น้ำตาลในเลือดสูง อาการเป็นอย่างไร เราเข้าใกล้โรคเบาหวานเท่าไรแล้ว คำถามนี้สามารถตอบได้ไม่ยาก ด้วยการเช็กสัญญาณเตือนสุขภาพเบื้องต้น
น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะนี้หากร่างกายเป็นขึ้นมาเมื่อไร หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และจะมีสัญญาณเตือนให้เราพอจับอาการของร่างกายได้ค่ะ ดังนั้น ถ้าช่วงนี้รู้สึกหนักของหวานมากไปหน่อย ทั้งน้ำชง เบเกอรี่ ขนมปัง หรืออาหารที่มีน้ำตาลชนิดอื่น ๆ ก็ลองมาเช็กภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกันแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า
น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) คืออะไร
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Hyperglycemia คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปกติ โดยหากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ไม่ได้รับการรักษาหรือปรับพฤติกรรมให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการทางระบบประสาท หลอดเลือด รวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ อาจถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
ระดับน้ำตาลในเลือด ปกติ-ผิดปกติ ดูค่ายังไง
โดยปกติแล้วการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดควรตรวจหลังงดอาหารเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง ซึ่งเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่บ่งชี้ความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ คือ
-
ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ : 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
-
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน : 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเป็นเบาหวาน
-
ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน : 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
น้ำตาลในเลือดสูง อาการเป็นอย่างไร
ลองมาเช็กอาการน้ำตาลในเลือดสูงกันดู ซึ่งโดยปกติแล้วอาการมักจะแสดงเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป และในเบื้องต้นก็พอสังเกตอาการได้ ดังนี้
-
หิวน้ำบ่อย
-
ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
-
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
-
ปวดศีรษะ
-
ปากแห้ง แตก
-
เบลอ อ่อนเพลียง่าย
-
เริ่มมีอาการชา โดยเฉพาะที่เท้า
-
ติดเชื้อง่าย
-
แผลหายช้ากว่าเดิม
-
หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
-
สายตาเริ่มพร่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด
สำหรับใครที่รู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้ ร่วมกับมีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารน้ำตาลสูงบ่อยครั้ง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรไปตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้ชัด ๆ อีกที พร้อมปรึกษาแพทย์เพื่อเช็กสุขภาพตัวเองไปด้วย
น้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากอะไรได้บ้าง
การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดได้ทั้งปัจจัยภายในร่างกายและปัจจัยภายนอก ดังนี้
-
ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน จนทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
-
ความเครียดสะสม จนมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดมากเกินไป
-
การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรืออาหารคาร์โบไฮเดรตสูงมากเกินไป
-
ขาดการออกกำลังกาย
-
การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยา Prednisone, Beta Blocker หรือ Glucagon
-
โรคบางอย่าง เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับ ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หัวใจวาย รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เป็นต้น
-
กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวาน
น้ำตาลในเลือดสูง ควรทำยังไงให้น้ำตาลในเลือดลดลง
หากสงสัยว่าตัวเองเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลองปรับพฤติกรรมตามนี้ดูได้เลย
-
ควบคุมอาหาร โดยลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง
-
รับประทานผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น เพราะไฟเบอร์พืชจะช่วยชะลอการย่อยและดูดซึมน้ำตาล
-
ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย
-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
รักษาสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง
-
พยายามไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
-
ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
วิธีลดระดับน้ำตาลในเลือดข้างต้นจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ แต่หากป่วยด้วยโรคเบาหวานแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาหรือการฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลตามระดับความรุนแรงของโรค ร่วมกับปรับพฤติกรรมข้างต้นไปพร้อมกันด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน
- อาการโรคเบาหวาน 10 สัญญาณควรระวัง เช็กได้ง่ายนิดเดียว
- เมนูอาหารผู้ป่วยเบาหวาน กินอะไรได้บ้างเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
- 13 ผักพื้นบ้านลดน้ำตาลในเลือด กินสบายไม่ทำลายตับ
- 14 วิธีลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมเบาหวานให้อยู่หมัด
- วิธีออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน อยากลดน้ำตาลในเลือด ออกกำลังยังไงดี
- คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร ไม่อยากเสี่ยงตายต้องเลี่ยง !
- มดขึ้นผ้าเช็ดตัว มดขึ้นผ้าอนามัย เสี่ยงเป็นเบาหวานไหม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ (1), (2), โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลเพชรเวช