เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด 19 สัญญาณบอกความผิดปกติของผู้หญิง !

          เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด สุขภาพผู้หญิงที่แสดงออกทางอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย

เลือดออกช่องคลอด
 
          อาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด สำหรับสาว ๆ ที่สังเกตว่าตัวเองมีเลือดออกจากช่องคลอดทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือนจนเริ่มร้อนใจ ลองมาเช็กกันค่ะว่า อาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดที่เป็นอยู่ สามารถโยงไปถึงโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ในร่างกายได้บ้าง

สาเหตุอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด

          ปกติผู้หญิงจะมีเลือดออกจากช่องคลอดทุก ๆ 21-35 วัน เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเรียกว่าเลือดประจำเดือน โดยจะมีเลือดออกเดือนละ 3-7 วัน นับตั้งแต่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี

          แต่หากสังเกตเห็นว่า มีเลือดออกกะปริบกระปรอยทางช่องคลอด ที่ไม่ใช่ประจำเดือน และมา ๆ หาย ๆ อาจมีสาเหตุได้จากอาการดังต่อไปนี้

          1. สัญญาณหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเรียกเลือดที่ออกจากช่องคลอดว่าเลือดล้างหน้าเด็ก โดยอาจมีเลือดออกจาง ๆ ปริมาณน้อยกว่าประจำเดือน และอาจมาเพียง 1-2 วัน ก่อนวันที่รอบเดือนจะมา

          2. สัญญาณของการแท้งบุตร ในผู้หญิงช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีเพศสัมพันธ์ และไม่ได้คุมกำเนิด

          3. ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิดที่มีฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ยาคุมกำเนิด ยาบำรุงสตรี หรือยาบำรุงเลือดลม

          4. ฮอร์โมนแปรปรวน โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (เริ่มมีเลือดประจำเดือน) และผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

เลือดออกช่องคลอด

          5. ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ฮอร์โมนแปรปรวนได้เช่นกัน

          ซึ่งนอกจากนี้แล้ว อาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด ยังสามารถโยงไปถึงสัญญาณความผิดปกติในระบบภายในของเพศหญิง ดังนี้

          6. การตั้งครรภ์นอกมดลูก

          7. การตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด การฉีกขาดของหลอดเลือดที่ทอดผ่านไปยังรก หรือมดลูกแตก
 
          8. เนื้องอกมดลูก มักจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง

เลือดออกช่องคลอด

          9. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก มักจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงทุกเดือน อาจมีอาการปวดตรงบริเวณหัวหน่าว ปวดเฉียบพลันขณะร่วมเพศ หรือปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือ ปวดท้องน้อยเวลาถ่ายปัสสาวะร่วมด้วย

          10. เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ มักเกิดขึ้นหลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ หลังแท้ง หรือหลังคลอดลูก

          11. ดียูบี (DUB หรือ dysfunctional uterine bleeding) หมายถึง ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ไปตรวจไม่พบความผิดปกติของตัวมดลูกและรังไข่ ผู้ป่วยมักมีประจำเดือนออกมาก หรือกะปริบกะปรอยเป็นสัปดาห์ โดยมักจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือเลือดอาจออกมากจนผู้ป่วยซีดและอ่อนเพลีย

          12. เยื่อบุโพรงมดลูกหนา พบบ่อยในหญิงเพิ่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และหญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ก็สามารถพบในหญิงวัยอื่นได้ด้วย

เลือดออกช่องคลอด

          13. เกิดการอักเสบของช่องคลอด หรือการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีแผลจนมีเลือดออกกะปริบกะปรอย

          14. โรคติ่งเนื้อเมือก (polyps) ที่งอกจากเยื่อบุผิวคอปากมดลูก หรือโพรงมดลูก

          15. กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ หรือ พีซีโอเอส (polycystic ovarian syndrome, PCOS)

          16. ความผิดปกติของการแข็งตัวของหลอดเลือด

          17. มะเร็งเยื่อบุมดลูก มักมีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ บางรายอาจมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ หรือร่วมเพศ หรือคลำพบก้อนเนื้อที่ท้องน้อย

เลือดออกช่องคลอด

          18. มะเร็งปากมดลูก โดยจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทุกวันหรือวันเว้นวัน รอบประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติ หรือมีเลือดประจำเดือนออกนอกรอบประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนไปแล้วหลายปี และในบางรายอาจมีเลือดออกมาก รวมทั้งเลือดที่ออกมาจะเป็นลิ่ม ๆ ต้องใช้ผ้าอนามัยซับมากกว่าวันละ 5 แผ่น

          19. มะเร็งมดลูก เลือดที่ออกจะมีสีช้ำเลือดช้ำหนอง หรืออาจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

เลือดออกช่องคลอด

เลือดออกกะปริบกะปรอย รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?

          เนื่องจากอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกเมื่อพบว่ามีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดคือ รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการ โดยแพทย์จะซักถามประวัติการกินยา การคุมกำเนิด และตรวจร่างกายเบื้องต้น หรืออาจตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน

          อย่างไรก็ตาม การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอยได้อีกทางหนึ่ง โดยสาว ๆ ควรรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด 19 สัญญาณบอกความผิดปกติของผู้หญิง ! อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:22:29 1,219,086 อ่าน
TOP
x close