x close

เท้าบวมเกิดจากอะไร บวมแบบไหนต้องรีบใส่ใจ ลักษณะไหนน่าเป็นห่วง

          อยู่ ๆ เท้าก็บวมขึ้นมาจนสังเกตได้ชัด แล้วอาการเท้าบวมเกิดจากอะไร บ่งชี้ถึงโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเราได้หรือไม่ ลองเช็กอาการกัน

เท้าบวม

          จากเท้าขนาดปกติอยู่ดี ๆ ก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าเท้าบวมขึ้นมา โดยอาจจะมีอาการเท้าบวมข้างเดียว หรือบวมทั้งสองข้างแต่ไม่เท่ากันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ว่าแต่สาเหตุของเท้าบวมเกิดจากอะไร อาการนี้ส่อสัญญาณของโรคใดได้บ้าง หากใครมีอาการเท้าบวมก็ลองมาหาคำตอบเลย

1. อ้วนขึ้น


เท้าบวม

          ถ้าช่วงนั้นมีพฤติกรรมกินมากเกินไป จนน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ทำให้เท้าบวมได้ เพราะเท้าต้องแบกรับน้ำหนักร่างกายมากขึ้น

2. มีภาวะบวมน้ำ

          บางคนมีภาวะบวมน้ำแบบไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเกิดจากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป ดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยอาการเท้าบวมจะเกิดขึ้น 2 ข้างพร้อมกัน และเท้าจะบวมไม่มากนัก แบบเมื่อใส่รองเท้าคู่เดิมก็อาจจะคับขึ้นมาจนรู้สึกได้ ดังนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง และดื่มน้ำให้มากขึ้น

          - บวมน้ำหรืออ้วน ชวนให้สงสัย แล้วแก้ยังไงให้หายบวม !

3. ภาวะ PMS

          อย่างสาว ๆ ที่อยู่ในช่วงใกล้ประจำเดือนมา มักรู้สึกว่าร่างกายมีอาการบวมขึ้น เช่น หน้าอกใหญ่ขึ้น พุงป่อง แขน ขา เท้าก็อาจจะขยายขึ้นเล็กน้อย หากใครมีอาการเท้าบวมช่วงก่อนประจำเดือน (PMS) บ่อย ๆ จนรู้สึกอึดอัด ต้องพยายามดื่มน้ำมาก ๆ ลดอาหารโซเดียมสูง แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และหมั่นออกกำลังกาย จะช่วยรักษาอาการ PMS ไม่ให้กวนใจ

4. บาดเจ็บที่ข้อเท้า


เท้าบวม

          อาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า หรือบริเวณเท้า ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้าพลิก หกล้ม อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง บริเวณเท้าได้ โดยอาการเท้าบวมจากอุบัติเหตุมักจะบวมที่เท้าข้างที่เจ็บเท่านั้น และเมื่อรักษาอาการเจ็บ อักเสบนั้นได้ อาการเท้าบวมก็จะหายไปเอง

5. การอักเสบเฉพาะที่

          เคสที่มีอาการเท้าบวม มีไข้สูง มีอาการปวดเท้า แบบที่ลงน้ำหนักเวลาเดินแทบไม่ได้ ลักษณะนี้ต้องสงสัยว่าจะมีอาการอักเสบเฉพาะที่ ยิ่งถ้าเท้าบวมและเป็นหนองร่วมด้วย ก็น่าจะเกิดจากการติดเชื้อจากอะไรสักอย่าง ซึ่งหากอยากได้คำตอบที่ชัดเจน แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ค่ะ

6. ผลข้างเคียงจากยา

          การกินยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมนต่าง ๆ ยาสเตียรอยด์ ยาต้านเศร้า หรือยารักษาโรคเบาหวาน อาจเป็นสาเหตุของอาการเท้าบวมได้เหมือนกัน

