แผลพุพองจากความร้อนทำไงดี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้อะไรทาบรรเทาอาการ

          แผลพุพองจากความร้อนไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก หรือแผลจากความร้อนอื่น ๆ ถ้าเป็นขึ้นมาจะทำยังไงดี
แผลพุพอง เป็นน้ำใสๆ

          แผลพุพองจากความร้อน ใช้อะไรทาเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อน หรือคนที่มีแผลพุพอง เป็นน้ำใส ๆ จะเจาะแผลเอาน้ำออกได้ไหม เสี่ยงกับการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าให้ดีเรามารู้วิธีปฐมพยาบาล แผลโดนความร้อน ว่ารักษายังไงกันเถอะ

แผลโดนความร้อนมีกี่ระดับ

          แผลพุพองจากความร้อน แบ่งออกได้ 3 ระดับ ตามความลึกของบาดแผล ดังนี้

แผลลึกระดับ 1 (First-degree burn)

แผลน้ำร้อนลวก

          ลักษณะของแผลจะไม่ลึกมาก เพราะเกิดขึ้นบนชั้นหนังกำพร้า ซึ่งเป็นชั้นผิวหนังส่วนตื้น แผลจะคล้ายผิวไหม้จากแดด ไม่มีตุ่มน้ำ แต่จะมีอาการเจ็บ แสบ แดง และแห้ง โดยแผลจะหายได้เองภายใน 7-14 วัน

แผลลึกระดับที่ 2 (Second-degree burn)

แผลไฟไหม้

          ลักษณะของแผลจะลงลึกถึงชั้นหนังแท้ มักพบตุ่มน้ำหรือแผลถลอกร่วมด้วย โดยอาการจะขึ้นอยู่กับระดับความลึกที่ได้รับบาดเจ็บ และแผลพุพองจากความร้อนในระดับนี้อาจใช้เวลามากกว่า 2 สัปดาห์กว่าจะหาย อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดแผลเป็นหรือสีผิวผิดปกติหลังจากแผลแห้งสนิทดีแล้วด้วย

แผลลึกระดับที่ 3 (Third-degree burn หรือ Full-Thickness burn)

แผลโดนความร้อน

          แผลพุพองจากความร้อนในระดับรุนแรงที่สุด ความร้อนจะเข้าถึงผิวหนังทุกชั้น เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลาย ขาดความยืดหยุ่น แผลจึงมีลักษณะแห้งแข็ง และมีโอกาสเกิดรอยย่นหรือแผลเป็นนูนบนผิวหนังได้ค่อนข้างมาก แผลในระดับนี้มักจะหายเองได้ยาก มีโอกาสติดเชื้อสูง จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

แผลพุพองเป็นน้ำใส ๆ

ต้องเจาะน้ำออกไหม

แผลพุพองเป็นน้ำใสๆ เจาะไหม

          แผลพุพอง เป็นน้ำใส ๆ จากความร้อน คือ แผลที่มีความรุนแรงระดับที่ 2 ซึ่งไม่ควรเจาะตุ่มน้ำออกเอง เพราะเมื่อเจาะน้ำใส ๆ ออก ตุ่มจะหายแต่ผิวหนังจะเปิด เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลได้ ดังนั้น ปล่อยให้ตุ่มใส ๆ แห้งหลุดไปเองจะดีกว่า หรือถ้าตุ่มมีขนาดเล็กสามารถใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน ทาลงบนตุ่มน้ำใส ๆ แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ ตุ่มจะค่อย ๆ แห้งและหลุดออกไปในภาย 1 สัปดาห์

แผลพุพอง

ควรปฐมพยาบาลอย่างไร

แผลผุพองจากความร้อน ทำไงดี

          แผลพุพองจากความร้อนทำไงดี และนี่คือวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  1. ออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด หากเสื้อผ้าติดไฟ ควรถอดออกทันที รวมถึงสร้อย แหวน กำไล เครื่องประดับใด ๆ ที่อยู่บริเวณแผล ก็ควรถอดออก เพราะจะเป็นแหล่งความร้อนที่จะทำให้บาดแผลลุกลามมากขึ้นได้ 
     
  2. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ โดยเปิดน้ำให้ไหลผ่าน หรือถ้าเป็นแผลบริเวณมือ เท้า ให้แช่ลงไปในน้ำ 15-20 นาที เพื่อลดความร้อนและทำให้แผลเย็นลง จากนั้นปิดด้วยผ้าก๊อซหรือวัสดุปิดแผล เลี่ยงน้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเพราะอาจทำให้แผลลึกขึ้น ทั้งนี้ ควรลดความร้อนบนผิวโดยเร็วที่สุดภายใน 15 นาทีแรก ที่เนื้อเยื่อหรือเซลล์อาจจะยังรอดจากการโดนความร้อนทำลายอยู่
     
  3. กรณีมีบาดแผลถลอก มีตุ่มน้ำ ไม่ควรเจาะน้ำออกเอง ทว่าในกรณีที่ตุ่มพองแตกเอง แนะนำให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือสำหรับทำความสะอาดแผลแล้วซับให้แห้ง ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลหรือผ้าก๊อซ แต่อย่าปิดจนแน่นมากเพราะแผลอาจจะอับชื้นได้
     
  4. ไม่ควรใช้สารอื่น ๆ เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำปลา ทาบนบาดแผล เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผล  
     
  5. กินยาพาราเซตามอลได้ถ้ารู้สึกปวดแผล
     
  6. หากมีอาการต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • มีอาการปวดแผลมาก กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย
  • แผลพุพองรอยแดง ๆ หรือรอยถลอกที่มีขนาดกว้าง ลามไปที่เนื้อหนังหลายบริเวณ หรือมีแผลที่ใบหน้า หู ตา ข้อพับต่าง ๆ อวัยวะเพศ บั้นท้าย หรือแผลที่เกิดกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ
  • บาดแผลลึก มีตุ่มพอง หรือมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 8 เซนติเมตร หรือสีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวหนังหลุดลอกออก เห็นเนื้อในแดง ๆ สลับขาว หรือมีสีคล้ำจากการไหม้เกรียม 
  • แผลไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ หรือแผลมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นตุ่มพอง มีการอักเสบ หรือเป็นหนอง
  • มีไข้สูง เบื่ออาหาร หน้ามืด หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น คล้ายจะเป็นลม หายใจลำบาก มีอาการช็อก
  • พิจารณาแล้วเห็นว่าแผลพุพองดูมีความรุนแรงเกินจะปฐมพยาบาลด้วยตัวเองได้ 
     
  1. ในกรณีที่บาดแผลลึกมากหรือมีความรุนแรงระดับ 2 ขึ้นไป ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจขณะเดินทางไปโรงพยาบาล

แผลโดนความร้อน ใช้อะไรทา

ยาทาแผลพุพอง

          ยาทาแผลโดนความร้อนสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของบาดแผล โดยจะมียาหลายตัวด้วยกัน ดังนี้

โพวิโดน-ไอโอดีน

          เป็นยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับรักษาแผลสด เช่น เบตาดีน ซึ่งมีทั้งชนิดยาน้ำสำหรับทาและขี้ผึ้งออยเมนท์ (Ointment)

ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Topical antibiotic treatment)

          หรือครีมสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแผลไฟไหม้ แผลกดทับ เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน 1% หรือชื่อทางการค้าว่า ซิลเว็กซ์ครีม (Silvex Cream) 

ยาทาชนิดขี้ผึ้ง หรือออยเมนท์ (Ointment)

          ใช้ทาแผลโดนความร้อน ป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ และช่วยในการสมานแผล รวมไปถึงป้องกันการเกิดแผลเป็น เช่น ยาแบคเท็กซ์ (Bactex)

เจลว่านหางจระเข้

          ช่วยรักษาแผลพุพอง แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก ลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

วุ้นว่านหางจระเข้

          ช่วยรักษาแผลและลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้แผลปนเปื้อนมากขึ้น 
          สำหรับวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ให้เลือกวุ้นจากใบที่อยู่ส่วนล่างของต้น ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้หมดด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม จึงค่อยขูดเอาวุ้นใส ๆ หรือฝานเป็นแผ่นบาง ๆ มาพอกที่แผล แล้วใช้ผ้าสะอาดมาพันทับไว้ เมื่อวุ้นแห้งให้เปลี่ยนเอาวุ้นใหม่ปิด ทาวันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยทำให้ผิวหนังไม่พอง แผลจะแห้งและหายเร็ว 
          ทั้งนี้ แนะนำให้ทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ ด้วยการนำวุ้นว่านหางจระเข้มาวางไว้ที่ท้องแขน หากไม่มีรอยแดงหรืออาการคันก็สามารถใช้ได้

น้ำมันมะกอก หรือขี้ผึ้งวาสลิน

          ใช้สำหรับทาแผลที่มีขนาดเล็ก ไม่รุนแรง เพื่อให้มีความชุ่มชื้น ป้องกันการเกิดแผลเป็น

เบตาดีน ใช้กับแผลพุพองได้ไหม

เบตาดีน

          แผลพุพองจากความร้อนสามารถใช้เบตาดีนทาแผลได้ค่ะ เพราะมีตัวยาโพวิโดน-ไอโอดีน เป็นยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่ง โดยมีให้เลือกทั้งแบบยาน้ำสำหรับทาแผลและออยเมนท์เลย

ยาสีฟัน

ใช้ทาแผลโดนความร้อนได้ไหม

ยาสีฟัน

          ไม่ควรใช้ยาสีฟันทาแผลพุพองหรือแผลโดนความร้อน แม้ยาสีฟันจะมีความเย็นที่หลายคนคิดว่าใช้ทาแผลพุพองได้ แต่จริง ๆ แล้วยาสีฟันไม่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนแต่อย่างใด อีกทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อที่บาดแผลได้ด้วย

วิธีดูแลตัวเองหลังเป็นแผลพุพอง 

  1. ล้างทำความสะอาดแผลทุกวัน โดยฟอกสบู่ได้ แต่ไม่ควรถูแรง ๆ และต้องล้างสบู่ออกให้หมดจด จากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้งสนิททุกครั้ง
  2. หากแผลใหญ่ มีความรุนแรง ควรล้างแผลตามคำแนะนำของแพทย์ โดยอาจต้องไปล้างแผลที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์กำหนด หรือล้างแผลได้เองที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นผง หรือสิ่งที่อาจก่อการระคายเคือง
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือเนื้อสัตว์ดิบ ๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  5. รับประทานอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ปรุงสุก นม ไข่ ถั่ว และผักทุกชนิด เพราะร่างกายจะสูญเสียโปรตีนไปกับบาดแผล อีกทั้งโปรตีนยังช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อใหม่และช่วยในการสมานแผลด้วย
  6. รับประทานอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่
  7. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  8. งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 
  9. ทายาและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ 
          ทั้งนี้ แผลโดนความร้อนของแต่ละบุคคลอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การรักษาและการดูแลแผลขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้แผลพุพองหายในเร็ววัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับแผลโดนความร้อน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผลพุพองจากความร้อนทำไงดี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้อะไรทาบรรเทาอาการ อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2567 เวลา 11:34:35 16,653 อ่าน
TOP
x close