x close

กรมอนามัย เตือน สั่งหมูกระทะเดลิเวอรี่ หากวัตถุดิบไม่สะอาด เสี่ยงท้องร่วง-ติดเชื้อ

          กรมอนามัย เตือนคนรักอาหารปิ้งย่างประเภทหมูกระทะ ที่ชอบสั่งแบบเดลิเวอรี่ ชี้ หากทางร้านมีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบไม่สะอาด บริโภคเข้าไปอาจเสี่ยงท้องร่วง-ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร  
ภาพจาก กรมอนามัย

          วันที่ 10 เมษายน 2562 กรมอนามัย ประกาศเตือนประชาชนที่ชอบสั่งซื้ออาหารปิ้งย่างประเภทหมูกระทะ แบบเดลิเวอรี่ หรือสั่งทางออนไลน์ หลังพบว่ามีผู้ประกอบการบางแห่งจัดส่งวัตถุดิบที่มีขั้นตอนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะให้แก่ลูกค้า ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารได้

          โดย นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่หรือสั่งอาหารออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะอาหารประเภทหมูกระทะ ซึ่งพบว่าในบางพื้นที่ มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวทำการลักลอบขายหมูกระทะที่ไม่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และภาชนะบรรจุอาหารไม่สะอาด โดยจะมีการทำป้ายโฆษณาเลียนแบบยี่ห้อหมูกระทะร้านต่าง ๆ ทำให้ประชาชนโทร. สั่งเป็นจำนวนมาก เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นร้านหมูกระทะทั่วไป เมื่อลูกค้ากินเข้าไปอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในบางจังหวัด

          นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดที่มาคู่กันกับอาหารประเภทนี้ก็คือ น้ำจิ้ม ซึ่งทางร้านมักจะทำน้ำจิ้มไว้ในปริมาณมากและอาจทิ้งไว้นานเกินไป หรือหากปรุงด้วยวิธีการที่ไม่ถูกสุขอนามัยและเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เสี่ยงท้องร่วงได้เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคจึงควรสังเกตจากสี กลิ่น และรสชาติ หากพบความผิดปกติก็ไม่ควรกิน และรีบแจ้งเจ้าของร้านทันที



          อย่างไรก็ดี หากพบการผลิตอาหารประเภทนี้หรืออาหารประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายอาหารมาบังคับใช้ หรือกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการประกอบกิจการ สถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร หรือโดยการออกข้อกำหนดของท้องถิ่นเกี่ยวกับสุขลักษณะของการประกอบกิจการจำหน่ายหรือสะสมอาหาร ที่ผู้ประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 อาทิ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง ใช้ และการดูแลรักษาความสะอาด รวมถึงสุขลักษณะสถานที่ที่ใช้จำหน่าย จัดไว้สำหรับบริโภคอาหาร หรือใช้เป็นที่ทำ ประกอบ ปรุง หรือสะสมอาหาร เป็นต้น

          ทั้งนี้ กรมอนามัยผลักดันและสนับสนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อบัญญัติว่าด้วยสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 โดยสามารถขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัยเขต หรือสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก กรมอนามัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมอนามัย เตือน สั่งหมูกระทะเดลิเวอรี่ หากวัตถุดิบไม่สะอาด เสี่ยงท้องร่วง-ติดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 19 เมษายน 2562 เวลา 14:05:06 20,674 อ่าน
TOP