วิธีปฐมพยาบาลมดตะนอยกัด ตัวน้อยต่อยหนัก แพ้พิษอาจถึงตาย !

          ความร้ายกาจของมดตะนอยที่แม้จะเป็นแมลงตัวเล็ก แต่พิษสงไม่ได้เล็กตาม เพราะสามารถคร่าชีวิตคนได้ เพียงกัดแค่ครั้งเดียว...

มดตะนอย

          มดกัดอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยจนเรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มดบางชนิดกัดแล้วไม่ได้แค่ทิ้งตุ่มคัน ตุ่มแดง ไว้ต่างหน้าเท่านั้น ทว่าพิษของมันอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้เลยนะคะ อย่างมดตะนอยที่กัดคนเสียชีวิตมาแล้วหลายราย ดังนั้นมดตะนอยจัดเป็นมดที่มีพิษสงร้ายกาจ เป็นสัตว์มีพิษ ที่ควรต้องระวังอย่างแรง

มดตะนอย ชื่อวิทยาศาสตร์และลักษณะทางกายภาพของสัตว์ตัวเล็ก

          มดตะนอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dolichoderus thoracicus Smith ลักษณะลำตัวยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ตัวค่อนข้างเรียวยาว ส่วนหัวและส่วนท้องมีสีเข้มเกือบดำ ส่วนอกเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง บางตัวก็มีอกสีส้ม ท้องมีลักษณะเป็นรูปไข่โดยที่ปลายท้องจะมีเหล็กในยื่นออกมาให้เห็นเด่นชัด ระหว่างท้องและอกจะมีรอยต่อเป็นปุ่มนูน 2 ปุ่ม หนวดมี 12 ปล้อง มดตะนอยมีกรามขนาดใหญ่ และมีปากแบบกัดกินสัตว์เล็กและแมลงทั่วไป ทั้งนี้มดตะนอยชอบทำรังอยู่ตามต้นไม้ใหญ่และต้นไม้ที่ตายแล้ว

มดตะนอย
 
มดตะนอย พิษสงน้อยเสียเมื่อไร

          มดตะนอยจัดเป็นสัตว์มีพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งอันตรายจากมดตะนอยจะเกิดจากเหล็กใน ในตัวมดตะนอยที่เคลือบสารพิษกลุ่มสารประกอบโปรตีนและสารอัลคาลอยด์ ทำให้ผู้ถูกต่อยมีอาการแพ้ต่าง ๆ และที่น่ากลัวคือ มดตะนอยสามารถดึงเหล็กในกลับมาต่อยซ้ำ ๆ ได้อีกหลายครั้ง ต่างจากผึ้งที่ต่อยเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเหล็กในไว้ในแผล โดยหลังจากมดกัดและปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว อาการและความรุนแรงจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ปฏิกิริยารุนแรง

          หลังจากถูกกัดได้ประมาณ 15 นาที ผู้ที่ถูกมดกัดจะมีผื่นลมพิษ ผื่นแดง คัน มีอาการบวมที่ตา หน้า ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือบางคนอาจมีอาการบวมทั้งตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก พูดลำบากเนื่องจากระบบทางเดินหายใจมีภาวะบวม มีสารคัดหลั่งออกมา ผิวหนังเขียวคล้ำเพราะหลอดลมในปอดหดตัว ทำให้ลมหายใจไหลเวียนไปฟอกเลือดไม่ได้ กระทั่งส่งผลให้ความดันเลือดตก สมองขาดเลือด เซลล์สมองตาย ช็อก หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด

2. ปฏิกิริยาเฉพาะที่

          หลังจากถูกมดตะนอยกัด จะมีอาการเจ็บ มีตุ่มคัน บวม แดง โดยภายหลังอาการจะหายไปเอง แต่สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการปวดบวมมากแต่ไม่คัน หน้ามืด เป็นลม เหงื่อออกมาก เดินไม่ไหว แผลที่มดกัดบวมแดงและลามไปบริเวณใกล้เคียง ตัวสั่น หาวนอนถี่ มือ-เท้าเย็น หรืออาจเป็นลมพิษทั่วตัว เจ็บ คัน ร่วมกับมีไข้

3. ปฏิกิริยาชนิดผิดธรรมดา
  
          โดยหลังจากถูกมดกัดจะมีอาการเม็ดเลือดแดงแตก มีลิ่มเลือดแพร่กระจาย มีการอุดตันของเส้นเลือดแดง เกิดภาวะเลือดออกและคั่งทั่วตัว กล้ามเนื้อตาย ปวดตามกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ปัสสาวะมีสีดำ สีน้ำปลา หรือสีแดงจากภาวะไตวาย โดยอาจพบว่ามีภาวะอุดตันในระบบการทำงานของไตได้

          นอกจากนี้ยังอาจมีภาวะเลือดออกในปอด ถุงลมแฟบหรือโป่งพอง เส้นประสาทอักเสบ ระดับความรู้สึกตัวลดลง เนื้อสมองและไขสันหลังตาย ทั้งนี้อาจพบอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ ปวดข้อร่วมด้วย

          อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงของพิษมดตะนอยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ จำนวนมดตะนอยที่กัด หากโดนรุมกัดจากมดตะนอยหลาย ๆ ตัว ได้รับพิษมดตะนอยในปริมาณมาก ก็อาจมีอาการมากไปด้วย และอีกอย่างคืออาการแพ้พิษมดตะนอย หากมีภาวะแพ้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยอยู่แล้ว มดตะนอยกัดเพียงตัวเดียวก็อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อร่างกายได้เช่นกัน

