x close

ถุงน้ำดี อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรค

         ถุงน้ำดีทำหน้าที่อะไร มีลักษณะอย่างไร อยู่ตรงไหนในร่างกาย มีโรคอะไรเกิดกับถุงน้ำดีได้บ้าง และจะดูแลอย่างไรให้แข็งแรงไม่เป็นโรค
ถุงน้ำดี

          ถ้าพูดถึงระบบย่อยอาหารในร่างกาย ถุงน้ำดี แม้จะเป็นอวัยวะขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ทว่าหลายคนมองข้ามและไม่รู้ความสำคัญและหน้าที่ของถุงน้ำดีภายในร่างกาย แล้วเราควรดูแลถุงน้ำดีอย่างไรเพื่อสุขภาพห่างไกลโรคนิ่วในถุงน้ำดี ตามมาดูกันเลย

ถุงน้ำดี คืออะไร อยู่ตรงไหน

ถุงน้ำดี

          ถุงน้ำดี ภาษาอังกฤษคือ Gallbladder เป็นอวัยวะขนาดเล็กในระบบย่อยอาหาร อยู่ตรงช่วงท้องส่วนบนฝั่งขวา หรือด้านล่างของตับ มีลักษณะเป็นรูปถุง ขนาดประมาณ 4 นิ้ว

ถุงน้ำดี มีหน้าที่อะไร

          ถุงน้ำดีมีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ตับผลิตขึ้นมา ซึ่งน้ำดีจะมีลักษณะใสและหนืด สีออกเหลืองหรือเขียว การที่น้ำดีมาสะสมอยู่ที่ถุงน้ำดีไว้ก่อน จะทำให้ความเข้มข้นของน้ำดีมีมากพอที่จะย่อยอาหารประเภทไขมัน และเมื่ออาหารถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีจะปล่อยน้ำดีออกมาย่อยอาหารที่เป็นไขมันให้แตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ และนำของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดที่เรียกว่า บิลิรูบิน ไปกำจัดทิ้งและขับถ่ายออกมากับอุจจาระหรือปัสสาวะ

          อย่างไรก็ตาม ในคนที่ป่วยเป็นโรคนิ่วถุงน้ำดี แม้ว่าจะต้องตัดถุงน้ำดีทิ้งไปก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่มีอวัยวะที่ช่วยกักเก็บน้ำดีเพื่อให้มีความเข้มข้นเท่านั้น น้ำดีจึงลงไปที่ลำไส้ได้โดยตรง และย่อยอาหารประเภทไขมันได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวได้เอง

โรคถุงน้ำดีที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง

1. นิ่วในถุงน้ำดี

ถุงน้ำดี

          นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones หรือ Cholelithiasis) เกิดจากการตกผลึกของสารเคมีจากถุงน้ำดี เช่น คอเลสเตอรอลในน้ำดี กรดน้ำดี เลซิทิน จนเกิดการจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณเม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปอง และเราอาจพบเพียงก้อนเดียวหรือหลายร้อยก้อนก็ได้

          ทั้งนี้ โรคนิ่วในถุงน้ำดี แบ่งเป็น 3 ประเภทตามชนิดของนิ่ว คือ 

  1. นิ่วชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอลในน้ำดีที่มีมากผิดปกติ นิ่วชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีสีออกเหลืองหรือเขียว 
  2. นิ่วที่เกิดจากสารให้สี (Pigment stone) ที่ชื่อว่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ลักษณะของก้อนนิ่วจะเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็งน้อยกว่านิ่วชนิดแรก และก้อนนิ่วจะมีสีดำคล้ำ 
  3. นิ่วที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดรวมกัน ทั้งสารบิลิรูบินและคอเลสเตอรอลในน้ำดี กลายเป็นนิ่วชนิดผสม หรือที่เรียกว่า Mixed Gallstone มีลักษณะคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อบริเวณใกล้ตับ ท่อน้ำดี หรือตับอ่อน

          สำหรับอาการของนิ่วในถุงน้ำดีนั้น บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้ามีอาการควรต้องเอาก้อนนิ่วออก เช่น ปวดท้องรุนแรง จุกเสียด ปวดตรงกลางท้องด้านบนหรือปวดด้านขวาบนของท้อง อาจปวดรุนแรงจนร้าวไปที่หลัง สะบักขวา หรือระหว่างสะบักทั้งสองข้าง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการดีซ่าน ตัวเหลืองและตาเหลือง

2. ถุงน้ำดีอักเสบ

          ถุงน้ำดีอักเสบ (Acute Cholecystitis) มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางออกของถุงน้ำดี ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ จนถุงน้ำดีอาจเป็นหนอง มีเนื้อตาย แตกหรือทะลุ ท่อน้ำดีติดเชื้อ นอกจากนี้อาการถุงน้ำดีอักเสบยังอาจเกิดได้จากถุงน้ำดีฉีกขาดหลังประสบอุบัติเหตุ มีพังผืดหรือเนื้องอกเกิดขึ้น

          โดยอาการถุงน้ำดีอักเสบจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา โดยเฉพาะช่วงจังหวะการหายใจเข้า หากอาการหนักจะมีภาวะดีซ่าน ตัวและตาเหลือง ปัสสาวะเข้ม อุจจาระซีด และถ้าหากปล่อยไว้จนถุงน้ำดีแตกทะลุจะมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบิดเป็นพัก และปวดร้าวตั้งแต่หัวไหล่ขวาไปด้านหลัง เจ็บบริเวณท้อง

3. มะเร็งถุงน้ำดี

ถุงน้ำดี

         เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีอยู่ก่อนแล้ว หรือเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 เซนติเมตร มีแคลเซียมเกาะที่ผนังถุงน้ำดี

         นอกจากนี้ในคนบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้มากกว่าคนทั่วไป อาทิ ผู้หญิงที่ประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วหรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งถุงน้ำดี ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารหมักดอง อาหารรสจัด อาหารทอดไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นต้น

         สำหรับอาการของโรคนั้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บท้องตรงชายโครงขวา ท้องอืด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีอ่อน มีอาการดีซ่าน ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี หรือใช้ยาเคมีบำบัด หากเป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดีในระยะสุดท้ายที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะมีโอกาสอยู่ได้มากสุดเพียง 1 ปี

วิธีดูแลสุขภาพถุงน้ำดี

ถุงน้ำดี

          เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับถุงน้ำดี เราควรดูแลสุขภาพตัวเองตามนี้

  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการมีน้ำหนักตัวเยอะหรือเป็นโรคอ้วนจะเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วคอเลสเตอรอล เนื่องจากปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมีมากขึ้น และการบีบตัวของถุงน้ำดีมีประสิทธิภาพลดลง
  • ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ร่างกายละลายไขมันมากเกินไป และอาจส่งผลต่อสารเคมีในร่างกายที่กระตุ้นให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  • ลดการกินอาหารไขมันสูง อาหารทอด รวมถึงอาหารหมักดอง อาหารรสหวานจัด 
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงให้มากขึ้น เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ เพื่อช่วยขัดขวางการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอล 
  • งดสูบบุหรี่ และไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือทุกปี
          คราวนี้ก็ได้รู้กันแล้วว่าถุงน้ำดีมีหน้าที่อะไร มีความสำคัญยังไงกับร่างกาย พร้อมด้วยวิธีดูแลสุขภาพถุงน้ำดี เพื่อช่วยให้เราหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคภัยต่อถุงน้ำดีได้เป็นอย่างดี

บทความที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีและตับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลกรุงเทพ (1), (2), โรงพยาบาลเพชรเวช, โรงพยาบาลเปาโล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถุงน้ำดี อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรค อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2566 เวลา 16:06:21 28,090 อ่าน
TOP