Bivalent วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่หลายคนรอคอย
วัคซีนโควิด 19 ชนิด Bivalent เป็นวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่ใช้ mRNA ของสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์โอมิครอน เช่น สายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.4, BA.5 อย่างละครึ่ง มาผสมกันกลายเป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ จึงมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม เพราะมีความจำเพาะต่อโควิดโอมิครอนมากขึ้นนั่นเอง
โดย ณ ขณะนี้ (7 ธันวาคม 2565) องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนโควิดรุ่น Bivalent ของบริษัท Pfizer-Biontech และ Moderna เพื่อฉีดเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และนอกจากสหรัฐอเมริกา ยังมีประเทศแคนาดา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ที่อนุมัติวัคซีนให้ใช้วัคซีนโควิด 19 รุ่น Bivalent แล้วเช่นกัน
Bivalent วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ประสิทธิภาพดียังไง
ในส่วนของประสิทธิภาพวัคซีนรุ่นใหม่ Bivalent ทาง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.วิจัยกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการศึกษาในประเด็นนี้ไว้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรใหม่สามารถให้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโอมิครอนได้มากกว่ากลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรเก่า โดยเฉพาะไวรัสกลุ่ม BA.4 และ BA.5 โดยภูมิถูกกระตุ้นจากก่อนฉีดขึ้นมา 13 เท่า ในขณะที่วัคซีนสูตรเก่ากระตุ้นขึ้นมาได้ประมาณ 3 เท่า
อีกทั้งความสามารถในการกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรใหม่ดูเหมือนจะได้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสกลุ่มที่เป็นลูกหลานของ BA.4/BA.5 เช่น กลุ่ม BA.4.6, BQ.1.1 ได้พอสมควร โดยตัวเลขภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาได้อยู่ระดับ 8.7-11.1 เท่า เทียบกับวัคซีนสูตรเดิมที่ 1.8-2.3 เท่า
จะรอวัคซีนรุ่นใหม่ หรือฉีดกระตุ้นรุ่นเก่าไปก่อน
สำหรับประเด็นนี้ เราลองมาฟังความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านกันค่ะ
- นพ.ยง ภู่วรวรรณ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยยังอยู่ในขาขึ้นตามช่วงฤดูกาล จึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีอยู่ก่อน โดยไม่ต้องรอฉีดปีหน้า หรือรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ เพราะวัคซีนในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์เดิม แต่การกระตุ้นในระดับเซลล์เพื่อลดความรุนแรงของโรคสามารถทำได้ดีมาก ทั้งนี้ การลดความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ฉีดมากกว่าชนิดของวัคซีนที่ฉีด ดังนั้นควรฉีดอย่างน้อย 3 เข็ม และถ้าจะฉีดเข็ม 4 ควรห่างไป 4-6 เดือน ส่วนคนที่ฉีดเข็ม 4 มานานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ก็สามารถฉีดเข็ม 5 ได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงไปมากแล้ว
- รศ. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ให้ความเห็นว่า แม้ผลการทดสอบจะเห็นได้ชัดว่าวัคซีน Bivalent กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม เพราะมีความจำเพาะต่อสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น ทว่าสำหรับไทยเรานั้นยังไม่มีวัคซีนประเภทนี้เข้ามาใช้ แต่สถานการณ์ระบาดปัจจุบันมีการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายไปนานกว่า 6 เดือนแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น ลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยไม่ควรรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะจะไม่ทันต่อสถานการณ์ระบาด
- นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ให้ความเห็นว่า หากฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 3 เข็ม และเคยติดเชื้อโอมิครอนแล้ว ให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ แต่ถ้ายังไม่เคยติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเลย ไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่
- นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ความเห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 อยู่ในช่วงขาขึ้น ประชาชนควรเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์เดิม เมื่อรับวัคซีน 3 เข็ม จะช่วยลดความรุนแรงจากการเสียชีวิตลง 89% ขณะที่ผู้ที่ฉีด 4 เข็ม ไม่พบภาวะรุนแรงหรือเสียชีวิตเลย ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนรุ่นใหม่นั้นอยู่ในระหว่างการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ หากพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างชัดเจน ก็จะดำเนินการจัดหามาให้บริการประชาชนในปีหน้า