มดตะนอย

จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้พิษมดตะนอย

          อาการแพ้พิษมดตะนอยหรือพิษแมลงสัตว์กัดต่อยทั่วไปสังเกตได้จาก หากโดนมดตะนอยกัดแล้วมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ตัวชา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการบวมมาก แบบนี้ก็ถือว่าอาการไม่ปกติ และควรรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการแสดงอาการจะต่างกันออกไป ตั้งแต่เป็นนาที จนถึงเป็นชั่วโมง

มดตะนอยกัด ทำไงดี

          วิธีแก้มดตะนอยกัด หรือวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

          1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่

          2. ประคบแผลด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็นนาน 20 นาที เพื่อลดอาการบวมและอาการปวด โดยควรประคบเย็นซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา

          3. ทาครีมสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดได้ แต่ไม่ควรใช้ยาทาที่ทำให้เกิดความร้อน เพราะจะทำให้มีการแพร่กระจายของพิษอย่างรวดเร็ว 

          4. หากมีอาการปวดมากให้กินยาพาราเซตามอลช่วยบรรเทา

          5. ควรรับประทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย

          6. ถ้าผื่นมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 2 นิ้ว หรือรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือถูกกัดหลายจุด ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

          อย่างไรก็ตาม แม้หลังถูกมดกัดแล้วอาการไม่รุนแรงมาก ก็ควรรักษาแผลบริเวณที่ถูกกัดให้สะอาด ปราศจากเชื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ และก็อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าไม่มีอันตรายแล้วนะคะ แต่ควรสังเกตดูอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากพบว่ามีไข้ ผื่น คัน ข้ออักเสบ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว บวม แขนขาชา หรืออ่อนแรง ตามัว ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นปฏิกิริยาแพ้ที่เกิดขึ้นช้าก็เป็นได้

สมุนไพรแก้พิษมดตะนอย

          สำหรับอาการถูกมดกัดที่ไม่รุนแรงมาก สามารถใช้สมุนไพรถอนพิษมดตะนอยได้นะคะ โดยสมุนไพรที่แก้พิษมดตะนอยได้ก็มีตามนี้

เสลดพังพอน

มดตะนอย

          ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียล้างให้สะอาด ขยี้เอาแต่น้ำหรือตำใบให้พอหยาบแล้วนำมาพอกบริเวณที่ถูกมดกัดสักครู่ พิษมดตะนอยจะค่อย ๆ ถูกขับออกมา แต่ถ้าหากอาการปวดบวมเป็นมาก ให้ผสมใบเสลดพังพอนกับใบรางจืด โขลกพอแหลก แล้วผสมเหล้าขาวพอท่วม พอกทิ้งไว้ที่แผลถูกมดกัด อาการปวดบวมจะหายได้ในเวลาไม่นาน

พลู

พลู

          ใช้ใบพลูตำสดผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีอาการ ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสารยูจีนอลและชาวิคอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการแพ้อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ตำลึง

มดตะนอย

          นำใบสดตำลึงล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่ถูกมดกัด ใบตำลึงมีสรรพคุณแผนไทยใช้บรรเทาอาการแพ้ อักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย

ผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเล

          ใบและเถาสดของผักบุ้งทะเลใช้บรรเทาพิษแมงกะพรุน แผลคัน อาการปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาน้ำมาทาที่แผล หรือตำแล้วนำไปพอกที่แผล ซึ่งงานวิจัยระบุว่า ผักบุ้งทะเลมีฤทธิ์ต้านอักเสบ และมีปฏิกิริยากับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ฮีสตามีน ซีโรโทนิน และไคนิน เป็นต้น

          แต่ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า หากถูกกัดแล้วมีผื่นบวมแดงขึ้นตามตัวอย่างผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก ความดันเลือดตก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหรือยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ จะไม่สามารถใช้แก้พิษได้ทันเวลา โดยแพทย์จะต้องฉีดยาเอพิเนฟริน (epinephrine) หรืออะดรีนาลิน (adrenaline) เข้าหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนังเพื่อขยายหลอดลมและเพิ่มความดันโลหิตโดยตรง ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ทันทีจึงจะสามารถช่วยชีวิตได้ทัน

มดตะนอย

มดตะนอยกัด ป้องกันก่อนสาย

          เราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้มดตะนอยมากัดเราได้ โดยไม่ไปอยู่ใกล้บริเวณที่มีรังมด ยิ่งคนที่เคยมีอาการแพ้พิษสัตว์ชนิดอื่นมาอยู่แล้ว ยิ่งควรต้องระวังตัวเองให้มาก ๆ เลยนะคะ นอกจากนี้เรายังมีวิธีกำจัดมดให้ไปไกล ๆ จากเรามาฝากด้วย

          - วิธีกำจัดรังมดในต้นไม้ และป้องกันมดกลับมาทำรังซ้ำ

          มดตัวเล็ก ๆ เพียงตัวเดียวแต่พิษสงไม่น่าไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง ทางที่ดีเราก็พยายามรักษาเนื้อตัวให้ไม่ถูกมดกัด เพื่อความปลอดภัยของชีวิตเราจะดีกว่าเนอะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
กรมป่าไม้
รักบ้านเกิด
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปฐมพยาบาลมดตะนอยกัด ตัวน้อยต่อยหนัก แพ้พิษอาจถึงตาย ! อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2564 เวลา 16:23:45 256,787 อ่าน
TOP
x close