29 กันยายน วันหัวใจโลก เพราะหัวใจต้องได้รับการดูแล


          29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก

วันหัวใจโลก

 
           โรคหัวใจ โรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นอันดับต้น ๆ ถือเป็นโรคร้ายที่น่ากลัวมากอีกโรคหนึ่ง ถึงขนาดที่สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ต้องกำหนดให้มีวันหัวใจโลก (World Heart Day) เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้กันเลยทีเดียว แต่เราเชื่อว่าคนไทยหลาย ๆ คน คงจะไม่ค่อยรู้จักวันสำคัญวันนี้กันสักเท่าไร ดังนั้นในวันนี้ เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวและที่มาที่ไปของวันหัวใจโลกกันค่ะ

    วันหัวใจโลก

ประวัติความเป็นมาของวันหัวใจโลก


          วันหัวใจโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) อันเกิดจากความร่วมมือของสององค์กร คือ The International Society of Cardiology (ISC) และ International Cardiology Federation ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งวันหัวใจโลกขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลที่ช่วยเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 17.5 ล้านคนต่อปี

          ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งวันหัวใจโลก ทางสมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดให้ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน เป็นวันหัวใจโลก กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2011 จึงมีมติเปลี่ยนแปลงวันหัวใจโลกขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

สัญลักษณ์วันหัวใจโลก


    วันหัวใจโลก
ภาพจาก : worldheartday

          สัญลักษณ์ของวันหัวใจโลก คือ รูปหัวใจพื้นสีขาว โดยมุมบนซ้ายของรูปหัวใจจะเป็นรูปโลกทรงกลม ภายในมีลักษณะคล้ายลูกโลกที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา

คำขวัญและธีมรณรงค์วันหัวใจโลกในแต่ละปี


          ในแต่ละปี สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) จะกำหนดคำขวัญและธีมรณรงค์ในวันหัวใจโลกเพื่อให้องค์กรทั่วโลกได้ใช้ในการรณรงค์ให้ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งคำขวัญและธีมรณรงค์วันหัวใจโลกในแต่ละปีมีดังนี้

          - ปี 2000 : "I Love my Heart : Let it beat !"

          - ปี 2001 : "A Heart for Life"

          - ปี 2002 : "What Shape are you in ?"

          - ปี 2003 : "Women, Heart Disease and Stroke"

          - ปี 2004 : "Children, Adolescents and Heart Disease"

          - ปี 2005 : "Healthy Weight, Healthy Shape"

          - ปี 2006 : "How Young is Your Heart ?"

          - ปี 2007 : "Team Up for Healthy Hearts !”

          - ปี 2008 : "Know your Risk"

          - ปี 2009 : "I Work with Heart"

          - ปี 2010 : "I Work with Heart"

          - ปี 2011 : "One World, One Heart, One Home"

          - ปี 2012 : "One World, One Heart, One Home"

          - ปี 2013 : "Take the road to a healthy heart"

          - ปี 2014 : "Heart Choices NOT Hard Choices"

          - ปี 2015 : "Creating heart-healthy environments"

          - ปี 2016 : "Light Your Heart, Empower Your Life"

          - ปี 2017 : "Share the power"

          - ปี 2018 : "My Heart, Your Heart" : ใจเขา ใจเรา

          - ปี 2019 : "For my heart, for your heart, for all our hearts."

          - ปี 2020 : "Use heart to beat cardiovascular disease."

          - ปี 2021 : "Use Heart to Connect."

          - ปี 2022 : "Use Heart for Every Heart."

          - ปี 2023 : "USE HEART KNOW HEART" : ใช้ใจรับรู้ ดูแล และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

          - ปี 2024 : จะอัปเดตอีกครั้ง

วันหัวใจโลก

กิจกรรมในวันหัวใจโลก


        ในวันหัวใจโลกทุกปี องค์กรสุขภาพทั่วโลกจะจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาดูแลหัวใจของตัวเองกันให้มากขึ้น รวมถึงเรายังสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาพันธ์หัวใจโลก เช่น แชร์เคล็ดลับการดูแลหัวใจ (Share your Healthy Heart Tip) หรือถ่ายเซลฟี่รูปหัวใจ (Healthy Heart Selfie) เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วโลกได้ นอกจากนี้ ตามแลนด์มาร์กต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีการเปิดไฟสีแดง เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงจำนวนคนมากมายที่เสียชีวิตไปเพราะโรคหัวใจอีกด้วย

              ส่วนในบ้านเรานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็จะมีการจัดกิจกรรมวันหัวใจโลก โดยการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และการป้องกันโรคหัวใจเช่นกันค่ะ หากสนใจจะเข้าร่วมกิจกรรม ใกล้ที่ไหนก็ไปได้ที่นั่น ในวันหัวใจโลก 29 กันยายน ของทุกปี ได้เลย

วันหัวใจโลก

         

สถานการณ์โรคหัวใจทั่วโลก


          องค์การอนามัยโลก เผยว่า ในปี ค.ศ. 2015 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 17.7 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 31% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก และในจำนวน 17.7 ล้านคนนั้น เป็นผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบถึง 7.4 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นผู้คนในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ

สถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทย


          จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 พบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจต่อประชากร 100,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ. 2559  พบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคนี้เท่ากับ 32.3 ต่อประชากร 100,000 คน และมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 501.13 คน ต่อประชากร 100,000 คน  เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี

          ขณะที่ข้อมูลการศึกษาของ Thai Registry in Acute Coronary Syndrome พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยในคนไทยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคหลอดหัวใจคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อย 83.2 ภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59 เบาหวาน ร้อยละ 50.7 การสูบบุหรี่ ร้อยละ 32.1 และครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 9.3 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม

วันหัวใจโลก

ชนิดของโรคหัวใจ รู้จักไว้ จะได้ไม่เข้าใจผิด !


