เป็นต้น ทั้งนี้ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ในเด็กเล็ก ๆ จะเจอได้บ่อยกว่าวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้สูงอายุ โดยอาการตอบสนองต่อเชื้อ ความรุนแรง และระยะเวลาการติดเชื้อ จะมีความแตกต่างกันไปแล้วแต่ภูมิคุ้มกันของแต่ละคน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติของน้ำเหลืองเลยนะคะ ดังนั้นคำว่าน้ำเหลืองไม่ดี น้ำเหลืองเสีย จึงไม่มีอยู่จริงทางการแพทย์นั่นเอง ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Impetigo) หรือที่เข้าใจกันมาตลอดว่าคือโรคน้ำเหลืองไม่ดี มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ที่พอร่างกายรับเข้ามาแล้ว และไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายดี ๆ ก็จะติดเชื้อผ่านการแคะ แกะ เกา และลุกลามเป็นผื่น ตุ่มคันที่ผิวหนังต่อไป อาการน้ำเหลืองไม่ดี หรือจริง ๆ แล้วคืออาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Impetigo) สังเกตได้ดังนี้ เมื่อโดนแมลงสัตว์กัดต่อยจะเป็นตุ่มคันขนาดใหญ่ หรือผิวหนังอาจเป็นผื่นแดงลุกลาม แผลอาจกระจายออกอย่างรวดเร็ว มีอาการคันมาก ตุ่มคันหรือผื่นแดงอาจมีอาการบวมตามมา อาจรู้สึกปวดแผลได้ในบางคน โดยเฉพาะหากเกาแรง ๆ จนเกิดการอักเสบที่ผิวหนัง ในบางคนอาจมีของเหลวไหลออกจากแผล เมื่อของเหลวแห้งจะกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง แผลหายช้า เป็นอยู่นานนับสัปดาห์ อย่างไรก็ดี อาการจะเป็นมากเป็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคของแต่ละคน รวมถึงการรักษาสุขอนามัยของตัวเองด้วย เราสามารถรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ ดังนี้ ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาสุขอนามัยของร่างกายให้ดี เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หากเป็นแผลคัน ตุ่มคัน ควรหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา แผล เพื่อลดโอกาสติดเชื้อลุกลาม ล้างทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยสบู่อ่อน ๆ ทายาหม่อง บาล์มแก้ผื่นคัน บรรเทาอาการคันของแผล หากเป็นแผลรักษาไม่หาย นานแล้วไม่หาย คันมาก แพทย์อาจให้ทายาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ หรือฟอกยาฆ่าเชื้อ และในเคสที่เป็นหนัก ๆ อาจได้ยาฆ่าเชื้อไปรับประทาน ทั้งนี้ การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หากอาการไม่มากก็สามารถดูแลตัวเองให้หายได้ แต่หากอาการหนัก แผลเยอะ กินเวลานานกว่าจะหาย ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม วิธีป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังทำได้ง่าย ๆ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสดิน ต้นหญ้า น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ หรือโคลน หรือสิ่งของต่าง ๆ รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ตัดเล็บให้สั้นเข้าไว้ หลีกเลี่ยงการล้วง แคะ แกะ เกา ตามร่างกาย การป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง จะเน้นไปที่การรักษาความสะอาด รักษาสุขอนามัยของร่างกาย ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะอย่างที่บอกว่าโรคนี้เป็นกันได้ทุกคน และเราก็ต้องสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัวกันอยู่ตลอด ดังนั้นก็ต้องหมั่นดูแลตัวเองทุกเวลาเช่นกัน ► ทลายความเชื่อ น้ำเหลืองไม่ดี ทางการแพทย์ไม่มีโรคนี้ ดูแลไม่ดีมีสิทธิ์เป็นซ้ำ ► อาหารบำรุงน้ำเหลือง น้ำเหลืองไม่ดีมีจริงไหม ควรกินอะไรช่วยบำรุง ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, เฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว, โรงพยาบาลจุฬารัตน์แอร์พอร์ต 9
แสดงความคิดเห็น