ผงชูรส ทํามาจากอะไร อันตรายไหม กินแล้วผมร่วงจริงหรือ !?


          ผงชูรส อันตรายไหม ที่เราได้ยินกันมานานว่า กินแล้วผมร่วง สมองเสื่อม เป็นหมัน จริง ๆ แล้วร้ายแรงขนาดนี้เลยหรือ พร้อมที่จะไขคำตอบไปด้วยกันหรือยัง

ผงชูรส

          ผงชูรสกลายเป็นเครื่องปรุงรสที่ร่างกายเราได้รับอยู่ทุกวี่วัน ทั้งจากอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ขนมขบเคี้ยวก็ตาม ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ตัวหรอกเนอะว่ากินผงชูรสไปมากเท่าไรแล้ว แต่เอ๊ะ...ที่ผ่านมามีคำเตือนให้เราได้ยินกันเสมอว่า กินผงชูรสเยอะ ทำให้ผมร่วง ความจำแย่ สมองเสื่อม ฯลฯ หรือบางคนอาจมีอาการแพ้ผงชูรส

          ฟังแล้วก็มีข้อสงสัยอยู่ในใจว่า ถ้าผงชูรสอันตรายขนาดนั้น ทำไมถึงยังมีการผลิตออกมาขายอยู่อีก งั้นลองมาไขข้อข้องใจกันหน่อยว่า ผงชูรสอันตรายไหม

ผงชูรส คืออะไร ทำมาจากอะไร


ผงชูรส

          ผงชูรสเป็นผลึกสีขาว ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น โดยเริ่มแรกเมื่อปี พ.ศ. 2451 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้สกัดกรดอะมิโนจากสาหร่ายทะเลคอมบุ และเขาได้ตั้งชื่อว่า สารกลูตามิก หรือสารสกัดผงชูรสที่ได้ว่า อูมามิ ก่อนจะผลิตขายเชิงพาณิชย์ในปีถัดมา ทั้งนี้ ผงชูรสมีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียม แอล กลูตาเมต โมโนไฮเดรต (Monosodium L glutamate monohydrate) หรือรู้จักกันในชื่อ โมโนโซเดียมกลูตาเมต มีสูตรเคมีคือ CHNONa

          แต่ในปัจจุบันการผลิตผงชูรส ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล เป็นหลัก โดยนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ Corynebacterium glutamicum หรือเชื้อ Brevibacterium lactofermentum แล้วนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนได้ผงชูรสที่เราเห็น ๆ กัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากทั่วโลกให้การยอมรับว่าสามารถนำมาปรุงรสในอาหารได้

ผงชูรส ทำไมทำให้อาหารอร่อยขึ้น


          ผงชูรสจะละลายไขมันในอาหารให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ และไปกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอ ส่งผลให้ลิ้นรับรสชาติอาหารได้ไว นาน ทำให้เรารู้สึกว่าอาหารที่ใส่ผงชูรสมีรสชาติกลมกล่อม หวานอร่อยกว่าปกติ

กินผงชูรสเยอะ ผมร่วงจริงไหม


ผงชูรส

          หลายคนเข้าใจว่ากินผงชูรสมาก ๆ แล้วจะทำให้ผมร่วง ซึ่งประเด็นนี้บอกเลยว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าผงชูรสเป็นตัวการทำให้ผมร่วง เพราะสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง ยังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน และอายุ เป็นหลัก ดังนั้น ประเด็นกินผงชูรสแล้วผมร่วงจริงไหม ตอบเลยว่าไม่จริงค่ะ

กินผงชูรสแล้วทำไมหิวน้ำ


ผงชูรส

          คงเคยได้ยินหรือบ้างก็สัมผัสมากับตัวเองว่ากินผงชูรสหรือกินเค็มมาก ๆ แล้วคอแห้ง อยากกินน้ำตามเยอะ ๆ นั่นก็เพราะว่าโซเดียมจากผงชูรสและเกลือ (จากผงปรุงรสต่าง ๆ) กินเข้าไปแล้วจะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เราต้องการน้ำมาปรับสมดุลตามกระบวนการของร่างกายมากกว่าปกติ ดังนั้น เราจึงรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้นนั่นเอง

กินผงชูรส อันตรายไหม 


          ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้ชัดว่า กินผงชูรสแล้วจะอันตรายถึงตาย หรือมีความเสี่ยงทำให้ความจำแย่ เพราะจริง ๆ แล้วผงชูรสก็เป็นเครื่องปรุงรสที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าสามารถนำมาปรุงอาหารได้ อีกอย่างการที่คนเราจะกินผงชูรสแล้วตายก็ต้องกินผงชูรสในปริมาณมาก ๆ เช่น หากมีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ต้องกินผงชูรสประมาณ 1 กิโลกรัม ถึงจะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เคยมีรายงานว่าผงชูรสเป็นสาเหตุทำให้คนตายได้ในทันทีทันใด และไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันได้ว่าผงชูรสเป็นสาเหตุของอาการความจำแย่ด้วยค่ะ

          แต่อย่างไรก็ดี หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ รวมไปถึงเด็กแรกเกิดถึงอายุ 3 เดือน ก็ไม่ควรกินผงชูรสเช่นกัน เพราะอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้ด้วย

