วัคซีนโควิด 19 มียี่ห้ออะไรบ้างที่ใช้ในไทย พร้อมวิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง

           วัคซีนโควิด 19 มียี่ห้อไหนบ้างที่คนไทยเคยใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมแนะนำวิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง
วัคซีนโควิด

           แม้โรคโควิด 19 ยังคงระบาดอยู่เรื่อย ๆ ไม่จางหายไปไหน แต่ความรุนแรงจากอาการโควิดล่าสุด ปี 2567 กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยมีภูมิคุ้มกัน COVID-19 กันแล้วจากการติดเชื้อในรอบแรก ๆ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปหลายเข็มเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต วันนี้เราลองมาย้อนกันว่าวัคซีนโควิด 19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทย มีประเภทใดบ้าง และตัวเราเคยฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน

วัคซีนโควิดในไทยมีอะไรบ้าง

         วัคซีนโควิด 19 ที่คนไทยได้ใช้มีทั้งชนิดเชื้อตาย เชื้อไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้ และชนิด mRNA ซึ่งผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย โดยชนิดที่นำมาใช้ในประเทศไทยจะมีอยู่ 5 ยี่ห้อ ดังนี้

1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

AstraZeneca

ภาพจาก : StanislavSukhin / Shutterstock

          วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือ ChAdOx1 nCoV-19 vaccine ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ของสหราชอาณาจักร เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้ (Viral vector vaccine) กล่าวคือ ใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกมาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อโรคโควิด 19

          ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา สำหรับในประเทศไทยนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นวัคซีนหลักชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในช่วงแรกของการระบาด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันโดยรวม 70% ขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ 

          ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็มีรายงานในต่างประเทศว่าพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 อยู่บ้างในสัดส่วนไม่มากนัก คือราว ๆ 1 ต่อแสน ถึง 1 ต่อล้านโดส

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2567 แอสตร้าเซนเนก้า ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า วัคซีนโควิดของบริษัท หรือ โควิดชิลด์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 60-80% แต่การวิจัยก็พบว่าวัคซีนอาจทำให้บางคนเกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำภายหลังฉีดวัคซีน หรือ Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome (TTS) ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งนี้ ภาวะ TTS สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่นกัน ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด  

          ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเคยแจ้งเรื่องผลข้างเคียงมาตั้งแต่ในช่วงที่มีการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ขณะนี้มีการอนุญาตใช้โดยทั่วไปแล้ว โดยมีข้อมูลการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงนำมาปรับแนวทางการให้วัคซีนด้วยการแนะนำให้ฉีดในกลุ่มผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลงเหลืออยู่แล้ว

          ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด 48 ล้านโดส โดย 1 คน ฉีด 2 โดส เท่ากับว่าจะมีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเข็มสุดท้ายที่ฉีดคือเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน 5-42 วัน ดังนั้น ถ้าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันขึ้นหลังจากนั้นไม่น่าจะใช่อาการที่เกิดจากวัคซีน ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่เข้าข่ายอาจเกิดจากวัคซีน 7 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 คน

2. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)

วัคซีนซิโนแวค

ภาพจาก : Vladimka production / Shutterstock

          วัคซีนซิโนแวค หรือ Corona Vac พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่นำเชื้อไวรัสที่ตายแล้วมาฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานานในวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ จึงค่อนข้างปลอดภัย แต่กระบวนการผลิตค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา วัคซีนชนิดนี้จึงมักมีราคาแพงกว่าวัคซีนชนิดอื่น

          องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้นำวัคซีนซิโนแวคมาใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ขณะที่ในประเทศไทยนั้นนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันโควิด 19 เป็นชนิดแรก และเริ่มฉีดในคนกลุ่มเสี่ยงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 65.3-91.25% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ) 

          สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวคนั้นพบได้น้อย และมีอาการข้างเคียงเฉพาะที่น้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ โดยที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบอาการข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น อาการเจ็บหน้าอก อ่อนแรง ชาครึ่งซีก แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่หายได้เอง

3. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)

วัคซีนซิโนฟาร์ม

ภาพจาก : HangermanCnx_Thailand / Shutterstock

          วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือ BBIBP-CorV ผลิตโดยบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ประเทศจีน ซึ่งเป็นเครือรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มีชื่อทางการค้าคือ COVILO เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายเช่นเดียวกับซิโนแวค ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 จากนั้นทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อฉีดให้กับคนทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2564 โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 28 วัน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 79%

          ขณะที่ผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มพบได้น้อยเช่นเดียวกับวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น

4. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)

วัคซีนไฟเซอร์

ภาพจาก : Flowersandtraveling / Shutterstock

          วัคซีนไฟเซอร์ หรือ BNT162b2 ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนี เป็นวัคซีนชนิด mRNA โดยการสังเคราะห์สารพันธุกรรมเลียนแบบเชื้อไวรัสขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) เหมือนไวรัสโคโรนา ได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นับเป็นวัคซีนโควิดชนิดแรกของโลกที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองใช้ในกรณีฉุกเฉิน

          สำหรับในประเทศไทย ทาง อย. ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และนำมาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 21-28 วัน พบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึงประมาณ 90% ซึ่งสูงกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ

          ส่วนเรื่องผลข้างเคียงนั้นคล้ายกับการฉีดวัคซีนทั่ว ๆ ไป เช่น รู้สึกปวด-บวมบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานอยู่บ้างว่าพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง  

          นอกจากนี้ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของต่างประเทศ ยังพบว่า มีโอกาส 1 ใน 10 ที่วัคซีนไฟเซอร์จะไม่สร้างโปรตีน spike แต่กลับเบี่ยงเบนไปสร้างโปรตีนชนิดอื่น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและการแพ้ภูมิตนเองได้ สิ่งนี้เกิดจากความผิดพลาดของการแปลรหัสพันธุกรรม 

5. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)

วัคซีนโมเดอร์นา

ภาพจาก : Carlos l Vives / Shutterstock

          วัคซีนโมเดอร์นา หรือ mRNA-1273 พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ และสำนักงานวิจัยและพัฒนาชีวเวชภัณฑ์ชั้นสูงสหรัฐฯ เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนของไฟเซอร์ โดยนำสารพันธุกรรมของโควิด 19 ที่สร้างโปรตีนส่วนปุ่มหนามมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่ง S-spike mRNA เมื่อฉีดเข้าไปจะทำให้ร่างกายผลิตโปรตีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา จึงมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง คือป้องกันการติดโรคในคนทั่วไปได้มากกว่า 90%

          องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนโมเดอร์นาในเดือนเมษายน 2564 และทาง อย. ประเทศไทย ได้ขึ้นทะเบียนในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยในช่วงแรกโรงพยาบาลเอกชนได้เปิดให้คนที่สนใจลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้แบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มมีระยะห่างกัน 28 วัน ก่อนที่ภายหลังจะมีบริการให้ฉีดฟรี

          สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนโมเดอร์นาไม่ต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ โดยมีอาการเจ็บและแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งสามารถหายได้เอง นอกจากนี้ยังมีรายงานพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอยู่บ้างเช่นกัน แต่มีจำนวนไม่มากนัก และยังคงต้องติดตามโอกาสของการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เพิ่มเติม

ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม

          วัคซีนชนิด mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่พัฒนามาใหม่ นักวิจัยจึงยังคงเก็บข้อมูลและติดตามผลสืบเนื่องจากการใช้วัคซีนชนิดนี้ โดยมีรายงานถึงความกังวลออกมาอยู่บ้าง ดังเช่นที่ ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและระบบประสาท ได้โพสต์ข้อมูลรายงานทางการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่น พบว่า การฉีดวัคซีน mRNA มีความเชื่อมโยงกับอัตราการตายสูงขึ้นอย่างผิดปกติของมะเร็งทุกชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน หลังจากประเทศญี่ปุ่นระดมฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นต้นไป และวัคซีนที่ได้รับนั้นเกือบ 100% เป็น mRNA คือเป็นไฟเซอร์ 78% และโมเดอร์นา 22% 

          สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์ของหลาย ๆ ประเทศที่พบว่า การเพิ่มปริมาณของวัคซีน mRNA และโมเลกุลของดีเอ็นเอที่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากอาร์เอ็นเอในเซลล์ (cytoplasm) จะสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอักเสบด้วยตัวเองอย่างเรื้อรัง และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันแปรปรวนต่อต้านตัวเอง จนกระทั่งถึงการทำลายดีเอ็นเอ และเกิดมะเร็งในมนุษย์ที่มีปัจจัยโน้มน้าวอยู่แล้วด้วย 

          ทั้งนี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ เคยระบุอย่างชัดเจนมาก่อนว่ามีกลไกหลายอย่างที่เป็นไปได้ที่ DNA ที่ปะปนปนเปื้อนจะทำให้เกิดมะเร็ง รวมถึงการที่เข้าไปเสียบในดีเอ็นเอของมนุษย์และสั่งให้มีการสร้างยีนมะเร็ง (oncogenes) หรือมีการสอดใส่ ซึ่งทำให้มีการผันแปรทางรหัสพันธุกรรม (intentional mutagenesis) 

สรุปจำนวนวัคซีนโควิด
ที่ฉีดในประเทศไทย

          ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 - 10 มีนาคม 2566 มีการใช้วัคซีนโควิดทั้ง 5 ชนิด ตามจำนวนดังนี้

  • อันดับ 1 วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 48,867,210 โดส 

  • อันดับ 2 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 48,718,241 โดส

  • อันดับ 3 วัคซีนซิโนแวค จำนวน 26,547,240 โดส 

  • อันดับ 4 วัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 14,946,902 โดส

  • อันดับ 5 วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 7,678,963 โดส

          อย่างไรก็ตาม นอกจากวัคซีนโควิด 5 ยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ยังมีวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ เช่น วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ของสหรัฐอเมริกา, วัคซีนโควิด Bharat Biotech ของประเทศอินเดีย, วัคซีนโควิด Novavax ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ แต่ทั้งหมดไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย

          ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการผลิตวัคซีนขึ้นมาเองเช่นกัน อาทิ วัคซีนใบยา Baiya SARS-CoV-2 Vax ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม HXP-GPOVAC ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ

วิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนโควิด

          สำหรับคนที่จำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 ชื่ออะไร ยี่ห้อไหน แล้วอยากทราบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน หมอพร้อม หรือที่ LINE OA หมอพร้อม โดยทำตามขั้นตอนนี้

  • เพิ่มเพื่อนที่ LINE OA หมอพร้อม (คลิก)

  • เลือกบัญชีผู้ใช้งานและบริการอื่น ๆ

หมอพร้อม เช็กประวัติฉีดวัคซีนโควิด

  • กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อลงทะเบียนตามขั้นตอน

  • เลือกใบรับรองโควิด 19

หมอพร้อม ใบรับรองโควิด 19

  • จากนั้นจะปรากฏข้อมูลใบรับรองการฉีดวัคซีน ผลตรวจโควิด และประวัติการรักษา ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเราฉีดวัคซีนไปกี่เข็ม ยี่ห้ออะไร วันที่เท่าไร ณ สถานพยาบาลแห่งใด
หมอพร้อม เช็กประวัติฉีดวัคซีนโควิด

หมายเหตุ : วัคซีน COMIRNATY คือ วัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่ของปี 2023 ที่เข้ารหัสโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.5

 
           อย่างที่บอกไปว่า โควิด 19 ยังคงอยู่รอบตัวเรา และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ทุกเมื่อที่เราประมาท ขาดการป้องกันตัว ดังนั้น เพื่อไม่ให้ป่วยโควิดซ้ำ อันจะนำไปสู่ภาวะลองโควิดที่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เราก็ยังจำเป็นต้องรักษาความสะอาด ล้างมือเป็นประจำ และหากเป็นไปได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนโควิด 19 มียี่ห้ออะไรบ้างที่ใช้ในไทย พร้อมวิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:46:00 32,939 อ่าน
TOP
x close