นอกจากโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับ อาการป่วยอย่างอื่นก็เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะชิ้นนี้ได้ ลองเช็กดูว่าโรคตับมีอะไรบ้าง
แค่เอ่ยชื่อโรคตับ ทุกคนอาจนึกถึงอาการตับแข็ง หรือโรคมะเร็งตับ กับโรคตับอักเสบจากไวรัสต่าง ๆ แต่นอกเหนือจากโรคดังกล่าว ก็ยังมีโรคตับอื่น ๆ อีกหลายชนิด วันนี้เรามาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าโรคตับมีอะไรบ้าง และตับมีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกายของเรา
ตับมีหน้าที่อะไร
หน้าที่ของตับถือว่ามีความสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของเราเลยก็ว่าได้ เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่หลายอย่าง มีการทำงานซับซ้อน ทั้งสร้างสารอาหาร โปรตีน คอยกักตุนสารอาหารให้ร่างกาย จัดการระบบน้ำดี รวมไปถึงขับสารพิษและของเสียต่าง ๆ โดยสามารถทำความเข้าใจการทำงานของตับได้ตามนี้
อาการโรคตับ กับสัญญาณเบื้องต้น
เมื่อตับมีภาวะผิดปกติไป ร่างกายเราจะเริ่มส่งสัญญาณป่วยมาให้รู้สึก อย่างอาการตาเหลือง หรือสังเกตเห็นว่าตาไม่ใสเหมือนเคย ตลอดจนสีผิวหมองคล้ำ เล็บเปราะบาง ผิวช้ำบ่อย ปวดชายโครงขวา และอาการอื่น ๆ ดังนี้
โรคตับมีอะไรบ้าง
อย่างที่บอกว่าความผิดปกติของตับ เป็นสาเหตุของโรคภัยได้หลายต่อหลายอย่าง โดยโรคตับที่พบได้บ่อย มีคนป่วยค่อนข้างเยอะ ได้แก่
1. มะเร็งตับ
ภัยเงียบของสุขภาพที่ผู้ป่วยมักจะรู้ตัวช้า เนื่องจากอาการแสดงระยะแรกไม่ค่อยชัดเจน กว่าจะรู้ตัวว่าป่วย เซลล์มะเร็งก็ลุกลามไปมากแล้ว ทำให้อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ค่อนข้างสูง ที่สำคัญ มะเร็งตับยังเกิดได้กับทุกเพศ และไม่เพียงแต่คนดื่มเหล้าจัดเท่านั้นที่เสี่ยงป่วย
2. ตับแข็ง
เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ดื่มเหล้า ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งได้เช่นกัน โดยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ จนตับไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ และหากปล่อยไว้นานก็จะกลายเป็นตับแข็งระยะสุดท้าย ซึ่งพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ด้วย
3. ตับอักเสบ
ภาวะตับอักเสบ เกิดจากเนื้อเยื่อของตับเกิดการอักเสบ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อของตับถูกทำลายจากสารเคมีและยาบางชนิด ทว่าสาเหตุที่พบได้บ่อยมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสที่เป็นตัวก่อโรคอักเสบก็มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ไวรัสที่สำคัญและพบการระบาดค่อนข้างบ่อยที่สุดคือ เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
4. ไวรัสตับอักเสบเอ
โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเอ ติดต่อกันง่ายผ่านระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานอาหาร ดื่มนม หรือน้ำที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย หรืออุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ และหากร่างกายไม่แข็งแรง การติดเชื้อนี้อาจทำให้ตับเสียหาย อันตรายถึงชีวิตได้เหมือนกัน
ไวรัสตับอักเสบเอ ดูดน้ำหลอดเดียวกันก็เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ๆ
5. ไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นตัวที่อันตรายและรุนแรงมากที่สุดในบรรดาไวรัสตับอักเสบทั้งหมด เพราะเชื้อไวรัสจะซ่อนตัวอยู่ในคน ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งตับ ตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็งได้ ที่น่ากลัวก็คือ มีคนไทยเป็นพาหะโรคนี้นับล้านคน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้แปรงสีฟันร่วมกัน การสัก การเจาะหู รวมทั้งทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
เจาะลึกข้อมูล ไวรัสตับอักเสบบี ที่คนไทยนับล้านเป็นพาหะไม่รู้ตัว
6. ไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี ก็เป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการอักเสบภายในตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็ง เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยตับแข็งจากการรับประทานสุราเรื้อรัง โดยผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีความผิดปกติของผลเลือดที่แสดงการทำงานของตับ ทว่าในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังอาจไม่แสดงอาการ หรือความผิดปกติของการทำงานของตับ แต่อาจตรวจพบจากการตรวจแอนติบอดี้หรือตรวจพบไวรัสเมื่อมาตรวจสุขภาพ
7. ไวรัสตับอักเสบดี