7. เท้าบวมตอนท้อง


เท้าบวม

          คุณแม่ท้องที่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 มักจะมีอาการเท้าบวม มือบวม อันเนื่องมาจากปริมาณของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของตัวคุณแม่เอง ซึ่งหากมีอาการเท้าบวม มือบวม แต่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ อาจไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไร แต่หากมีอาการเท้าบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หน้าบวม มีภาวะซีด ผิวหนังมีจ้ำเขียว ๆ ความดันโลหิตสูง ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน อาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์โดยเร็ว

8. เท้าบวมจากการผ่าตัด

          โดยเฉพาะหากมีการผ่าตัดบริเวณขาหรือเท้า มีการเข้าเฝือกนาน ๆ ทำให้เคลื่อนไหวขาและเท้าได้ลำบาก อาจมีอาการเท้าบวมให้เห็นบ้าง เนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดีนัก จนอาจมีเลือดคั่งในบางจุด

9. โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน

          ในคนที่ต้องยืนนาน ๆ เช่น พนักงานขายตามห้างสรรพสินค้า พนักงานแคชเชียร์ ครู อาจารย์ ช่างเสริมสวย จราจร พยาบาล อาจมีอาการเท้าบวม ขาบวมได้ง่าย เนื่องจากเสี่ยงต่อการอุดตันที่หลอดเลือดดำที่ขา หรือการอุดตันทางระบบน้ำเหลืองของขาและเท้า ส่งผลให้เกิดอาการเท้าบวม ขาบวมโดยไม่มีอาการปวด

10. ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphoedema)


          คือภาวะที่เนื้อเยื่อในร่างกายมีอาการบวมเรื้อรัง ทำให้น้ำเหลืองคั่งสะสมในชั้นผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้กับบริเวณขาและเท้าเช่นกัน หากมีอาการขาบวม เท้าบวม เพราะภาวะบวมน้ำเหลือง จะรู้สึกปวดขา ปวดเท้า รู้สึกหนัก ๆ หน่วง ๆ ขาจนเคลื่อนไหวลำบาก ผิวหนังจะหนาและแข็งขึ้น เป็นตะปุ่มตะป่ำ จำเป็นต้องให้แพทย์รักษาด้วยการขันชะเนาะ หรือภูษาบำบัด เพื่อให้น้ำเหลืองไหลเป็นปกติ

11. โรคเบาหวาน

เท้าบวม

          หนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานคือ อาการเส้นประสาทเสื่อม ชาปลายมือ ปลายเท้า ทำให้เกิดอาการเท้าบวม และเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย ๆ ฉะนั้นหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกันทุกปี และสังเกตอาการโรคเบาหวานของตัวเองกันด้วย

12. โรคเท้าช้าง

          หนึ่งในโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ก่อให้เกิดภาวะท่อน้ำเหลืองอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ พร้อมกับมีการอุดตันที่ท่อทางเดินน้ำเหลือง ส่งผลให้มีพังผืดและมีน้ำเหลืองคั่ง จนเกิดอาการเท้าบวมได้ ซึ่งโรคนี้ผู้ป่วยจะมีไข้ และมีอาการอักเสบบริเวณต่อมน้ำเหลือง เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะมาก่อน

13. โรคเกาต์

          การอักเสบของข้อและกระดูกเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเท้าบวม โดยเฉพาะคนที่มีอาการของโรคเกาต์ ก็จะรู้สึกเจ็บที่ข้อเท้า ข้อต่อหัวแม่เท้า และมีอาการเท้าบวมร่วมด้วย ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว ควรไปตรวจสุขภาพโดยเร็วที่สุด

14. โรคตับ

          ผู้ป่วยโรคตับมักจะมีอาการบวมตามตัว โดยเฉพาะที่ขาและเท้า เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ต่ำสุดของร่างกาย เลือดและน้ำมักจะคั่งอยู่ในหลอดเลือดบริเวณนี้ ร่วมกับมีอาการท้องโต ตัวเหลือง เหนื่อยง่าย ท้องอืด ท้องเฟ้อ