          เนื่องจากหัวใจของเราเกิดความผิดปกติหรือที่เรียกว่า โรคหัวใจ ได้หลายชนิด ทางการแพทย์จึงได้จำแนกโรคหัวใจตามพยาธิสภาพ หรือต้นเหตุของการเกิดความผิดปกติของหัวใจออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

          1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยอาจวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะอายุมากก็เป็นได้

          2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส ซึ่งไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

          3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ อันเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน

          4. โรคหลอดเลือดหัวใจ อันเกิดจากความผิดปกติในหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ เช่น มีไขมันมาเกาะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่างการสูบบุหรี่ และการขาดการออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอจนเกิดอันตราย

          5. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหัวใจที่แบ่งออกได้อีกหลายชนิดมาก บางชนิดไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดก็มีอาการรุนแรง

          6. โรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นโรคหัวใจจากภาวะที่หัวใจต้องทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถรับเลือดเข้ามาในหัวใจ และไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งอาการจะมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

วันหัวใจโลก

โรคหัวใจเกิดขึ้นได้อย่างไร ?     


          ทางสมาพันธ์หัวใจโลกรายงานว่า อัตราการเกิดโรคและสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จริง ๆ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่เราป้องกันและควบคุมได้ โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ก็คือ

          1. การสูบบุหรี่


          ในบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ โดยการสูบบุหรี่วันละ 1 มวน จะเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 1.74 เท่า ในผู้ชาย และ 2.19 เท่า ในผู้หญิง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงคนที่สูดควันบุหรี่ก็มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น ยิ่งสูบในปริมาณที่มากขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

          แต่ถ้าหากเลิกบุหรี่ได้ สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงขึ้น โดยภายใน 2 ปี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และภายใน 15 ปี ความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจะอยู่ในอัตราเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่เลยทีเดียว ดังนั้น ยิ่งเลิกบุหรี่ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

          2. การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป


          การดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ เป็นการเพิ่มปริมาณไตรกลีเซอไรด์และอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายได้

          3. การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกาย


          พฤติกรรมนั่งติดโต๊ะหรือไม่ค่อยขยับร่างกาย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ รวมถึงในคนที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำด้วย

          4. ความเครียด


          ความเครียดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจวายได้

          5. การบริโภคอาหารไขมันสูง


          อาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ทำให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดง่ายขึ้น

          6. ความอ้วน


          การมีน้ำหนักที่มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้น และยังเสี่ยงต่อการมีคอเลสเตอรอลเกินมาตรฐาน นำอันตรายไปสู่หลอดเลือดหัวใจได้

          7. ความดันโลหิตสูง


          เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า คนส่วนใหญ่จึงไม่ตระหนัก

          อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจเกิดได้จากกรรมพันธุ์ ความชรา ความพิการแต่กำเนิด รวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงด้วย ทว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นในทุกวันนี้ ส่วนมากพบว่าเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจสุขภาพมากกว่า


วันหัวใจโลก

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยโรคหัวใจ ใครบ้างควรระวัง !


          ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจคือ ผู้ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เช่น ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง คนที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อย คนที่กินอาหารที่ไม่เหมาะสม คนสูบบุหรี่ และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เป็นต้น โดยหากมีอาการเจ็บแน่น ๆ บริเวณหน้าอก อาจจะร้าวไปที่แขน หรือจุกแน่นที่คอ รู้สึกอึดอัด ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นในขณะที่กำลังเดินเร็ว ๆ หรือขึ้นบันได หรือออกกำลังกายอยู่ รวมทั้งอาจเจ็บหน้าอกขณะกำลังโกรธและโมโห เป็นแบบนี้ประจำให้สงสัยไว้เลยว่าอาจมีปัญหาที่หัวใจแล้ว ควรไปตรวจเช็กร่างกายให้ละเอียดสักหน่อยค่ะ

วันหัวใจโลก

การป้องกันตัวเองจากโรคหัวใจ


          ถึงแม้โรคหัวใจจะอันตรายและน่ากลัว แต่เราก็สามารถป้องกันและดูแลรักษาหัวใจของเราได้ ดังนี้

          - โรคหัวใจป้องกันได้ ด้วยเคล็ดลับบำรุงใจ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว

          - 10 สมุนไพรบำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี

          - 20 สุดยอดอาหาร ล้างหลอดเลือดหัวใจ ไล่ไขมัน ลดความเสี่ยงหลายโรค

         เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ 

บทความวันสำคัญที่เกี่ยวข้อง 



ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้านสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา สสวท., กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ. นนทบุรี, สํานักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์, worldheartday, world-heart-federation, daysoftheyear, world health organization (WHO), indiacelebrating, สำนักโรคไม่ติดต่อ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
29 กันยายน วันหัวใจโลก เพราะหัวใจต้องได้รับการดูแล อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2567 เวลา 15:57:11 39,112 อ่าน
TOP
x close