รู้จักโรคไซโคพาธ ของคนชอบต่อต้านสังคม สำนึกผิดไม่เป็น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

          ไซโคพาธ (Psychopaths) โรคขาดความสำนึกผิด เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมมุ่งเน้นแต่เป้าหมายของตนเอง โดยไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น สามารถทำทุกอย่างได้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะทำร้ายใครไปบ้างก็ไม่สนใจ

ไซโคพาธ

          ถ้าเคยสงสัยในตัวคนคนหนึ่งว่าทำไมใจร้าย ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ หรือแม้แต่จะรู้สึกผิดในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป นั่นอาจเป็นเพราะเขามีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ก็เป็นได้ โดยจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคไซโคพาธ (Psychopaths) และวันนี้เราจะลองมาทำความรู้จักโรคขาดความสำนึกผิดนี้กัน

ไซโคพาธ คืออะไร


          ไซโคพาธ (Psychopaths) จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ผู้ป่วยจะมีลักษณะขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ดูคล้าย ๆ คนที่มีนิสัยแข็งกระด้าง ไร้ความเมตตาปรานี

ไซโคพาธ

ไซโคพาธ เกิดจากอะไร


          ในทางการแพทย์จะแยกสาเหตุของโรคไซโคพาธออกเป็น 2 ด้าน คือ

1. ด้านทางกาย


          จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า และสมองส่วนอะมิกดาลา รวมไปถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางสมองหรือได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

2. ด้านจิตใจและสังคม


          การถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ต้องเผชิญกับอาชญากรรมในครอบครัว ความแตกแยกในครอบครัว หรือการอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายมาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือแม้แต่การเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉยก็นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคไซโคพาธได้เช่นกัน

ไซโคพาธ อาการเป็นอย่างไร


          สังคมสมัยนี้เราอาจจะพบเจอกับคนเห็นแก่ตัว คนที่สนใจแต่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และทำตัวใจร้ายกับคนอื่นอยู่บ่อย ๆ แต่ขนาดไหนจะถึงขั้นเป็นไซโคพาธ ลองพิจารณาจากอาการเหล่านี้ดู

          1. มีจิตใจที่แข็งกระด้าง โดยมักจะแสดงออกทางการกระทำให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

          2. มีพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่สนใจวาจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นยังไงบ้าง

          3. มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อสังคม

          4. มีพฤติกรรมโกหกและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ

          5. มีอารมณ์และความคิดที่ผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม

          6. ขาดมาตรฐานในการแยกสิ่งถูก สิ่งผิด กล่าวคือจะตัดสินถูกหรือผิดโดยอิงจากผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้

          7. มีความรู้สึกด้านชา ไม่เกรงกลัว ต่อให้ตัวเองทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและกำลังจะได้รับโทษก็ตาม

          8. อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง หรือมีสิทธิ์ก่ออาชญากรรมได้

ไซโคพาธ

ไซโคพาธ รักษาได้ไหม


          การรักษาโรคไซโคพาธก็พอมีอยู่บ้าง ทั้งการรักษาด้วยยา โดยเฉพาะในคนที่มีโรคจิตเวชเกิดร่วมกับโรคไซโคพาธ หรือการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมโดยใช้หลักเกณฑ์ทางจิตวิทยา แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยไซโคพาธมักจะไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา เพราะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นจะใช่อาการป่วย หรือเป็นสิ่งที่ผิด ที่ควรต้องรีบรักษาให้หาย

          นอกจากนี้การพยากรณ์ของโรคยังทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป โดยอาจจะถูกมองว่าเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้มีพฤติกรรมทำร้ายใครซ้ำ ๆ หรือก่ออาชญากรรมต่อเนื่อง ก็อาจแยกโรคนี้ได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยพลาดการรักษาที่ถูกต้องไปด้วย

          ที่สำคัญการลงโทษผู้ป่วยไซโคพาธก็อาจไม่ได้ส่งผลใด ๆ กับผู้ป่วยเลย เนื่องจากผู้ป่วยมีความด้านชาในด้านความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และไม่มีความเกรงกลัวต่อบทลงโทษใด ๆ

ไซโคพาธ

ป้องกันตัวเองอย่างไร กับโรคไซโคพาธ


          การป้องกันโรคไซโคพาธอาจจะมีแนวทางไม่มากนัก โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

          1. พยายามสร้างครอบครัวที่ดี อบอุ่น สังคมที่มีแต่การเอื้อเฟื้อดูแลกัน เพื่อลดโอกาสที่อาจทำให้เกิดโรคไซโคพาธในเด็ก

          2. ควรดูแลตัวเองให้ดี พยายามอย่าให้สมองต้องกระทบกระเทือน โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า และสมองส่วนอะมิกดาลา

          3. ในกรณีที่พบเจอผู้ป่วยไซโคพาธ พยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด อย่าไปยุ่งเกี่ยว

          ไซโคพาธจัดเป็นโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้ป่วยจะสามารถกระทำการรุนแรงได้ถึงขนาดไหน อีกทั้งการที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น ๆ ก็เป็นความเสี่ยงทางสังคมอย่างหนึ่ง ดังนั้นหากพบคนที่มีลักษณะอาการเข้าข่ายโรคนี้ ก็ควรอยู่ห่าง ๆ ไว้ก่อน หรือในกรณีที่เป็นคนใกล้ชิด เป็นคนใกล้ตัว ก็ควรรีบพาเขาไปรักษาให้ถูกต้องจะดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต


          - โรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต มีอะไรบ้าง ทำไมคนยุคนี้ป่วยกันเยอะ ?
          - รู้จัก Erotomania ภาวะหลงผิดว่าเขารัก มโนว่าเป็นแฟนกัน ทั้งที่แค่คิดไปเอง
          - วิธีรับมือกับคนที่เป็นพิษ หยุดเสียสุขภาพจิตเพราะ Toxic Person
          - พารานอยด์ หรือคิดมากไปเอง มาเช็กอาการที่เป็น เข้าใจตัวเองให้มากขึ้น
          - เช็กสัญญาณโรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) หัวร้อนง่าย อะไรก็ไม่ทันใจ เราป่วยอยู่ไหมนะ
          - ชอบเรียกร้องความสนใจ แสดงเก่ง แอ็คติ้งเว่อร์ เผลอ ๆ อาจป่วยฮิสทีเรีย


ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโรคไซโคพาธ ของคนชอบต่อต้านสังคม สำนึกผิดไม่เป็น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10:17:40 193,542 อ่าน
TOP
x close