 15. โรคไต

          ถ้าเท้าบวมทั้งสองข้าง โดยกดไม่เจ็บ แต่กดแล้วบุ๋ม และมีอาการหน้าบวม มือบวม หนังตาบวมร่วมด้วย อีกทั้งยังมีอาการปวดเอว ปัสสาวะเป็นสีน้ำหมาก หรือสีน้ำล้างเนื้อ ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคไตได้

16. โรคหัวใจ

          กรณีนี้จะสังเกตได้ว่า เท้าจะบวมทั้งสองข้าง เนื่องจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจทำงานผิดปกติไป ทำให้มีเลือดคั่งในหลอดเลือดดำ และส่งผลให้เกิดอาการเท้าบวม กดบุ๋ม แต่ไม่เจ็บ ซึ่งหากมีอาการเท้าบวมร่วมกับเหนื่อยหอบ หายใจติดขัด ก็ควรรีบไปตรวจร่างกายกับแพทย์

เท้าบวมลักษณะไหน น่าเป็นห่วง

เท้าบวม

          หากมีอาการเท้าบวมและมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา

          * เท้าบวม แดง ร้อน หรือกดแล้วเจ็บ

          * เท้าบวมเฉพาะที่หลังเท้า ลามไปถึงหน้าแข้ง

          * เท้าบวมเป็นเวลา เช่น เท้าบวมหลังตื่นนอน เท้าบวมตอนเย็น เป็นต้น

          * มีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ

          * รักษาเบื้องต้นแล้วไม่หาย แต่อาการกลับรุนแรงขึ้น

          * มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจผิดปกติ

เท้าบวม รักษาอย่างไรดี


เท้าบวม

          การรักษาอาการเท้าบวมต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เท้าบวม แต่ถึงอย่างนั้นก็พอจะมีวิธีบรรเทาอาการเท้าบวมอยู่เหมือนกัน ลองมาดู

          - เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี

          - หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขา เมื่อต้องนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน ให้สลับยกขา หรือเปลี่ยนอิริยาบถมาพาดขากับหมอนอิง หรือเก้าอี้ (ให้เท้าสูงระดับสะโพก) เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไปตกอยู่ที่เท้ามากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เท้าบวมมากขึ้นได้

          - ลดการกินเค็ม เพราะโซเดียมจากความเค็มเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการบวม

          - ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้ระบบน้ำเหลืองทำงานเป็นปกติ

          - ไม่สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่คับจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณต้นขา หรือข้อเท้า

          - ดูแลรูปร่างให้ไม่อ้วนมากจนเกินไป หากน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก จะช่วยป้องกันอาการเท้าบวมได้

          - ยกเท้าสูงขึ้นเล็กน้อยตอนนอน เช่น หาหมอนมาหนุนขาจะช่วยลดอาการบวมของเท้าได้ หรืออาจนอนหงายแล้วยกขาพิงผนังไว้สัก 2-3 นาที ทำซ้ำได้วันละหลายครั้ง 

          - หากต้องนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานาน ให้หมุนข้อเท้าและยกเท้าขึ้น-ลง เพื่อให้เท้าเคลื่อนไหว

          - ควรใส่ผ้ารัดข้อเท้าเพื่อลดอาการปวด-บวม โดยเฉพาะคนที่จำเป็นต้องยืนนาน ๆ

          หากมีอาการเท้าบวมก็ควรสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ของตัวเองด้วย และหากพบว่าอาการไม่น่าไว้วางใจ ควรให้อาการเท้าบวมของเราอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะคะ

          *หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562
    
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, , , th.theasianparent, โรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เท้าบวมเกิดจากอะไร บวมแบบไหนต้องรีบใส่ใจ ลักษณะไหนน่าเป็นห่วง อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16:31:54 265,873 อ่าน
TOP