ท้องโตเหมือนคนท้อง ต้องระวัง อาจเป็นสัญญาณของ 7 โรคนี้

          ไม่ได้ท้อง แต่ท้องโตไม่ต่างไปจากคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจไม่ใช่ภาวะอ้วนลงพุงอย่างที่สงสัยกันก็เป็นได้ เพราะนี่ก็เป็นสัญญาณผิดปกติที่บอกได้หลายโรค

พุงป่อง ท้องโต

          ท้องโตเหมือนคนท้อง ทั้ง ๆ ที่รูปร่างก็ผอม แต่แอบมีพุง แบบนี้เสี่ยงโรคอะไรหรือเปล่า โดยเฉพาะคนที่มีภาวะท้องโต ขาบวม หรือท้องแข็ง ร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ลองมาเช็กดูว่าท้องโตเป็นโรคอะไรได้บ้าง

1. อ้วนลงพุง

            สาเหตุแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ การมีน้ำหนักตัวเกิน จากพฤติกรรมการกินอย่างไม่เหมาะสม จนทำให้ร่างกายอวบอ้วนขึ้นไปทุกสัดส่วน ไม่ว่าจะแขน ขา เท้า ก็ดูอวบไปหมด โดยเฉพาะส่วนเอว ที่เริ่มมีพุงยื่นออกมา แม้ว่าการมีท้องโตจากสาเหตุนี้จะไม่ร้ายแรง แต่การปล่อยให้อ้วนลงพุงก็เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในช่องท้อง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ และอื่น ๆ

            - ผอมแต่มีพุงต้องลดให้ไว ก่อนอันตรายจะถามหา 

            - วิธีลดพุงสำหรับผู้หญิง สลัดพุงปลิ้นให้สวยแบนราบ 

2. เนื้องอกรังไข่

พุงป่อง ท้องโต

            เราเคยเห็นข่าวกันบ่อย ๆ ว่าผู้หญิงมีท้องป่องแล้วคิดว่าตัวเองแค่อ้วน แต่มักจะมีอาการปวดท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติ คลำพบก้อนที่หน้าท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ รวมทั้งอ้วนแค่ที่พุง แต่แขน ขา ใบหน้า และส่วนอื่น ๆ ไม่ขยายตาม ลักษณะนี้อาจต้องสงสัยโรคเนื้องอกรังไข่ได้ และหากก้อนเนื้อนั้นใหญ่ก็ทำให้ท้องป่องได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก

            - เนื้องอกรังไข่ สาวท้องป่องเช็กอาการให้ไว อาจไม่ใช่แค่อ้วนลงพุง

3. มะเร็งรังไข่

            การอ้วนเฉพาะแค่ที่พุง จากการที่มีเนื้องอกรังไข่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะเนื้องอกที่ว่านั้นอาจเป็นเนื้อร้าย ที่สามารถกลายเป็นมะเร็งรังไข่ และหากไม่รีบรักษา เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย

            - มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร รู้ไว้เฝ้าระวัง 

4. ท้องมาน จากโรคตับแข็ง

พุงป่อง ท้องโต
            โรคตับแข็งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการท้องมาน ที่ทำให้ท้องโตอันเนื่องมาจากมีน้ำคั่งภายในช่องท้อง ซึ่งเกิดจากการที่ตับสร้างโปรตีนอัลบูมินในกระแสเลือดน้อยลง จนทำให้ปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลง ร่วมกับความดันหลอดเลือดดำในตับสูงขึ้น ส่งผลให้มีน้ำและเกลือแร่รั่วจากเส้นเลือดมาในช่องท้องและเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ทั้งนี้ภาวะท้องมานจะทำให้ผู้ป่วยมีขาบวม กดบุ๋ม 2 ข้างด้วยนะคะ

            - สังเกตอย่างไรว่าเป็นโรคตับแข็ง 

5. ภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง

            นอกจากโรคตับแข็งแล้ว ยังสามารถพบภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง หรือท้องมาน ได้จากโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะบวมน้ำ การติดเชื้อในมดลูก ทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะทะลุ เนื้องอกในช่องท้อง โรคปอด จากน้ำช่องปอดไปคั่งในช่องท้อง หรือภาวะมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อหัวใจ ลามมายังช่องท้อง ทำให้ท้องป่องผิดปกติได้

6. โรคไตอักเสบ

            ผู้ป่วยโรคไตอักเสบจะมีอาการตัวบวม จากภาวะน้ำและเกลือแร่เพิ่มขึ้นในร่างกาย โดยระยะแรกจะมีอาการบวมที่หนังตา หน้าบวม ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง เมื่อกดบริเวณที่บวมจะเป็นรอยบุ๋ม ร่วมกับมีอาการปวดเอว ปวดหลัง เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร เป็นต้น

            นอกจากนี้หากป่วยเป็นโรคไตอักเสบแบบเนโฟรติก หรืออาการโปรตีนรั่ว ซึ่งเป็นความผิดปกติของไตที่ยังสามารถกรองของเสียได้อยู่ แต่มีการรั่วของโปรตีนออกมาในปัสสาวะมากเกินไป จะทำให้มีภาวะตัวบวม ทั้งหน้า ท้อง แขน ขา เท้า ปัสสาวะเป็นฟอง และเมื่อตรวจปัสสาวะจะพบโปรตีนอัลบูมินที่มากผิดปกติด้วย

            - โรคไต ป่วยแล้วยุ่ง มาเช็กสัญญาณโรคไตก่อนดีกว่า 

7. ม้ามขึ้น

พุงป่อง ท้องโต

            ม้ามขึ้นเป็นภาวะการทำงานผิดปกติของม้าม โดยแพทย์แผนจีนอธิบายว่า เมื่อม้ามเกิดความไม่สมดุล การลำเลียงอาหารและลมปราณไปยังเซลล์ต่าง ๆ จะเกิดความผิดปกติไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่กินเข้าไปอย่างเต็มที่ มีภาวะคั่งน้ำ และอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แขน-ขาไม่มีแรง ไม่สมสัดส่วน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องป่องเหมือนคนท้อง

            อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีท้องโตผิดปกติ ร่วมกับอาการบวมที่อวัยวะอื่น ๆ ด้วย ควรรีบไปตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเราด่วนเลย

            - บวมน้ำหรืออ้วน ชวนให้สงสัย แล้วแก้ยังไงให้หายบวม 

ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์, โรงพยาบาลเวชธานี, รามา ชาแนล, ศูนย์การแพทย์แผนตะวันออก (Oriental Medicine Centre) มหาวิทยาลัยรังสิต, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องโตเหมือนคนท้อง ต้องระวัง อาจเป็นสัญญาณของ 7 โรคนี้ อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2563 เวลา 11:57:59 513,827 อ่าน
TOP
x close