โควิด XBB.1.16 อาการเป็นอย่างไร ใช่สายพันธุ์ใหม่จริงไหม ทำไมทั่วโลกถึงจับตา !

          โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 กำลังเป็นที่จับตาทั่วโลก เพราะแพร่เชื้อไว ติดต่อง่าย แต่จะอันตรายกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่นไหม มาศึกษากัน
โควิด XBB.1.16

          โควิด 19 ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา เพราะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่คาดกันว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งในประเทศไทยก็พบผู้ป่วยโควิด XBB.1.16 แล้ว

          ว่าแต่…XBB.1.16 เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่จริงไหม มีอาการอะไรบ้างที่สังเกตเห็นได้ แล้วอันตรายมาก-น้อยแค่ไหน มาศึกษาข้อมูลให้เข้าใจกันก่อนตื่นตระหนก

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 คืออะไร

โควิด XBB.1.16

          โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือมีชื่อเรียกว่า อาร์คทูรัส (Arcturus) จริง ๆ แล้วไม่ใช่โควิดสายพันธุ์ใหม่ซะทีเดียว เพราะ XBB1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ BA.2.10.1 และ BA.2.75

          โดยสายพันธุ์ XBB.1.16 พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 ก่อนจะเริ่มระบาด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้โควิด  XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (Variant Under Monitoring) ก่อนที่ในวันที่ 17 เมษายน 2566 องค์การอนามัยโลกจะได้ยกระดับให้ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI) เนื่องจากพบว่า XBB.1.16 มีคุณสมบัติบางอย่างเหนือโควิด 19 สายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ

          ปัจจุบันโควิด XBB.1.16 แพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยที่เริ่มพบผู้ป่วยบ้างแล้ว

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16
อาการเป็นอย่างไร

อาการโควิดสายพันธุ์ใหม่

          อาการที่พบได้ทั่วไปมีความคล้ายคลึงกับโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นคัน

          แต่ที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ก็คือ พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้มีอาการคล้ายตาแดง คันตา ระคายเคืองตา ขี้ตาเหนียว เปลือกตาลืมไม่ขึ้น หรือบางคนก็มีอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่งผลให้มีเลือดกำเดาออกจากจมูกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ยืนยันอย่างชัดเจนว่า โควิด XBB.1.16 มีส่วนทำให้ตาแดงได้จริงหรือไม่ เนื่องจากอาการตาแดงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ไอ-จามมาก ๆ จนเส้นเลือดฝอยในตาแตก เป็นต้น จึงต้องรอการศึกษาที่แน่ชัดต่อไป

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16
อันตรายหรือไม่

โควิดสายพันธุ์ใหม่

          เกี่ยวกับประเด็นนี้ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดไปทั่วโลกต่อจาก XBB.1.5 โดยยกข้อมูลการศึกษาของ Weiland J ที่พบว่า XBB.1.16 มีอัตราการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้สูงกว่าโอมิครอน สายพันธุ์ BA2.75, BA.5, XBB.1

          สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า XBB.1.16 มีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 อย่างชัดเจน แต่มีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอ ๆ กัน ดังนั้นจึงคาดว่าสมรรถนะการแพร่ที่สูงขึ้นของ XBB.1.16 อาจมาจากการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์ก่อนหน้า โดย XBB.x ถือเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก อีกทั้งยังดื้อต่อแอนติบอดีที่ใช้รักษาด้วย

          เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่า โควิด XBB.1.16 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 ราว 1.17-1.27 เท่า และยังมีฤทธิ์ต้านทานแอนติบอดีโควิด 19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น โควิด XBB.1.16 จึงมีศักยภาพที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในอนาคตอันใกล้

          ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โควิด XBB.1.16 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้งสามารถจับกับเซลล์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อย่างเช่นจับกับเซลล์เยื่อบุตา เป็นต้น

          ทั้งนี้ แม้โควิด XBB.1.16 จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและติดเชื้อได้ง่าย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานบ่งชี้ว่าผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโควิดสายพันธุ์เดิมแต่อย่างใด 

XBB.1.5 ต่างกับ XBB.1.16 อย่างไร

          สายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันคือโควิดโอมิครอน XBB.1.5 แต่ในอนาคตสายพันธุ์ XBB.1.16 อาจมาแทนที่ ทางกรมวิทยาศาสตร์ จึงได้สรุปความเหมือนและข้อแตกต่างของทั้ง 2 สายพันธุ์ไว้ดังนี้
โควิดสายพันธุ์ใหม่

ภาพจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16
รักษาอย่างไร

          โควิด XBB.1.16 ก็คือสายพันธุ์โอมิครอนตัวหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานยาเพื่อรักษาตามอาการทั่วไป

          ทว่าหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย อาทิ ยาแพกซ์โลวิด ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดอักเสบ จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยได้รับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ฉีดวัคซีนโควิดป้องกันสายพันธุ์ XBB ได้หรือไม่

          นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า สายพันธุ์ XBB ทุกตัวสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ สำหรับวัคซีนที่ใช้นั้นทุกตัวไม่แตกต่างกัน สามารถใช้ลดความรุนแรงของโรค ส่วนภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะใช้ไม่ได้ผลกับโควิดกลุ่มสายพันธุ์ XBB

          ทั้งนี้ นพ.ยง ได้แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง 607 ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วมากกว่า 6 เดือน ฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนสตรีตั้งครรภ์ให้พิจารณากระตุ้นตามความเหมาะสม ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ 

          ด้าน พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า วัคซีนรุ่นใหม่ดีกว่ารุ่นเก่าประมาณ 30% แต่ใช้ได้ดีทั้งคู่ ภาพรวมในการป้องกันโรคไม่ต่างกันไม่ว่าจะรุ่นไหน เพราะภูมิคุ้มกันจะตกลงตามกาลเวลา โดยวัคซีนรุ่นใหม่ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ประมาณ 60-80% โดยเฉพาะเมื่อฉีดมาแล้วหลายเข็ม และจะป้องกันได้ดีในช่วง 3-4 เดือนหลังฉีด ซึ่งแม้จะป้องกันได้ไม่ 100% แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับกลุ่มเสี่ยง 608

          ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ตอนนี้ยังใช้ได้ผลอยู่บ้าง แต่ในอนาคตถ้าสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่เกือบหมด จะใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปไม่ได้ผล

สถานการณ์โควิดในประเทศไทย

โควิด 19

ภาพจาก : 1000 Words/Shutterstock.com

          สำหรับในประเทศไทย ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดขณะนี้ยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5 มากที่สุด รองลงมาคือ XBB.1.9.1 ในขณะที่สายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกันทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่า XBB.1.16 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ

          ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่า โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (Relative Growth Advantage) เหนือกว่า BN.1.3 ประมาณ 148% และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 90% โดยคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ BN1.3 และ XBB.1.5 ในประเทศไทยได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้

          จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน (เดือนเมษายน 2566) เราอาจจะยังไม่ต้องวิตกกังวลกับโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 มากนัก แต่ก็อย่าปล่อยปละละเลยจนเกินไป เพราะโควิด 19 ยังไม่หายไปไหน โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยรุ่นใหม่ ๆ ยิ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น

          ด้วยเหตุนี้ทุกคนยังจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประจำปี และหากมีอาการเจ็บป่วยต้องสงสัย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปคลุกคลีกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และรีบตรวจ ATK เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปติดต่อยังคนใกล้ตัว

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โควิด XBB.1.16 อาการเป็นอย่างไร ใช่สายพันธุ์ใหม่จริงไหม ทำไมทั่วโลกถึงจับตา ! อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2566 เวลา 11:41:56 61,490 อ่าน
TOP
x close