แม้จะชื่อไวรัสตับอักเสบดี แต่ป่วยแล้วไม่ดีเลยนะ เพราะไวรัสชนิดนี้มักจะแฝงมากับอาการไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากไวรัสชนิดดีไม่สามารถพาตัวเองมาเดี่ยว ๆ ได้ แต่หากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี มีไวรัสตับอักเสบดี ร่วมด้วย ก็จะทำให้ภาวะตับอักเสบที่เป็นอยู่มีอาการหนักขึ้น อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบดีพบได้มากในกลุ่มประเทศยุโรปมากกว่าในประเทศไทยนะคะ
8. ไวรัสตับอักเสบอี
ถือเป็นไวรัสตับอักเสบน้องใหม่ที่พบในคนไทยได้บ่อยในระยะหลัง โดยเชื้อนี้มาจากสัตว์ เช่น หมู กวาง และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ส่วนคนจะติดเชื้อจากการกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ และจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการเหลืองนานเป็นอาทิตย์ หรือนาน 2-3 เดือนได้ และหากร่างกายไม่แข็งแรง ไวรัสตับอักเสบอี ก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะผิดปกติของตับอื่น ๆ ได้อีก
9. ไขมันพอกตับ
ปัจจุบันพบได้บ่อยในเกือบจะทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในคนอ้วน เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง คนที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ซี หรือจากภูมิแพ้ กลุ่มคนที่ได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาต้านการอักเสบ หรือยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น รวมไปถึงในกลุ่มคนที่ขาดสารอาหารก็มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับด้วย เนื่องจากตับถูกยับยั้งการทำงานเพราะยาที่กินบ้าง หรือในกลุ่มคนที่ขาดอาหารหรือดื่มสุรา ไขมันจากเนื้อเยื่อก็จะถ่ายโอนมาเก็บไว้ที่ตับเพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งหากตับแปรรูปไขมันที่ถูกส่งมาไม่ทัน ก็จะเกิดการสะสมไขมันขึ้นมาในตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับในที่สุด
10 สัญญาณเช็กอาการไขมันพอกตับ พร้อมเคล็ดลับป้องกันไขมันเกาะตับ
10. พยาธิใบไม้ตับ
โรคนี้มีสาเหตุจากพยาธิที่มีรูปร่างคล้ายใบไม้ มีวงจรชีวิตอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีที่อยู่ในตับของคน สุนัข และแมว โดยจะได้รับพยาธิชนิดนี้จากการรับประทานปลาที่ปรุงไม่สุก เช่น ก้อยปลา ปลาสด ปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม ลาบปลา แจ่วบอง เป็นต้น ส่วนอาการของโรคพยาธิใบไม้ตับจะขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิในร่างกาย หากมีพยาธิน้อย ก็อาจไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นครั้งคราว เบื่ออาหาร ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงขวา (ตำแหน่งของตับ) ในคนที่มีอาการรุนแรงจะพบว่าตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ต่ำ ๆ ไปจนถึงไข้สูง หนาวสั่น และอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างมะเร็งในท่อน้ำดีได้ด้วย
11. ดีซ่าน
แม้ดีซ่านจะไม่ใช่โรคตับโดยตรง แต่ก็เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานของตับที่ผิดปกติไป โดยเฉพาะหากมีภาวะตับติดเชื้อจากไวรัสชนิดต่าง ๆ โรคฉี่หนู หรือตับอักเสบ และมะเร็งตับ ก็เป็นสาเหตุหลักของอาการดีซ่านได้ อย่างไรก็ดี อาการดีซ่านในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป หรือมีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกับอาการเจ็บป่วยของโรคที่เป็นอยู่ด้วย
12. สุราเป็นพิษ
ภาวะสุราเป็นพิษหรือแอลกอฮอล์เป็นพิษ เกิดจากพฤติกรรมดื่มเหล้าหนักถึงหนักมาก จนตับไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือดได้ทัน ส่งผลให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติไป และอาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้เลย
สัญญาณเตือนสุราเป็นพิษ อาการอย่างนี้เสี่ยงไปห้องดับจิต ต้องระวัง
อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติของตับอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ และผู้ป่วยโรคตับที่อาการค่อนข้างหนัก มีภาวะติดเชื้อ ภาวะอักเสบ อาจเสี่ยงกับการติดเชื้อในกระแสเลือดได้อีกด้วย ซึ่งภาวะนี้ก็จัดว่าอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ข้อสำคัญที่สุดของการป้องกันโรคใดก็ตาม คือการรักษาสุขภาพร่างกายให้ปลอดภัย กินอาหารเพื่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รักษาสุขอนามัย และพักผ่อนให้เพียงพอ หรือหากอยากบำรุงตับเป็นพิเศษร่วมด้วย ก็สามารถกินอาหารตามนี้ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน