x close

โรคแอนแทรกซ์เกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหมก่อนติดเชื้อระบาด

โรคแอนแทรกซ์

          โรคแอนแทรกซ์ โรคระบาดจากสัตว์ที่ถือว่าค่อนข้างร้ายแรง และเป็นอีกหนึ่งโรคที่ติดต่อมาสู่คนได้ ป่วยแล้วอันตราย ถึงตายได้เลย !

          เชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) อาจจะคุ้นหูคนไทยอยู่บ้าง อย่างตอนที่มีการระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์ในจดหมาย ก็สร้างความตระหนกตกใจเป็นอย่างมากในทุก ๆ พื้นที่ ทว่าวันนี้เราได้ยินโรคแอนแทรกซ์อีกครั้งว่ามีคนติดเชื้อแอนแทรกซ์และป่วยด้วยโรคนี้ ดังนั้นก่อนโรคแอนแทรกซ์จะระบาดมาสู่เรา มาทำความรู้จักโรคนี้ให้ดี จะได้รู้แนวทางป้องกันโรคแอนแทรกซ์กันได้

โรคแอนแทรกซ์ เกิดจากอะไร


        โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Bacillus anthracis ซึ่งจัดเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ได้ มีความทนทานและอาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและแพร่เชื้อต่อไปได้ ทั้งนี้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุที่ก่อโรคแอนแทรกซ์มักจะระบาดในหมู่สัตว์เลือดอุ่น อาทิ โค กระบือ ม้า แพะ แกะ โดยในประเทศไทยพบการระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์ในกระบือมากที่สุด และตรวจพบในทุกภาค อีกทั้งการระบาดของเชื้อยังมักจะเกิดซ้ำในพื้นที่เดิม ๆ เนื่องจากเชื้อนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศจะสร้างสปอร์หรืออาจเรียกได้ว่าเกราะหุ้มตัวในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวมันเองคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเชื้อแบคทีเรียร้ายชนิดนี้สามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปีขึ้นไป จึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ ที่สำคัญเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ยังคงทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 30 นาทีเลยทีเดียวค่ะ
โรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์ สาเหตุของการติดเชื้อคืออะไร

        เราทราบกันแล้วว่าโรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Bacillus anthracis และเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะพบมากในช่วงเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กับสัตว์ อาจเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการที่สัตว์กินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป ทั้งนี้การติดต่อของเชื้อแอนแทรกซ์สู่สัตว์เลือดอุ่น อาจติดเชื้อเข้าทางบาดแผลได้เช่นกัน



โรคแอนแทรกซ์ ติดต่อในคนได้อย่างไร

          คนติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ได้ 3 ทาง คือ

1. จากการสัมผัสทางผิวหนัง

        ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด โดยส่วนใหญ่คนจะติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ผ่านรอยแยกหรือแผลบนผิวหนังที่สัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วยโรคแอนเทรกซ์ หรือติดเชื้อจากเลือด ขน ผิวหนังของสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์

2. การหายใจ

          คนสามารถติดโรคแอนแทรกซ์ได้โดยการสูดรับสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยเชื้ออาจติดอยู่กับฝุ่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือขนและหนังสัตว์ก็เป็นได้

3. การกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อ

          โรคแอนแทรกซ์ยังสามารถติดได้จากการกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์ โดยเฉพาะหากกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุกอย่างเพียงพอ คนที่ชอบกินเนื้อสัตว์แบบสุก ๆ ดิบ ๆ
       
โรคแอนแทรกซ์
 
โรคแอนแทรกซ์ ใครเสี่ยงบ้าง


          โรคนี้พบมากในกลุ่มผู้ที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม รวมไปถึงคนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย และจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะการชำแหละเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายแล้วนำมาทำอาหารกิน (กินแบบสุก ๆ ดิบ ๆ)

โรคแอนแทรกซ์ อาการเป็นอย่างไร

          อาการผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ จำแนกได้ดังนี้

1. อาการที่เกิดจากการติดเชื้อทางผิวหนัง


        หลังจากสัมผัสเชื้อภายใน 2-5 วัน จะมีตุ่มแดงขึ้นบริเวณที่สัมผัส เช่น นิ้วมือ มีอาการคัน แต่ไม่เจ็บ โดยภายใน 12-48 ชั่วโมงต่อมา ตุ่มคันจะพองเป็นน้ำใส มีหนองตรงกลาง แผลค่อนข้างลึก มีขอบนูน โดยแผลจะกลายเป็นรอยบุ๋มมีสีม่วงคล้ำ จากนั้นจะมีสีม่วงคลํ้า ตุ่มพองที่แตกออกตรงกลางแผลจะกลายเป็นสะเก็ดสีดำ (eschar) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ อาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย รอยโรคอาจลุกลามเกิดเป็นตุ่มน้ำออกไปโดยรอบและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำตามมา โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น นิ้ว มือ แขน และขา หากแผลลุกลามโดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นซ้ำซ้อน และอาจเกิดภาวะช็อกได้


โรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์
2. อาการที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

        โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรก ๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด เหนื่อย หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และหากได้รับการรักษาล่าช้า อาจเสียชีวิตจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ

3. อาการที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

          ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่าง ๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้

          ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

          อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (Oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า

          ส่วนอาการของสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์จะสังเกตได้ว่า สัตว์จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูงประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮต์ เยื่อชุ่มต่าง ๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่น บวมน้ำตามลำตัว น้ำนมลดอย่างรวดเร็วและอาจมีเลือดปนหรือมีสีเหลืองเข้ม ท้องอืดและตายในที่สุด

          และเมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่าง ๆ เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่รูขุมขน ซากสัตว์จะขึ้นอืดเร็ว ไม่แข็งตัว ถ้าทำการเปิดผ่าซากจะพบเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ พบของเหลวสีน้ำเลือดภายในช่องอกและช่องท้อง ลำไส้อักเสบรุนแรงมีเลือดออก เลือดไม่แข็งตัวและม้ามขยายใหญ่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโรคนี้

โรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์ รักษาได้ไหม

          แม้โรคแอนแทรกซ์จะมีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน แต่ถ้าเรารู้ทันอาการโรคแอนแทรกซ์ ก็สามารถรักษาได้ค่ะ โดยการรักษาโรคแอนแทรกซ์ทั่ว ๆ ไป สามารถให้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) โดยให้ทางหลอดเลือดดำในขนาด 300,000-400,000 หน่วย/กก. น้ำหนักตัว/ 24 ชั่วโมง หรือให้ด็อกซี่ซัยคลิน (Doxycycline) ซี่งเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี เหมาะสำหรับเชื้อก่อโรคที่เป็นสายพันธุ์ปกติ แต่สำหรับแอนแทรกซ์ที่เกิดจากการติดเชื้อทางผิวหนัง เชื้อจะหมดจากแผลภายหลังการรักษา 24 ชั่วโมง และอาการบวมจะยุบลงภายใน 2-5 วัน โดยปกติเชื้อ Bacillus anthracis ไวต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด

          อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาจะดีมากเมื่อเริ่มให้การรักษาในตอนแรก ๆ ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อเข้าไป เพราะถ้ารักษาช้าเชื้อจะสร้างสารพิษขึ้นมามาก การรักษามักจะไม่ค่อยได้ผล

โรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์ ป้องกันอย่างไร

          การป้องกันโรคแอนแทรกซ์ทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้


          - ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค

          - หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์

          - ไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสัตว์ที่อาจป่วยเป็นโรคนี้มากิน และไม่นำซากสัตว์เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป

          - รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น

          - ควรทำลายซากสัตว์ที่ตายจากโรคแอนแทรกซ์ด้วยการเผาหรือฝังเพื่อไม่ให้สปอร์ของเชื้อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากใช้วิธีฝัง ควรขุดหลุมลึกประมาณ 2 เมตร โรยปูนขาวบนตัวสัตว์ก่อนกลบดิน และใช้นำยาฟอร์มาลิน (Formalin) หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide) 5-10% ราดฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อในบริเวณที่ฝังซากสัตว์ป่วย เนื่องจากสปอร์ของเชื้อสามารถอยู่ในดินได้นานนับสิบปี และอาจแพร่ระบาดไปยังสัตว์อื่นได้อีก

          นอกจากนี้เรายังสามารถป้องกันโรคแอนแทรกซ์ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง เช่น เกษตรกร สัตว์แพทย์ พนักงานในโรงงานฆ่าสัตว์ หรือโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นต้น

          หากพบว่ามีสัตว์ต้องสงสัยว่าป่วยโรคแอนแทรกซ์ หรือคนมีอาการคล้ายจะป่วยด้วยโรคนี้ ควรรีบแจ้งกรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์ และรีบนำผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ก็ควรแจ้งความด้วยนะคะ เพราะโรคแอนแทรกซ์เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ เพราะจัดเป็นโรคติดต่ออันตรายนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ กรมอนามัย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย
ศูนย์เภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
CFSPH
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคแอนแทรกซ์เกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหมก่อนติดเชื้อระบาด อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2560 เวลา 10:26:58 10,191 อ่าน
TOP