รู้จัก Electroconvulsive Therapy (ECT) ใช้ไฟฟ้ารักษาโรคซึมเศร้า ทำไมถึงบำบัดอาการป่วยทางจิตเวชได้ ?

             Electroconvulsive Therapy (ECT) คืออะไร ชวนมารู้จักการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยการช็อกไฟฟ้า อาการลักษณะไหนถึงจะรักษาด้วยวิธีนี้ได้
            ECT หรือ Electroconvulsive Therapy บางคนอาจเคยได้ยินคำนี้มาบ้าง โดยเฉพาะหากป่วยจิตเวช หรือมีคนรู้จักเป็นผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ แล้วทราบไหมคะว่าการรักษาด้วยไฟฟ้า ECT ใช้รักษาผู้ป่วยอาการแบบไหน รักษาได้กับทุกโรคจิตเวชเลยไหม แล้วผลข้างเคียง ECT เป็นอย่างไร เอาเป็นว่าเรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน
Electroconvulsive Therapy (ECT) คืออะไร
Electroconvulsive Therapy

          Electroconvulsive Therapy (ECT) หรือการช็อกไฟฟ้า เป็นหนึ่งในวิธีรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีมานานกว่า 70 ปี โดยมีการพบว่า การใช้ไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำช็อกผ่านสมองของผู้ป่วยจิตเวชในเวลาสั้น ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดอาการชัก (Convulsion) สามารถช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยจิตเวชได้ ปัจจุบันจึงยังมีการใช้ไฟฟ้ารักษาผู้ป่วยจิตเวชในหลาย ๆ โรค หลายกลุ่มอาการ ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยวิธีอื่น ๆ

Electroconvulsive Therapy (ECT)
ใช้รักษาอาการป่วยแบบไหน
Electroconvulsive Therapy

           ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะใช้ ECT รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท (Schizophrenia) และโรคไบโพลาร์ ในกลุ่มผู้ป่วยกรณีดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้

  • ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมไม่ยอมกินน้ำ กินอาหาร หรือยา จนร่างกายตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเสียชีวิต

  • ผู้ป่วยที่มีอาการก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และเสี่ยงอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น

  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย

Electroconvulsive Therapy (ECT)
ใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างไร
Electroconvulsive Therapy

         การรักษาด้วยไฟฟ้า ECT จะใช้ตัวขั้วนำไฟฟ้าแปะไว้ตรงขมับทั้งสองข้าง หรืออาจจะแปะขมับข้างเดียว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำในช่วงระหว่าง 70-150 โวลต์ เข้าไปในสมองตรงบริเวณที่กำหนด เป็นระยะเวลาราว ๆ 2-8 วินาที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเกร็ง ชักกระตุกคล้าย ๆ อาการลมบ้าหมู ประมาณ 25-60 วินาที โดยกระบวนการนี้จะไปช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองที่หลั่งผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติ เสมือนการรีเซตความผิดปกติที่เกิดขึ้น และปรับสมดุลการทำงานของสมองผู้ป่วยใหม่ให้ดีกว่าเดิม อารมณ์ดาวน์ ๆ หรือความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ก็จะค่อย ๆ บรรเทาลงไป

         ทั้งนี้ การช็อกไฟฟ้ารักษาโรคซึมเศร้า หรือ ECT ส่วนใหญ่จะทำประมาณ 6-12 ครั้ง (สัปดาห์ละ 3 ครั้ง) แล้วแต่อาการและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลศรีธัญญา พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการไม่ยอมกินยาหรืออาหาร เมื่อเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้าจะมีอาการดีขึ้นถึงร้อยละ 80 และผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษา เมื่อมาใช้ ECT อาการจะดีขึ้นร้อยละ 70 เลยทีเดียว

Electroconvulsive Therapy
อันตรายไหม ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร
           การรักษาด้วยไฟฟ้า ECT ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ใช้ก็เป็นไฟฟ้าความเข้มข้นต่ำ ไม่ใช่ไฟบ้านแต่อย่างใด จึงสามารถใช้ ECT รักษาผู้ป่วยจิตเวชมาเป็นเวลานาน

           อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยไฟฟ้า ECT อาจมีผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น

  • มีอาการสับสน ซึ่งจะหายภายใน 2-3 นาที

  • ผู้ป่วยประมาณ 40-50% จะมีอาการปวดศีรษะ โดยเป็นอาการปวดตุบ ๆ บริเวณขมับ แต่ไม่นานก็จะหายได้เอง หรือสามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวด

  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังฟื้นตัวใหม่ ๆ แต่สักพักก็จะหายเป็นปกติ

  • ปวดเมื่อยเนื้อตัวเล็กน้อย หลังฟื้นตัวใหม่ ๆ แต่สักพักก็จะหายเป็นปกติ

  • หลงลืมเหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น แต่มักจะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์

การเตรียมตัวรักษาด้วย
Electroconvulsive Therapy
Electroconvulsive Therapy

           ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า ECT ควรเตรียมตัวดังนี้

ขั้นตอนเตรียมความพร้อมก่อนรักษาด้วยไฟฟ้า

  • แพทย์จะซักประวัติการรักษา ตรวจร่างกาย ตรวจช่องปาก เช็กความเสี่ยงต่าง ๆ ว่ามีความพร้อมเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า

  • ฟังคำอธิบายจากแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้ารักษา รวมไปถึงผลดี ผลเสีย และผลข้างเคียง ที่อาจจะได้รับหลังการรักษา

  • เซ็นยินยอมเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า ECT

ขั้นตอนเตรียมตัวในวันที่จะรักษาด้วยไฟฟ้า

  • โกนหนวด สระผม ตัดเล็บให้สั้น ไม่ทาเล็บ ก่อนเข้ารับการรักษา

  • งดยาที่มีผลต่อการรักษาด้วยไฟฟ้า เช่น ยากันชัก (Anticonvulsant), ยาในกลุ่มยานอนหลับ หรือยาคลายเครียด (Benzodiazepine) หรือยาลิเทียม (Lithium) ที่ใช้รักษาอาการคลุ้มคลั่ง ก่อนทำ ECT 48 ชั่วโมง 

  • งดดื่มเครื่องดื่มและอาหาร 8 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษา ECT เพื่อป้องกันการสำลัก

  • ถอดสร้อย แว่นตา เครื่องประดับทุกชนิด ที่จะนำไฟฟ้าได้

  • ถอดฟันปลอมและคอนแทคเลนส์ก่อนทำ ECT 

  • ไม่ทาครีมหรือแป้งบริเวณขมับหรือใบหน้า เพราะอาจขัดขวางการนำไฟฟ้า

  • ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน

  • พยาบาลจะติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นสมองและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  • พยาบาลวิสัญญีจะให้ยาสลบและยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

  • แพทย์จะทำการช็อกไฟฟ้าจนเสร็จสิ้นตามกระบวนการ จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยได้นอนพักฟื้น

           ทั้งนี้ เพื่อให้การช็อกไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยการรักษาด้วยไฟฟ้า ECT ในช่วงช็อกไฟฟ้าจะใช้เวลาไม่นานค่ะ ประมาณ 5-10 นาที แต่ในส่วนของการตรวจร่างกาย ดมยาสลบ หรือการพักฟื้น อาจใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของแต่ละโรงพยาบาลและปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละบุคคลด้วย โดยตลอดการรักษาจะมีแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก Electroconvulsive Therapy (ECT) ใช้ไฟฟ้ารักษาโรคซึมเศร้า ทำไมถึงบำบัดอาการป่วยทางจิตเวชได้ ? อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2566 เวลา 11:38:27 38,897 อ่าน
TOP
x close