ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แค่สัมผัสแผลก็ติดเชื้อได้ อาการเป็นอย่างไร มาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น

โรคซิฟิลิส เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตราย และติดต่อง่ายไม่แพ้โรคเอดส์ นั่นจึงทำให้เราได้ยินข่าวพบผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นสูงมากและกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งชอบเปลี่ยนคู่นอนและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันตัวเอง
หากใครสงสัยว่า โรคซิฟิลิส เกิดจากอะไร ร้ายแรงขนาดไหน เราได้รวบรวม 10 คำถามมาไขข้อข้องใจกัน
1. โรคซิฟิลิส เกิดจากอะไร ?
โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลบนผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย
2. ไม่มีเพศสัมพันธ์ จะติดเชื้อซิฟิลิสได้ไหม ?

เนื่องจากโรคซิฟิลิสถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลายคนจึงเข้าใจว่าต้องติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้นใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ไม่มีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่ก็สามารถติดเชื้อได้ ผ่านการสัมผัสแผลโดยตรงของผู้ติดเชื้อ ทั้งผิวหนัง เยื่อบุตา หรือปาก
ดังนั้น หากมีการใช้ปาก เลียแผล สัมผัสแผลที่มีเชื้อซิฟิลิส ทั้งบริเวณในช่องปาก ลิ้น อวัยวะเพศ หรือช่องทวารหนัก ก็สามารถติดต่อได้ทั้งหมด
3. แค่จูบปากก็ติดเชื้อซิฟิลิสได้จริงหรือ ?

เช่นเดียวกันค่ะ หากคนที่เราจูบด้วยมีแผลซิฟิลิสในปาก เราก็สามารถติดเชื้อจากเขาได้ แม้จะไม่ใช่วิธีแพร่เชื้อซิฟิลิสที่พบได้บ่อยเท่ากับการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็เป็นช่องทางติดต่อโรคที่คนไม่ค่อยระวังกันสักเท่าไร
4. ใช้มือสัมผัสผู้ป่วย หรือนั่งโถส้วมจะติดต่อกันได้ไหม
เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากเป็นการใช้มือสัมผัสตัวผู้ป่วย หรือจับลูกบิดประตู สวมใส่เสื้อผ้า ใช้ช้อนส้อม นั่งโถส้วมเดียวกัน ใช้อ่างอาบน้ำ สระว่ายน้ำเดียวกัน กรณีเช่นนี้จะไม่สามารถติดต่อกันได้ เพราะเชื้อซิฟิลิสจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางผิวหนังที่มีแผล สัมผัสโดยตรงกับแผลที่มีเชื้อซิฟิลิส ซึ่งอยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ช่องคลอด ทวารหนัก หรือในริมฝีปากและช่องปาก
ในบางคนได้รับเชื้อซิฟิลิสไปนานหลายปีแล้ว อาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่มาแสดงอาการให้เห็นในระยะท้ายแล้ว เนื่องจากเชื้อสามารถแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้นานหลายสิบปี โดยอาการของโรคจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ซิฟิลิส ระยะแรก : แผลริมแข็ง

อาการเด่นคือเป็นแผลริมแข็ง ซึ่งมักพบหรือซ่อนอยู่ที่อวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด ริมฝีปาก และมักเป็นเพียงแผลเดียว มีขอบนูนแข็ง แต่ไม่เจ็บ ไม่ปวด เกิดหลังมีเพศสัมพันธ์หรือได้รับเชื้อมาประมาณ 10-90 วัน หลังจากนั้นแผลสามารถหายได้เองภายใน 1-5 สัปดาห์ แม้ไม่ได้รักษา
- ซิฟิลิส ระยะที่ 2 : ผื่นขึ้น

เมื่อแผลหายแล้ว คือหลังจากระยะแรกประมาณ 6 สัปดาห์ จะเริ่มมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว อาจกระจายไปทั่วร่างกาย เรียกว่า ระยะออกดอก บางคนอาจมีแผลคล้ายหูดขึ้นในปากหรืออวัยวะเพศ หรือมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เหมือนโดนแมลงแทะ มีขนคิ้วร่วง หลังจากนั้นอาการอาจหายไปได้เองภายใน 1-3 เดือน
- ซิฟิลิส ระยะแฝง : ไม่แสดงอาการ
เมื่ออาการในระยะที่ 2 หายไปได้เองโดยที่ยังไม่ได้รักษา เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายต่อไปได้อีกหลายปีโดยไม่ได้แสดงอาการผิดปกติอะไรออกมาอีก จึงเรียกว่า ระยะแฝง หรือระยะหลบซ่อน หากตรวจเลือดจะพบเชื้อในกระแสเลือด ขณะที่ในสตรีที่มาฝากครรภ์มักพบโรคซิฟิลิสระยะแฝงนี้มากกว่าระยะอื่น ซึ่งถ้าไม่รักษาจะสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้
- ซิฟิลิส ระยะที่ 3 : ทำลายอวัยวะภายใน
เชื้อซิฟิลิสสามารถอยู่ในร่างกายได้นานเป็น 10-30 ปี ซึ่งในบางคน หากไม่รักษา หรือรักษาไม่ครบตามคำสั่งของแพทย์ เชื้อสามารถแพร่กระจายเข้าไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท สมอง และลุกลามเข้ากระดูกได้ด้วย ส่งผลให้ร่างกายพิการ ตาบอด หูหนวก เป็นอัมพาต ขณะที่สมอง หัวใจ ตับ ไขสันหลัง อาจถูกทำลายจนไม่สามารถกลับเป็นปกติได้ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
6. ซิฟิลิส รักษาให้หายขาดได้ไหม กลับมาเป็นซ้ำได้ไหม ?
หากตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะต้น ๆ จะสามารถรักษาให้หายได้แน่นอนโดยใช้ยาเพนิซิลลินฉีดเข้ากล้ามเนื้อร่วมกับการกินยา แต่หากติดเชื้อมานานแล้วจะมีการเพิ่มขนาดยาเพื่อให้การรักษาได้ผลมากขึ้น ซึ่งระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นด้วย โดยระหว่างรักษา ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และรับยาให้ครบกำหนด
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะรักษาหายแล้ว ก็ต้องกลับมาตรวจซ้ำอีกทุก 3 เดือน ในระยะเวลา 3-5 ปีหลังรับการรักษา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากอาจยังมีเชื้อแฝงซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย ดังนั้นในช่วงนี้ผู้ที่ติดเชื้อและได้รับการรักษาแล้ว ยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น จนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าหายขาดจากโรคซิฟิลิสแล้ว
7. ซิฟิลิส กับ เอดส์ เหมือนกันไหม ?

ซิฟิลิส กับ เอดส์ เป็นคนละโรคกัน เกิดจากการติดเชื้อคนละตัว กล่าวคือ ซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนโรคเอดส์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อเอชไอวี โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่าง ๆ จึงเข้ามาซ้ำเติมได้ง่าย
ในส่วนที่เหมือนกันคือ ทั้งซิฟิลิส และเอดส์ สามารถติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก ขณะที่อาการของทั้ง 2 โรคนี้ก็มีความแตกต่างกันชัดเจน และปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อซิฟิลิสยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งก่อให้เกิดโรคเอดส์ได้ด้วย โดยมีผลการศึกษาพบว่า ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี ได้มากถึง 2-5 เท่าของคนทั่วไป เพราะแผลซิฟิลิสทำให้สามารถรับเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น
8. โรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ?

หากแม่ติดเชื้อซิฟิลิสในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์และรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาจมีโอกาสแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้สูง ซึ่งเชื้อนี้สามารถติดจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ทางรกและในขณะคลอด และเมื่อคลอดแล้ว ทารกจะติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด ส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย และบางรายอาจพิการ เช่น รูปร่างจมูกผิดปกติ มีโครงสร้างฟันผิดปกติ หรือเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน
9. ใครควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ?
หากเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อซิฟิลิส ซึ่งก็คือ
- คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- คนที่มีอาการป่วยคล้ายกับโรคซิฟิลิส หรือคู่นอนของตัวเองมีอาการป่วยคล้ายกับโรคซิฟิลิส
- หญิงกำลังตั้งครรภ์ อาจตรวจเพื่อความมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแฝงอยู่
- คู่รักที่กำลังจะแต่งงาน หรือผู้หญิงที่เตรียมพร้อมจะมีบุตร
โดยสามารถเข้ารับการตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป หรือคลินิกชุมชนที่รับตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยแจ้งให้แพทย์ทราบว่าต้องการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
10. ป้องกันซิฟิลิสอย่างไร ถ้าไม่อยากเสี่ยงป่วย ?

- ไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะคู่นอนของตัวเองเท่านั้น
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด เพื่อไม่ให้ขาดสติ ซึ่งอาจทำให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้
- ควรจูงมือคนรักไปตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เพื่อว่าหากพบใครเป็นโรคนี้จะได้รักษาให้หายขาดก่อน หรือตรวจหาเชื้อซิฟิลิสก่อนการตั้งครรภ์
- เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจดื้อยา และรักษาไม่หาย
- การล้างอวัยวะเพศ ปัสสาวะ หรือสวนล้างช่องคลอด ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งซิฟิลิสได้
ใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เพราะหากติดเชื้อจริง ๆ อย่างน้อยก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่เชื้อโรคจะลุกลาม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย