โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) โรคจากแมลงริ้นฝอยทรายกัด เช็กอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต !


          โรคลิชมาเนีย อันตรายเงียบจากแมลงริ้นฝอยทรายกัด ถึงตัวเล็กแต่ร้าย อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
แมลงริ้นฝอยทราย พาหะของโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)
แมลงริ้นฝอยทราย

          โรคลิชมาเนีย ฟังชื่อไม่ค่อยคุ้นหู แต่เป็นโรคติดเชื้อที่พบคนป่วยในไทยอยู่ทุกปี และยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีแมลงริ้นฝอยทราย ตัวเล็ก ๆ เป็นพาหะนำโรคร้ายนี้มาสู่เรา วันนี้ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจโรคลิชมาเนีย อาการเป็นอย่างไร รักษาได้ไหม ใครคือกลุ่มเสี่ยง และทำไมถึงมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ เพื่อรับมืออย่างถูกวิธีค่ะ

โรคลิชมาเนีย คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร


โรคลิชมาเนีย คืออะไร สาเหตุเกิดจากแมลงริ้นฝอยทรายกัด

         โรคลิชมาเนีย หรือ โรคลิชมานิเอซิส (Leishmaniasis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) โดยมีพาหะเป็นแมลงริ้นฝอยทราย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sand fly 

         ทั้งนี้ โปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) ที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนนั้นมีมากกว่า 20 สายพันธุ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะระบาดในประเทศแถบยุโรปตอนใต้บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี กรีซ สเปน, ประเทศแถบเอเชียกลาง เช่น อินเดีย บังกลาเทศ, ทวีปแอฟริกา, ทวีปอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้

         สำหรับในประเทศไทยพบผู้ป่วยอยู่บ้างในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง

แมลงริ้นฝอยทราย พบที่ไหน

         
        แมลงริ้นฝอยทราย ซึ่งเป็นพาหะของโรคลิชมาเนีย มักอยู่ในบริเวณที่มีลักษณะดังนี้

         - พื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เช่น ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย
         - ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรค เช่น หนู และมีอินทรียวัตถุที่ตัวอ่อนของริ้นฝอยทรายใช้ในการเจริญเติบโต
         - บริเวณที่ชื้นแฉะ ซึ่งริ้นฝอยทรายจะชอบวางไข่ในดินชื้นหรือใกล้น้ำ รวมทั้งในถ้ำ
         - โพรงไม้ ซอกหิน และจอมปลวก เป็นที่หลบซ่อนและอาศัยของริ้นฝอยทรายบางชนิด
         - กองไม้ กองฟืน เศษใบไม้ทับถม หรือรูหนู ก็อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ริ้นฝอยทรายได้

โรคลิชมาเนีย ติดต่อกันได้อย่างไร


โรคลิชมาเนีย ติดต่อกันด้วยวิธีใด

         โรคลิชมาเนีย ติดต่อจากสัตว์รังโรค เช่น สุนัข วัว แมว หนู กระรอก กระแต แพะ แกะ ฯลฯ มาสู่คนได้ หากแมลงริ้นฝอยทรายดูดเลือดจากสัตว์ที่มีเชื้อลิชมาเนียแล้วมากัดคนต่อ

         อย่างไรก็ตาม ในสัตว์ที่มีเชื้อนี้มักไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ทว่าเมื่อเชื้อเข้ามาสู่ร่างกายคนจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Macrophage และแบ่งตัวรวดเร็วและมากมาย ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวแตก หลังจากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายสู่เม็ดเลือดขาวเซลล์อื่น ๆ ต่อไป

         ทั้งนี้ โรคลิชมาเนียไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสทางผิวหนังได้ แต่จะแพร่ระบาดผ่านแมลงริ้นฝอยทรายเท่านั้น

โรคลิชมาเนีย อาการเป็นอย่างไร


         หลังจากถูกตัวริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อกัดแล้ว เชื้อจะมีระยะเวลาในการฟักตัวตั้งแต่ 2-3 วัน หรืออาจจะกินเวลายาวนานไปเป็นปีก็มี แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ โดยหลังจากเชื้อฟักตัวแล้วจะแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

1. อาการที่ผิวหนัง (Cutaneous Leishmaniasis หรือ CL)


         เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด โดยอาการเริ่มแรกจะมีตุ่มนูนพองใสและแดงทั่วตัว เมื่อกลายเป็นแผลก็อาจจะเป็นแผลเปียกหรือแผลแห้งก็ได้ ขอบแผลนูน และสามารถลุกลามจากแผลเล็ก ๆ หลาย ๆ แผลกลายเป็นแผลใหญ่ แต่มักไม่เจ็บ

2. อาการที่เยื่อบุบริเวณปากและจมูก (Mucocutaneous Leishmaniasis หรือ MCL)


         เป็นรูปแบบที่รุนแรงกว่าลิชมาเนียที่ผิวหนัง เพราะเชื้อลุกลามต่อไปยังเยื่อเมือกในจมูก ปาก และลำคอ ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่ออย่างรุนแรง โดยแผลอาจจะทำให้รูปหน้าผิดไปจากเดิม รวมทั้งมีอาการไข้ ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

3. อาการที่อวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis หรือ VL)


