ตรวจ ATK วันไหนถึงได้ผลแม่นยำ หลังใกล้ชิดคนติดโควิด มาเช็กให้ชัวร์ !

           ตรวจ ATK วันไหน เมื่อไรดี ถ้าเพิ่งเจอคนติดโควิดมาหมาด ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างแม่นยำ ว่าเราติดเชื้อไปด้วยหรือไม่
          ถ้าอยู่ ๆ ได้รับแจ้งข่าวว่าคนใกล้ชิดติดโควิด แทบทุกคนคงต้องรีบหาชุดตรวจ ATK มาเทสต์ว่าเราติดเชื้อไปด้วยหรือยัง แต่ก็มีหลายเคสที่ตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ คือไม่ติดเชื้อ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งเรื่องนี้มีสาเหตุ ดังนั้นลองมาทำความเข้าใจกันหน่อย พร้อมตอบคำถามว่าควรตรวจ ATK วันไหนถึงแม่นยำที่สุด

ใครเสี่ยงได้รับเชื้อบ้าง

ตรวจ ATK

          ก่อนอื่นมาดูว่าเรามีความเสี่ยงได้รับเชื้อแค่ไหน ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดจะสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ในช่วงก่อนที่จะมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงช่วงที่มีอาการป่วยแล้ว เช่น
หาก A มีอาการป่วยครั้งแรกวันที่ 4 มีนาคม แสดงว่า A มีโอกาสแพร่เชื้อได้
ตั้งแต่วันที่ 1-3 มีนาคม แม้จะยังไม่มีอาการ 
          ดังนั้น ถ้าเราใกล้ชิดกับ A ในช่วงวันที่ 1-3 มีนาคม ไปจนถึงช่วงที่ A มีอาการป่วย เราก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใกล้ชิดแค่ไหน โดยพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยก็อย่างเช่น
  • อยู่ใกล้หรือพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตร เป็นเวลานานกว่า 5 นาที
  • ผู้ติดเชื้อไอ จาม ใส่ตัวเรา
  • อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นเวลานานกว่า 30 นาที เช่น ในรถยนต์ รถเมล์ปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ 
  • อยู่ใกล้กันโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย เช่น นั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกัน 
  • สัมผัสสิ่งของหรือใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน จับโทรศัพท์มือถือของผู้ติดเชื้อแล้วไม่ล้างมือ 

ตรวจ ATK แต่ทำไมไม่พบเชื้อ

          การตรวจ ATK ทันทีที่ทราบว่าใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ สำหรับบางคนอาจจะยังไม่พบเชื้อ เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีระยะฟักตัวตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงมีอาการประมาณ 5-14 วัน จึงต้องรอระยะเวลาที่จะตรวจพบได้

          นอกจากนี้ยังมีกรณีผลลบปลอม (False Negative) ซึ่งอาจเกิดจากเราเพิ่งติดเชื้อระยะแรก ๆ ร่างกายจึงมีปริมาณเชื้อต่ำ ทำให้ตรวจไม่เจอ หรือบางคนตรวจ ATK ผิดวิธี แหย่จมูกไม่ถูกต้อง รวมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด ปริมาณตัวอย่างที่หยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด

ตรวจ ATK วันไหน เมื่อไร ถึงได้ผลแม่นยำ

ตรวจ ATK

          สำหรับคนที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดมา และจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ควรตรวจโควิดตามคำแนะนำดังนี้ 

กรณีมีอาการป่วย

  • ให้ตรวจทันทีที่มีอาการป่วย แม้จะป่วยเล็กน้อยก็ตาม เพราะตั้งแต่วันแรกที่มีอาการป่วย จนถึงวันที่ 7 จะมีโอกาสตรวจพบเชื้อได้มากที่สุด 
  • ถ้าตรวจครั้งแรกแล้วผลเป็นลบ ให้กักตัว และตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในอีก 3-5 วัน 
  • ถ้าตรวจทั้ง 2 ครั้งแล้วยังได้ผลเป็นลบ ทั้งที่มีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ควรไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งมีความแม่นยำกว่า

กรณียังไม่มีอาการป่วย

          อย่างที่ทราบว่าโอมิครอนมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 5-14 วัน ดังนั้นเมื่อไปสัมผัสเชื้อมาในวันที่ 1-4 แล้วมาตรวจ บางคนอาจได้ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อ จึงมีคำแนะนำให้ตรวจ ATK ดังนี้

  • ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 นับจากวันที่ใกล้ชิดผู้ป่วยวันสุดท้าย เช่น เจอผู้ป่วยวันที่ 1 มิถุนายน ควรตรวจ ATK ในวันที่ 5 มิถุนายน หากยังไม่พบเชื้อให้รอตรวจครั้งที่ 2 โดยในระหว่างนี้ให้สังเกตอาการตัวเอง 10 วัน และไม่ควรไปที่สาธารณะ ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือทำกิจกรรมกับคนหมู่มาก รวมทั้งไม่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือเด็กเล็กที่มีอาการป่วย
     
  • ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 นับจากวันที่ใกล้ชิดผู้ป่วยวันสุดท้าย เช่น เจอผู้ป่วยวันที่ 1 มิถุนายน ถ้าตรวจครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน แล้วยังไม่พบเชื้อ ควรตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 มิถุนายน 

ตรวจ ATK เป็นบวกต้องทำอย่างไร

          สุดท้ายถ้าตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดจริง ๆ คือติดเชื้อ กรณีมีอาการไม่หนัก (ผู้ป่วยสีเขียว) สามารถรักษาได้ฟรีแบบเจอ แจก จบ คือไปหาหมอ รับยาที่โรงพยาบาลตามสิทธิของตัวเอง ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือกรณีเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทองก็ยังสามารถไปรับยาจากร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ (คลิกดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ

          แต่ถ้ามีอาการหนัก หรือเป็นผู้ป่วยในกลุ่ม 608 จะถูกจัดเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทุกแห่ง โดยกลุ่ม 608 ประกอบด้วย

  • มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 
  • ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  • ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
  • ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
  • มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม 
  • ป่วยโรคมะเร็ง
  • ป่วยโรคเบาหวาน
  • หญิงตั้งครรภ์ 
            โควิด 19 คงไม่หายไปจากโลกนี้ง่าย ๆ ดังนั้นเรายังจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่ดครัด เพราะถ้าประมาทขึ้นมาวันใด อาจติดโควิดและแพร่เชื้อสู่คนที่เรารักได้โดยไม่รู้ตัว

บทความที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ ATK และโควิด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ ATK วันไหนถึงได้ผลแม่นยำ หลังใกล้ชิดคนติดโควิด มาเช็กให้ชัวร์ ! อัปเดตล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17:27:33 213,971 อ่าน
TOP
x close