โรคตับ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง หรือมีไขมันพอกตับ ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดี ลองมาดูกันว่าแพทย์เฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ แนะนำเรื่องการรับประทานอาหารไว้อย่างไร
ตับ เป็นอวัยวะของร่างกาย ที่มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการย่อยอาหาร เป็นคลังสะสมสารอาหาร และยังเป็นตัวกรองสารพิษหรือเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย และหากการทำงานของตับบกพร่อง หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง หรือภาวะไขมันพอกตับ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคตับแล้ว ก็ยิ่งต้องดูแลตับให้ดี โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่ต้องระมัดระวังอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ วันนี้เราจึงได้นำข้อมูลอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับ จากเฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับมาฝาก ลองมาดูกันว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับที่แพทย์เฉพาะทางแนะนำให้กินหรือเลี่ยง มีอาหารแบบไหนบ้าง
โรคตับ ห้ามกินอะไรบ้าง
ทางคุณหมอเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคตับควรหลีกเลี่ยงอาหาร 5 ประเภทต่อไปนี้
1. อาหารทะเลสุก ๆ ดิบ ๆ
เพราะอาหารทะเลอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งหากรับประทานเข้าไปก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเหล่านี้ได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคตับมักไม่ค่อยดี จึงเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงได้
2. สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อตับ และเพิ่มโอกาสมีไขมันพอกตับมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับจึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลย
3. อาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาลสูง
เช่น เนื้อติดมัน ของทอด ไข่แดง อาหารฟาสต์ฟู้ด ไอศกรีม อาหารน้ำตาลสูงทุกชนิด เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้มีไขมันพอกตับมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารเหล่านี้เพื่อรักษาตับ
4. เกลือหรืออาหารรสเค็ม
ควรหลีกเลี่ยงการเติมเกลือในอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีภาวะท้องโตร่วมด้วย เพราะเกลือและอาหารมีโซเดียมสูงจะทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ เสี่ยงภาวะท้องบวมน้ำมากขึ้นได้
5. อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ
เช่น ถั่วลิสงที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ หรือเห็ดพิษบางชนิด หากกินเข้าไปอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะตับอักเสบรุนแรงจนถึงตับวายได้
คำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหาร
นอกจากอาหารที่ควรเลี่ยงแล้ว คุณหมอยังมีคำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับ ดังนี้
- อาหารที่อ่านในอินเทอร์เน็ตว่าไม่ควรรับประทานในผู้ป่วยตับแข็ง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันจริง ๆ ว่าห้ามรับประทาน
- โดยทั่วไป แพทย์โรคตับแนะนำให้ผู้ป่วยตับแข็งรับประทานอาหารได้หลากหลายชนิดตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อตับ
- ควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่อวันรวมไม่น้อยกว่า 35 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม และมีโปรตีนไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 กรัม/กิโลกรัม
- ควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ คือ อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็น
- อาจรับประทานอาหารว่างเสริมระหว่างมื้อ เช่น อาหารว่างระหว่างมื้อเช้า-มื้อกลางวัน หรืออาหารว่างระหว่างมื้อกลางวัน-มื้อเย็น
- ควรรับประทานอาหารว่างมื้อดึกเสริมด้วย (Late evening snack) เพราะถือเป็นมื้อสำคัญของผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- ไม่ควรซื้อยาที่เขียนว่าบำรุงตับในอินเทอร์เน็ตมารับประทานเอง เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งที่คิดจะซื้อมารับประทาน
- รับประทานผักผลไม้เยอะ ๆ แต่หากกินมาก ๆ แล้วแน่นท้อง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
- พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เพราะจะทำให้ร่างกายมีภาวะบวมน้ำ โดยแนะนำรับประทานเกลือให้น้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน ซึ่งในช่วงแรก ๆ ที่ลดการรับประทานรสเค็ม อาจยังไม่คุ้นชินอยู่บ้าง แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่องร่างกายจะค่อย ๆ ปรับให้ชินขึ้น
- ไม่ควรจำกัดการรับประทานโปรตีน เพราะผู้ป่วยโรคตับแข็งมักจะมีภาวะกล้ามเนื้อน้อยร่วมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
- หากมีภาวะโรคสมองจากตับ (Hepatic encephalopathy) แพทย์อาจพิจารณาจำกัดการรับประทานโปรตีนชั่วคราวในคนไข้แต่ละรายไป โดยปรึกษาแพทย์ก่อนงดรับประทานโปรตีนเอง
- ถ้ารับประทานอาหารตามปกติแล้วได้โปรตีนไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องการ แพทย์อาจพิจารณาเสริมด้วยอาหารเสริมจำพวก Branched chain amino acid
ผู้ป่วยโรคตับลองปรับการรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางดูนะคะ แต่หากมีภาวะอื่น ๆ เพิ่มเติม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ทำการรักษาเราอยู่ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคตับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