สำหรับประเด็นนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำว่า เราควรได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อยเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะค่อย ๆ ลดลงตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 4 เดือน คืออย่างน้อย 4 เข็ม
สำหรับวัคซีนเข็มที่ 5 ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการว่าจำเป็นต้องได้รับไหม เพราะยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอ แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนรายชนิด ก็อาจจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 5 ส่วนประชาชนทั่วไปให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่ม 608 อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 ก็ได้ หรือเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ประกอบด้วย
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ที่หากติดเชื้อโควิดแล้วจะเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรง
จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในกรณีที่ต้องการวัคซีนเข็ม 5 เป็นเข็มกระตุ้น ควรทิ้งช่วงให้ห่างจากวัคซีนเข็ม 4 ไปแล้ว 4 เดือนเป็นอย่างน้อยค่ะ
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม มาแล้ว 1-2 เข็ม ควรฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เพิ่มอีก 3 เข็ม (รวมเป็น 5 เข็ม) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ที่เป็นเชื้อตายไม่มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เป็นเข็มที่ 1-4 แล้วสงสัยว่าควรจะมาฉีดเข็มที่ 5 หรือไม่ ก็ให้พิจารณาความเสี่ยงของตัวเองว่าจะติดเชื้อได้ง่ายหรือไม่ ป่วยแล้วจะมีอาการหนักไหม หรืออยู่ในสถานที่ที่มีการระบาดเยอะหรือไม่ ถ้าคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงก็ควรมาฉีดเข็ม 5 โดยไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์เป็นราย ๆ ไป
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ตราบใดที่ไวรัสยังไม่สงบนิ่ง และเรายังไม่มีวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ก็อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเว้นจากเข็มสุดท้าย 4 เดือนไปเรื่อย ๆ และอาจต้องเลิกนับแล้วว่าฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่เท่าไร
สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ลักษณะของโควิด 19 มีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีการกลายพันธุ์หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เรื่อย ๆ ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิกันทุกปี
บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19
- สธ. เผยแนวทางฉีดวัคซีนโควิด แนะ 3 เข็มเป็นพื้นฐาน เน้นกลุ่มไหน ฉีดทุกปีหรือไม่
- ฉีดวัคซีนโควิด เข้ากล้ามเนื้อ VS ชั้นผิวหนัง ต่างกันอย่างไร เลือกแบบครึ่งโดส หรือเต็มโดสดีกว่า
- เปรียบเทียบไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ตัวไหนดีกว่าเรื่องประสิทธิภาพป้องกันโควิด
- อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน
- เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ผลข้างเคียงมีอะไรบ้างที่ควรระวัง
- ปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ทำยังไง บรรเทาปวดด้วยวิธีไหนได้บ้าง
- เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด แบบไหนหายเองได้ หรืออันตรายต้องรีบหาหมอ !
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan, เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC, ชัวร์ก่อนแชร์, Thai PBS