ผงชูรส

แพ้ผงชูรส อาการเป็นยังไง


          คนที่มีความไวต่อผงชูรส หรือได้รับผงชูรสมากจนเกินไป อาจมีอาการข้างเคียงจากผงชูรสได้ เช่น ลิ้นชา ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ หรือบางคนอาจมีอาการแพ้ผงชูรสอย่างหนักไปถึงขั้นโรคภัตตาคารจีน (Chinese Restaurant Syndrome หรือ CRS) ซึ่งจะมีอาการชาที่ปาก ชาลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ

          หรือคนที่มีอาการแพ้ผงชูรสมาก ๆ อาจชาที่ใบหน้า ชาที่หู วิงเวียน ใจเต้นเร็ว เป็นอัมพาตตามแขน-ขาชนิดชั่วคราว แต่ทั้งนี้อาการผิดปกติจะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และอาการจะหายได้เองภายใน 2 ชั่วโมง โดยมักจะไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ

ผงชูรส ถ้ากินมากเกินไป อันตรายยังไงบ้าง


          โทษของผงชูรสที่น่าเป็นกังวลคือ ผงชูรสไม่มีรสชาติ ดังนั้น เราอาจจะไม่รู้ตัวว่ากินผงชูรสไปมากเท่าไรแล้ว และหากกินผงชูรสในปริมาณที่มากเกินความพอดีไปทุกวัน ๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังได้ เนื่องจากผงชูรสเป็นโซเดียมอย่างหนึ่งที่หากร่างกายได้รับมากเกินไปก็จะเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การกินผงชูรสมากเกินไปอาจกระตุ้นให้โรคหอบหืดหรือโรคไมเกรนกำเริบได้
 

ผงชูรส

ผงชูรส กินได้มาก-น้อยแค่ไหน


          นักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช แนะนำว่า ปริมาณผงชูรสที่กินได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง คือ ผงชูรสปริมาณ 1 ช้อนชาต่อมื้อ หรือวันละ 0.5 กรัมต่อวัน โดยไม่ใส่เครื่องปรุงรสอื่น ๆ เพิ่มเติม หรือหากกะเกณฑ์ไม่ได้ก็พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการหมัก การปรุงรสจัด ๆ เช่น อาหารปิ้ง ย่าง ยำ ส้มตำ ต้มยำ เครื่องแกง น้ำจิ้มต่าง ๆ ซึ่งมักจะใส่ผงชูรสและเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ในปริมาณที่มากไปจากคำแนะนำ หรือเวลาไปกินอาหารนอกบ้านก็สั่งว่าไม่ใส่ผงชูรสด้วยก็ได้ค่ะ

ผงชูรส ประโยชน์มีไหม


          ประโยชน์ของผงชูรสที่เห็นได้ชัดคือเป็นเครื่องปรุงรสที่ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น และในกรณีผู้สูงอายุที่เบื่ออาหาร กินอาหารไม่ค่อยได้ อาจปรุงอาหารด้วยผงชูรสสักนิดหนึ่งเพื่อเพิ่มรสชาติ และเพื่อให้ผู้สูงอายุกินอาหารได้มากขึ้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรระวังไม่ให้ผู้สูงอายุกินอาหารรสจัดมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรือมันจัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ได้

ผงชูรส ห้ามเลือดได้จริงไหม


          ผงชูรส สามารถใช้ห้ามเลือดได้จริง เพราะจะทำให้ไฟบริโนเจน โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวของเลือด เปลี่ยนเป็นไฟบรินที่มีลักษณะเป็นเส้นใยไปจับกับเกล็ดเลือด ทำให้เลือดเป็นลิ่มหรือแข็งตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ใช้ผงชูรสห้ามเลือด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือบาดแผลติดเชื้อได้ 
 
 
         หากเรากินอาหารทุกอย่างอย่างพอดี อย่างมีสติ อาหารก็จะเป็นพลังงานอย่างหนึ่งของร่างกาย เหมือนอย่างเช่นผงชูรสก็เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของการปรุงอาหาร หากเรากินแต่น้อยก็ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากกินมากเกินไป แบบนี้ก็เสี่ยงต่อสุขภาพแน่ ๆ ซึ่งหากเราไปกินอาหารนอกบ้านคงไม่รู้ว่าอาหารจานนั้นมีผงชูรสมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการกินผงชูรสมากเกินไป ควรสั่งร้านอาหารไม่ให้ใส่ผงชูรส หรือหันมาทำอาหารกินเองในบ้านให้มากขึ้นก็ดีนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรุง





ขอบคุณข้อมูลจาก : Youtube jessadad รายการวิทยาศาสตร์ตาสว่าง, Youtube สํานักข่าวไทย TNAMCOT, ชัวร์ก่อนแชร์, เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช, กรมอนามัย, เฟซบุ๊ก Scimath คลังความรู้ 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผงชูรส ทํามาจากอะไร อันตรายไหม กินแล้วผมร่วงจริงหรือ !? อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13:56:33 96,330 อ่าน
TOP
x close