ก้าวใหม่สุดล้ำหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อนักวิจัยไทยค้นพบวิธีสร้างระบบส่งถ่ายยีนเข้าไปในรา หนึ่งในกรรมวิธีการผลิตยาทางชีวภาพได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย
ถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์เมื่อห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ค้นพบกรรมวิธีสร้างระบบการส่งถ่ายยีน (Fungal Transformation Platform technology) หรือกรรมวิธีการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางยา โดยเชื้อรา Aspergillus oryzae ซึ่งเป็นเชื้อราที่ใช้ในกระบวนการหมักเพื่อผลิตอาหาร ได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย


โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 นายอนุวัฒน์ เตชะฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. เปิดเผยว่า กรรมวิธีการสร้างระบบส่งถ่ายยีนที่ค้นพบนี้ จะส่งยีนที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น มีความสามารถลดคอเรสเตอรอล เข้าไปในเซลล์ของเชื้อรา Aspergillus oryzae เพื่อที่จะทำให้เชื้อราสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกดัดแปลงนี้มีคุณสมบัติตามความต้องการ และเมื่อนำเชื้อราสายพันธุ์ที่ถูกดัดแปลงมาใช้ในการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ ที่เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ไม่สามารถผลิตได้จากกระบวนการทางเคมี ก็จะทำให้ได้สารโพลีไทด์ที่มีฤทธิ์ทางยาในการต้านเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกร่วมกับ สวทช. โดย นายอนุวัฒน์ ระบุว่า ทางด้านห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังคงวิจัยเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดและค้นหายีนใหม่ ๆ ที่คุณภาพดี อันมีประโยชน์ต่อมนุษย์ เพื่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์สืบไปในอนาคต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี