
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์เผยรายงานว่า ขวดใส่น้ำดื่มที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น บางประเภทไม่ได้ผลิตมาเพื่อการใช้ซ้ำ เนื่องจากมีสารเคมีที่เป็นอันตรายและเป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรีย โดยมีรายงานวิจัยเผยความน่ากังวลเกี่ยวกับสารเคมีที่ชื่อว่า บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A หรือ BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตขวดน้ำบางประเภท ว่ามีผลกระทบต่อฮอร์โมนทางเพศ
อย่างไรก็ดี สารเคมี บิสฟีนอล เอ ดังกล่าว ไม่พบในการผลิตขวดน้ำพลาสติกสำหรับใช้ครั้งเดียว ซึ่งขวดน้ำดังกล่าวผลิตจากสารพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate หรือ PET) ที่ในการผลิตพลาสติก
ดร.มาริลีน เกรนวิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร เผยว่า สารเคมีบางชนิดที่พบในขวดพลาสติกบางประเภทสามารถมีผลกระทบต่อระบบในร่างกายของเราทุกคน อาจส่งผลต่อการตกไข่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดจากฮอร์โมน เช่น โรคพีซีโอเอส (PCOS) หรือรังไข่ทำงานผิดปกติ, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) และมะเร็งเต้านม เป็นต้น

โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ในทางวิทยาศาสตร์ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงวิธีการว่า สารบิสฟีนอล เอ จะสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในลักษณะใด โดยอาจจะไปเลียนแบบฮอร์โมน และแทรกแซงระบบต่อมไร้ท่อ ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการเพิ่มโรคเจ็บป่วยในมนุษย์มากขึ้น อาทิ โรคมะเร็งเต้านมและโรคหัวใจ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งผลข้างเคียงที่น่าเป็นกังวล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากขวดใส่น้ำดื่ม นั่นก็คือแบคทีเรีย จากรายงานการศึกษาโดยเทรดมิลล์ รีวิวส์ (Treadmill Reviews) เผยว่า นักวิจัยได้ทำการทดสอบขวดน้ำของนักกีฬา 12 ขวด หลังจากใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่า มีจำนวนแบคทีเรียสูงสุดมากกว่า 300,000 หน่วยก่อรูปเป็นโคโลนี (CFU) ต่อตารางเซนติเมตร โดยเฉลี่ย
สิ่งที่น่ากลัวก็คือ จำนวนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว พอ ๆ กับที่พบในที่ใส่แปรงสีฟันที่มีมากถึง 331,848 CFU และมากกว่าแบคทีเรียที่พบในชามอาหารสำหรับสุนัขที่มีแค่ 47,383 CFU อย่างไรก็ดี มีการวิจัยในห้องทดลองพบว่า หากเป็นขวดน้ำดื่มนักกีฬาประเภทฝาปิดแบบสไลด์ พบแบคทีเรียสูงสุดมากถึง 900,000 CFU
นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 60 ของเชื้อโรคที่พบในขวดน้ำ สามารถทำให้คนป่วยได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการป่วย วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ อย่าเก็บขวดใส่น้ำประเภทที่ใช้แล้วทิ้ง นำมาใช้ซ้ำ ให้ดื่มใช้เพียงครั้งเดียว จากนั้นก็นำไปทิ้ง ทั้งนี้ควรซื้อขวดใส่น้ำที่ปลอดสาร บิสฟีนอล เอ (BPA) หรือหากเป็นไปได้ ควรลงทุนซื้อน้ำที่บรรจุในขวดที่สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งผลิตจากแก้วหรือ สเตนเลสชนิดไร้สนิม
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 14.27 น. วันที่ 30 มิถุนายน 2560
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติมจาก treadmillreviews.net
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติมจาก treadmillreviews.net