แพทย์ผิวหนังเตือนคนชอบสัก ระวังเจอสีปนเปื้อน ทำติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ HIV หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นมะเร็ง ขณะที่การใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสักก็ปล่อยสารก่อมะเร็งได้
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเตือนกลุ่มคนที่นิยมสักผิวหนังว่า ต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังสัก โดยที่ผ่านมาพบคนที่สักร้อยละ 75 มีอาการทางผิวหนัง ร้อยละ 68 มีอาการตกสะเก็ด คัน เลือดออก บวม เกิดจุ่มน้ำ เป็นหนอง นอกจากนี้ยังมีคนร้อยละ 7 ที่รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เป็นไข้ และยังมีคนอีกร้อยละ 6 ที่มีแผลเป็น แผลบวม ๆ หาย ๆ
ขณะที่มีบางคนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ถึงขั้นกลายเป็นแผลเรื้อรังบนผิวหนังบริเวณที่สัก ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เชื้อแบคทีเรีย เชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
การปนเปื้อนของสีที่ใช้สัก
เทคนิคการสักไม่ดี
สถานที่ทำการสักไม่สะอาด
เครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน
ปัญหาจากตัวผู้สักเอง
นพ.เวสารัช กล่าวอีกว่า สีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุดคือ สีดำ ซึ่งมี carbon black เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสารตัวนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี ซึ่งส่วนประกอบหลายอย่างยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า แต่ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังจากการสักมากนัก เพราะสารก่อมะเร็งและโลหะหนักจะเกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่
แต่ทว่าการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสักจะทำให้ขนาดอนุภาคของสีสักลดลงได้ถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก อีกทั้งตรวจพบปริมาณโลหะหนักโคบอลต์เพิ่มขึ้นในกระแสโลหิต ทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ อย่างเช่น รู้สึกเหนื่อย เดินเซ สมรรถนะการรู้คิดลดลง แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ถึงกระนั้นแพทย์ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี ก็ปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักแล้ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่วนการทำเฮนน่านั้น นพ.เวสารัช ก็ระบุว่าสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน เพราะผู้ให้บริการบางรายอาจใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร paraphenylene diamine ทดแทนการใช้เฮนนาที่มาจากธรรมชาติ ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดอาการแพ้จนกลายเป็นแผลถาวร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมการสัก และสีที่ใช้สักก็ไม่ถือว่าเป็นยาหรือเป็นเครื่องสำอาง และไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ ดังนั้น การควบคุมในปัจจุบันอาจทำได้เพียงผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น