โรคทนรอไม่ได้ คืออะไร
Hurry Sickness จริง ๆ ก็ไม่จัดว่าเป็นอาการป่วยหรือโรค แต่เป็นคำนิยามถึงพฤติกรรมหรือลักษณะอาการของคนที่มักจะรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว มีความกังวลเกินกว่าเหตุ หรือดูรีบไปซะทุกอย่าง แม้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเลยก็ตาม
โดยคนที่ให้คำจำกัดความคำว่า Hurry Sickness ก็คือ Meyer Friedman และ Ray Rosenman แพทย์โรคหัวใจ ที่ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนกรุ๊ป A กับเรื่องหัวใจ (Type A Behavior And Your Heart) และโด่งดังมากในปี 1974 โดยหนังสือก็บอกเล่าพฤติกรรมอันซับซ้อนของคนกรุ๊ปนี้ และภาวะทนรอไม่ได้(Hurry Sickness) ก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่คนกรุ๊ป A มักจะแสดงออกด้วย
โรคทนรอไม่ได้
อาการเป็นอย่างไร
ลักษณะอาการของคนเป็นโรคทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness มักจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. รีบไปซะทุกอย่าง ทุกกิจกรรมที่ทำ เหมือนชีวิตแข่งกับเวลาตลอด
2. จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้นาน แต่จะชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
3. รู้สึกรำคาญหรือหงุดหงิดมาก หากเจอสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีความล่าช้า
4. มักรู้สึกว่ามีเวลาไม่พอ เพราะในแต่ละวันจะทำอะไรหลายอย่างมาก ๆ
5. ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกขึ้นมาในขณะที่คนอื่นกำลังพูดอยู่
6. เสพติดอยู่กับการเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน และหากไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ก็จะหัวเสียหรือรู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก
7. เมื่อต้องต่อคิวก็จะเลือกแถวที่สั้นที่สุด แม้จะต้องเปลี่ยนแถวไป ๆ มา ๆ ก็ตาม
8. เมื่อเจอรถติดจะพยายามหาวิธีแทรกไปอยู่ด้านหน้า หรือทำทุกอย่างให้ได้ออกตัวเร็ว ๆ
9. บ่อยครั้งที่รีบจนใส่เสื้อผ้ากลับด้าน หรือใส่รองเท้าสลับคู่กัน
10. คิดหาวิธีประหยัดเวลาชีวิตแทบจะตลอด
อย่างไรก็ดี คนที่มีภาวะทนรอไม่ได้มักจะแสดงพฤติกรรมที่ดูกังวลมาก ๆ หรือร้อนรนจนผิดสังเกตออกมาเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังรออะไรบางอย่าง หรือบางคนอาจแสดงอาการฉุนเฉียวงุ่นง่านแบบอยู่ไม่สุขไปเลยก็มี
โรคทนรอไม่ได้
อันตรายไหม
แม้จะดูจากอาการแล้วไม่ค่อยน่ากังวลอะไร ทว่าหากปล่อยให้ความกังวลเกิดขึ้นทุกครั้งที่เจอเรื่องไม่ทันใจ หรือเครียดสะสมมาเรื่อย ๆ เป็นเวลานานก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย เช่น
* หายใจไม่ทัน คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง หัวใจเต้นเร็วหากเครียดจัด ๆ
* นอนไม่หลับ
* รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
* อ่อนเพลียเพราะวิ่งวุ่นทั้งวัน
* ปวดศีรษะ
* ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองจนภูมิต้านทานต่ำลง
* อาจมีปัญหาความดันโลหิตสูง
* อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยมีปัจจัยคือความเครียดและความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องเป็นแรงกระตุ้น
นอกจากนี้การเร่งรีบทำทุกอย่างไม่ว่าเรื่องงาน เรื่องชีวิตประจำวัน การไปเที่ยว หรือการกิน อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) และยังอาจส่งผลกระทบด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ด้วยนะคะ
โรคทนรอไม่ได้
มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง
หากอยากหลุดจากวงจรโรคทนรอไม่ได้ ลองวิธีแก้ที่เรากำลังจะแนะนำตามนี้ดู
- เมื่อรู้สึกกังวลกับการต้องรออะไรบางอย่าง ให้ลองออกไปเดินสูดอากาศ เดินช้า ๆ เรื่อย ๆ เพื่อสงบจิตใจ
- สูดลมหายใจลึก ๆ พร้อมเรียกสติให้ค่อย ๆ ทำไปทีละอย่าง
- พยายามปรับทัศนคติว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และลองจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำซะใหม่
- แบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน ได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ได้กินอาหารครบมื้อ และมีเวลาออกกำลังกายบ้าง
- หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสงบลง เช่น เล่นเกมฝึกสมองในสมาร์ตโฟน นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือฟังเพลงผ่อนคลายความกังวล เป็นต้น
- ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง อันไหนที่ทำไม่ทัน ทำไม่ไหวให้ขอความช่วยเหลือดู
- พยายามคิดบวกเข้าไว้ เช่น แม้วันนี้จะทำตามเป้าไม่ได้ แต่เราก็ยังมีเวลาในวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป
- เรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจว่าเรามีข้อจำกัดของตัวเอง และข้อจำกัดของเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมาก ๆ
Hurry Sickness หรือภาวะทนรอไม่ได้ยังไม่ใช่โรคทางจิตเวชหรือโรคทางกายก็จริง แต่หากรู้ตัวว่าเป็นอยู่และไม่รีบหาทางแก้ไข ภาวะนี้อาจบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ดังนั้นใครรู้ตัวว่าใช่อาการที่เป็นอยู่ก็ลองปรับการใช้ชีวิตดูนะคะ หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสม
รวมศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด กังวลใจ พบจิตแพทย์ที่ไหนดี
บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต
- เปลี่ยนนิสัยให้ใจเย็นลงด้วย 5 วิธีฝึกความอดทนให้ตัวเอง
- วิธีระงับความโกรธ ดับอารมณ์โมโหที่สูงปรี๊ดได้ แค่ต้องทำตามนี้
- 12 วิธีลดจิตฟุ้งซ่าน ขจัดความกังวล เปลี่ยนเป็นคนมองโลกให้เป็นสุข
- พารานอยด์ หรือคิดมากไปเอง มาเช็กอาการที่เป็น เข้าใจตัวเองให้มากขึ้น
- ผลกระทบสุดแย่ ที่เกิดเพราะแค่คุณเครียด
- รู้สึกเนือย ๆ ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร อาจเข้าข่ายภาวะ Languishing ที่หลายคนเป็นอยู่
- Sunday Blues อารมณ์หดหู่ในคืนวันอาทิตย์ เพราะพรุ่งนี้วันจันทร์อีกแล้ว !