          เป็นรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะภายใน อาการนี้ปัจจุบันมักจะเรียกว่า คาลา-อซาร์ (Kala-azar) โดยอาการสำคัญของโลกนี้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามไว้ก็คือ เป็นไข้เรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 10 วัน ซีด ม้ามโต ตับโต น้ำหนักลด โลหิตจาง ซึ่งหากได้รับการรักษาจนหายแล้วผู้ป่วยอาจจะมีอาการทางผิวหนังหลงเหลือ ได้แก่ ตุ่มนูน ปื้น หรือด่างดวง บางรายอาจจะมีหลายลักษณะผสมกัน แต่ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้

โรคลิชมาเนีย ใครคือกลุ่มเสี่ยง


         ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคลิชมาเนีย ได้แก่

         - กลุ่มคนที่ต้องเดินทางไปทำงานในประเทศแถบที่มีการระบาดของโรคลิชมาเนีย
         - คนที่มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ หรือต้องเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า เป็นต้น
         - ผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ใกล้ป่า หรือในป่าภาคใต้และภาคเหนือ
         - คนเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว วัว ควาย เพราะริ้นฝอยทรายอาจจะนำเชื้อจากสัตว์เหล่านั้นมาสู่คนที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงได้
         - ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ ก็มีโอกาสจะติดโรคลิชมาเนียได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป

โรคลิชมาเนีย หายเองได้ไหม


ลักษณะแผลที่เกิดจากโรคลิชมาเนีย โรคนี้หายเองได้ไหม

         ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียอาจจะหายเองได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ ลักษณะอาการที่พบ ปัจจัยทางพันธุกรรม และภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละคนด้วย เช่น ในกรณีเป็นลิชมาเนียที่ผิวหนังและอาการไม่รุนแรง ร่างกายอาจสามารถกำจัดเชื้อและแผลอาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แม้จะต้องใช้เวลานานหลายเดือน และมักทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้

         แต่ในกรณีที่เชื้อกระจายเข้าสู่เยื่อเมือกหรืออวัยวะภายใน อาการนี้จะไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายจนทำให้การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว

โรคลิชมาเนีย การรักษาเป็นอย่างไร


         การรักษาโรคลิชมาเนียแบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่

         1. การรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก
         2. การรับประทานยา
         3. การรักษาด้วยการฉีดยา ซึ่งจะใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

         สำหรับยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ เพนทาวาเลนซ์ แอนติโมเนียล (Pentavalent Antimonials), เพนทามิดีน (Pentamidine), พาโรโมมัยซินซัลเฟต (Paromomycin Sulfate), มิลเตโฟซีน (Miltefosine), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โดยยาเหล่านี้ที่ใช้ในการรักษามีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ในขณะที่ใช้ยา

โรคลิชมาเนีย ป้องกันอย่างไร


วิธีป้องกัน โรคลิชมาเนีย

         การป้องกันโรคลิชมาเนียนอกจากจะป้องกันด้วยตนเองแล้ว การร่วมมือกันในชุมชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากในชุมชนที่อาศัยมีการกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดพาหะในการเกิดโรคได้ก็จะช่วยลดการติดเชื้อลงได้ค่ะ โดยวิธีการป้องกันมีดังนี้

         1. กำจัดต้นตอแหล่งกำเนิดพาหะอย่างริ้นฝอยทราย ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้านและในชุมชนให้สะอาด เป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อไม่ให้ริ้นฝอยทรายมีแหล่งในการเพาะพันธุ์ รวมถึงฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในบริเวณที่พบริ้นฝอยทราย

         2. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ใกล้ตัวบ้าน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเลี้ยงใกล้บ้านจริง ๆ ควรให้สัตว์อยู่ในมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันริ้นฝอยทราย หรือนำปลอกคอชุบสารเคมีชนิดเดียวกันแล้วนำไปใส่ให้สัตว์เลี้ยง ก็สามารถช่วยป้องกันสัตว์ถูกริ้นฝอยทรายกัดได้เช่นกัน

         3. แต่งตัวให้มิดชิดและรัดกุม เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ในขณะที่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่ และควรทายากันยุงในบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าเพื่อป้องกันริ้นฝอยทรายกัด

         4. เวลานอนควรกางมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันแมลง ซึ่งจะช่วยป้องกันยุงและตัวริ้นฝอยทรายได้

         5. ในกลุ่มคนที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคลิชมาเนีย หากพบว่าโดนริ้นฝอยทรายกัดควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และป้องกันไม่ให้เชื้อดังกล่าวแพร่กระจายไปยังผู้อื่นต่อไป


         แม้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วเจ้าโรคลิชมาเนียไม่ได้ไกลตัวเราอย่างที่คิดนะคะ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งประมาท อย่างน้อยหาทางป้องกันเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด


บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อ-โรคที่เกิดจากปรสิต


         - โรคที่เกิดจากปรสิตมีอะไรบ้าง ชวนรู้จักสิ่งมีชีวิตตัวร้ายที่ก่อโรคได้หลายระบบ
         - ตัวโลนคืออะไร คันตา คันที่ลับจนทนไม่ไหว ต้องตรวจดูแล้วล่ะ !
         - วิธีกำจัดเหาให้สิ้นซาก จบปัญหากวนใจบนผิวหนัง
         - ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า โรคติดต่ออันตราย ป่วยได้เพราะยุง !
         - รู้เรื่องพยาธิ อาการแบบไหนต้องสงสัยว่ามีพยาธิ ใช้ยาถ่ายพยาธิดีไหม ?


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) โรคจากแมลงริ้นฝอยทรายกัด เช็กอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ! อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 10:22:25 35,397 อ่าน
TOP
x close